อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม รัฐและเอกชน EU ตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม


901 ผู้ชม


รัฐและเอกชน EU ตื่นตัวกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม

คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้รายงานความเคลื่อนไหวของยุโรปทั้งในระดับภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Demand)

EU ได้จัดทำรายงานข้อสรุปท่าทีสำหรับการเจรจาทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลังปี 2555 ในการประชุม UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) ที่จะมีขึ้นที่กรุงโคเปนฮาเกนในเดือนธันวาคม ศกนี้ โดยในภาพรวมเน้นเรื่องการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศกำลังพัฒนาลงร้อยละ 15-30 จากระดับปัจจุบัน และกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ช่องทางการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาขีดความสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา และการสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลก แต่ยังไม่มีการระบุว่า EU พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยเหลือด้านการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวแก่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนเงินเท่าใด นอกจากนี้ จะพยายามจำกัดการใช้ประโยชน์จากกลไกการพัฒนาที่สะอาดจากเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอีกด้วย

ในส่วนของภาคเอกชน บริษัทค้าปลีกในยุโรป 20 แห่งและองค์กรด้านธุรกิจค้าปลีก อีก 4 แห่ง เช่น คาร์ฟูร์ เทสโก มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ เป็นต้นได้ตื่นตัวให้การสนับสนุนนโยบายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production – SCP) เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมของ EU ด้วยการจัดตั้งเวทีหารือ และออกแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ค้าปลีก (Retailers’ Environmental Action Plan - REAP) ประกาศส่งเสริมให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมของห้างร้านที่เข้าร่วม สินค้าที่ระบุไว้ในแผนสนับสนุนให้ผู้บริโภคหาซื้อ ได้แก่ สินค้าอาหาร เกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ บริษัทบางแห่งยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ NGOs อย่าง World Wide Fund (WWF) โดยเห็นเป็นโอกาสในการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่ win-win situation สำหรับทุกฝ่าย ซึ่ง EU ก็สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว

ในปัจจุบัน ยุโรปกำลังตื่นตัวกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Demand) ดังนั้น ผู้ผลิตที่เป็น suppliers ในห่วงโซ่อุปทานอาจต้องเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลการผลิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับส่งให้บริษัทแม่ในยุโรปเพื่อส่งมอบให้องค์กรกลางตรวจสอบต่อไป ในส่วนของผู้ผลิตสินค้าเข้าตลาดยุโรปโดยตรง สินค้าที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสิ่งแวดล้อม (Eco labels) จะเป็นที่ดึงดูดใจมากขึ้นในสายตาของร้านค้าปลีกในยุโรป

 ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=4548

อัพเดทล่าสุด