สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากพิจารณาจากอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น จะเห็นได้ว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวดีขึ้นมากตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นเดือนแรกจากที่มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 แม้ว่าในเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีการผลิตหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.44เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนมีการขยายตัวถึงร้อยละ 7.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงมากในเดือนกันยายน และตุลาคม 2552 โดยหดตัวร้อยละ 5.69 และ 1.51 ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 14.17 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อพิจารณาตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนกันยายนเทียบกับเดือนก่อนหน้า คือ เดือนสิงหาคม 2552ขยายตัวถึงร้อยละ 9.95 ขณะที่เดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับหดตัวร้อยละ 3.21 และเดือนพฤศจิกายนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งจากตัวเลขการขยายตัวของดัชนีผลผลิตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนแสดงให้เห็นว่า สัญญาณการฟื้นตัวของการผลิตยังไม่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของเดือนกันยายนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่อยู่ที่ร้อยละ 60.04 60.86 และ 60.28 ตามลำดับ ประกอบกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2552 ที่ร้อยละ 16.33 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงมาก แต่ในเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน การส่งออกหดตัวร้อยละ 3.52 และ 7.65 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แสดงให้เห็นว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมทั้งการผลิต และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมานั้น มีลักษณะการฟื้นตัวที่ยังไม่มีเสถียรภาพนัก โดยสาเหตุหนึ่งป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ยังไม่ฟื้นตัวดี เนื่องจากตัวเลขอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงสูงอยู่ที่ร้อยละ 9.50 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2553 จะสูงถึงร้อยละ 11.70 ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 10.00 ในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งอัตราการว่างงานที่สูงนี้ส่งผลให้ความต้องการของตลาดในประเทศเหล่านั้นยังต่ำกว่าระดับปกติที่ควรเป็นมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยรวมถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมานั้น ยังอยู่ในระยะต้นและยังมีความเปราะบางจากปัจจัยภายนอกตามที่กล่าวมา ปัจจัยภายในประเทศ เช่น ตลาดหรือความต้องการภายในประเทศจึงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=4284