จากเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองที่เริ่มต้นตึงเครียดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2552 ที่มีการชุมนุมปิดกั้นการจราจรหลายจุดในกรุงเทพมหานคร และลุกลามบานปลายจนนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นจลาจลในช่วงระหว่างวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ แม้ว่าในขณะนี้เหตุการณ์ความวุ่นวายและการชุมนุมได้ยุติลงแล้ว แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่หมดไปและยังหาทางออกไม่ได้นี้ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำการประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจรวมของประเทศและโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ปี 2552 มีความคาดหวังอย่างมากกับการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนจากภาครัฐที่จะชดเชยการผลิตที่ลดหายไป จากการลดลงเป็นอย่างมากของตลาดส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภค จะได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อมั่นที่ลดต่ำลง และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันออกมาถูกลบล้างไป จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในส่วนการลงทุนภาคเอกชน ธุรกิจจะชะลอการลงทุนออกไปอีกจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจฯและจากความไม่เชื่อมั่นที่ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ส่งผลในทางลบโดยตรงต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหลักทรัพย์ของไทย มีผลต่อเนื่องไปสู่ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยขณะที่การลงทุนของภาครัฐอาจมีความคืบหน้าล่าช้าออกไปเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเป็นปกติ สำหรับภาคท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวที่วางแผนจะเดินทางเข้ามาในประเทศยกเลิกการเดินทางในทันที กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทำให้สูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ซบเซาอยู่แล้ว และหากยังคงมีการใช้พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ
สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ธุรกิจจะชะลอการลงทุนออกไปอีกจากความไม่เชื่อมั่น ประกอบกับการลดลงของการผลิตและตามด้วยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้กำลังซื้อในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันออกมาอาจไม่เพิ่มอย่างที่คาดเอาไว้ จากรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ลดหายไปจากผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบและจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทางอ้อม กล่าวคือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศมีการซื้อสินค้ากลับไป อาทิ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี อาหาร ทำให้สินค้าเหล่านี้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จากปัจจัยเหล่านี้ สศอ.คาดว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม (GDP ภาคอุตสาหกรรม)ใน 3 ไตรมาสแรกของปี2552 นี้ คงจะหดตัวแน่นอน สำหรับในไตรมาสสุดท้ายขึ้นอยู่กับปัจจัยความสงบในประเทศ และทั้งปี คาดว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2552 จะหดตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ -5.0 ในส่วนของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ในช่วง 3ไตรมาสแรกปีนี้ก็คงจะหดตัวเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 1 จะหดตัวมากกว่าร้อยละ -20 แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นี้คาดว่าน่าจะกลับมามีการขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลายประเทศเริ่มที่จะกลับมาตั้งตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ส่งผลบวกต่อการขยายตัวการส่งออกของไทย
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=4417