อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อ
การส่งออก สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ประมาณ 348,000.- ล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่ก่อมลภาวะ ลักษณะสินค้ามีความละเอียด อ่อนช้อย เหมาะกับนิสัย
คนไทยทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และที่สำคัญประการหนึ่ง
คือ แรงงานที่เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้จะถูกฝึกฝนให้เป็นแรงงานฝีมือ ในปัจจุบันนี้ช่างฝีมือในสาขาอัญมณี
และเครื่องประดับของไทยได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว เห็นได้ชัดจากช่างของไทยที่ไปแข่งขันในระดับฝีมือโอลิมปิก และได้รับรางวัลกลับมาอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ ปี
การส่งออก
ในปี 2552 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 348,000 ล้านบาท ส่วนการนำเข้ามีประมาณ 220,946 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. อุตสาหกรรมอัญมณี (Gem)
1.1 พลอย เป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ของวงการมีการใช้เทคโนโลยีแบบพื้นบ้าน มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 13,962 ล้านบาท อุตสาหกรรมนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นแหล่งเจียรไนพลอยที่ดีที่สุด
1.2 เพชร เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของประเทศ ประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา
เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เครื่องมือ เครื่องจักรและเทคโนโลยีส่วนใหญ่มักนำเข้าจากต่างประเทศ
แต่มีการพัฒนาฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยด้วยการเจียระไนแบบ Bangkok cut ในปี 2552 มียอดการส่งออก 34,975.05 ล้านบาท และนำเข้า 26,762.0 ล้านบาท
1.3 ไข่มุก เป็นอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายค่อนข้างน้อย
และปริมาณการส่งออกลดลงทุกปี โดยในปี 2552 มียอดการส่งออก 457 ล้านบาท และนำเข้า 511.5
ล้านบาท
2. อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (Jewelry)
เป็นอุตสาหกรรมขั้นสุดท้ายของอุตสาหกรรมนี้ เป็นการผลิตตัวเรือนเครื่องประดับ
ขึ้นจากโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองคำขาว และนำอัญมณีชนิดต่าง ๆ ที่ได้จากการเจียระไน
มาประกอบเป็นเครื่องประดับสำเร็จรูปออกจำหน่าย ซึ่งอุตสาหกรรมนี้จะมีรูปแบบสินค้ามากมาย เช่น เครื่องประดับทองคำ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับจากโลหะอื่น ๆ
2.1 เครื่องประดับเทียม (Custom Jewelry) ในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 6,955.20 ล้านบาท และนำเข้า 729.96 ล้านบาท โดยมีโครงสร้างการผลิตคล้ายคลึงกับการผลิตเครื่องประดับแท้ เพียงแต่ใช้วัตถุดิบที่ไม่มีค่ามากเท่านั้น เช่น ใช้ทองเหลือง ดีบุก เป็นตัวเรือนเครื่องประดับ จากนั้นนำไปชุบเคลือบผิวเป็นทองคำ เงิน หรือทองคำขาว แล้วแต่ความต้องการของตลาด อัญมณีที่ใช้เป็น เพชร พลอยสังเคราะห์ ลักษณะพิเศษของอุตสาหกรรมนี้ คือ รูปแบบของสินค้าจะมีความหลากหลายมาก
2.2 เครื่องประดับแท้
(1) เครื่องประดับทองคำ มีลักษณะการผลิตคล้ายกับการทำเครื่องประดับทั่วไป
แต่ไม่มีการนำเพชร พลอย มาประดับ จะมีแต่โลหะทองคำเป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับเท่านั้น
เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการค้าในตลาดโลกประมาณ 500,000 ล้านบาท มีประเทศอิตาลี ครองดันดับ 1
ในการส่งออก มาเป็นระยะเวลานาน โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 100,000 ล้านบาท ประเทศไทยมีการผลิตเครื่องประดับทองคำมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศอย่างชัดเจน การผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
(ก) กลุ่มเครื่องประดับของคนจีน เป็นอุตสาหกรรมที่มีมานาน มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นแบบที่ชาวจีนนำเข้ามาในประเทศไทย มีการจำหน่ายในร้านขายทองที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีมูลค่าการผลิต และการจำหน่ายสูงที่สุดในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ ไม่มีการส่งออกที่ชัดเจน มีบางส่วนที่ติดตัวนักท่องเที่ยวออกไป
(ข) กลุ่มเครื่องประดับทองคำโบราณ เป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งมาทำกันอย่างจริงจัง ประมาณเกือบ 20 ปีมานี้ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่สุโขทัย เพชรบุรี เป็นการนำเอารูปแบบของเครื่องประดับทองคำโบราณมาพัฒนาให้เหมาะสมกับตลาดปัจจุบัน เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยชัดเจน แต่มีราคาค่อนข้างแพง เพราะใช้ทองคำจำนวนมากในการผลิตแต่ละชิ้นงาน เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยในการผลิต การจำหน่ายอยู่ในประเทศเป็นหลัก และอยู่ในวงแคบ ๆ เท่านั้น
(ค) กลุ่มเครื่องประดับทองคำแฟชั่นสมัยใหม่ เป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น
ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันมีผู้ผลิตไม่เกิน 10 ราย ยังไม่มีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศอย่างจริงจัง และยังต้องมีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) เครื่องประดับเงิน ในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 30,204.57 ล้านบาท และนำเข้า 16,435.32 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุดิบ ซึ่งเกิดจากฝีมือคนไทยทั้งด้านการออกแบบ การวางตำแหน่งเป็นงานสร้างสรรค์ (Creative work) และการเลือกวัสดุ ทำให้เป็นงานฝีมือของคนไทยทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและการจ้างงาน
(3) เครื่องประดับจากโลหะมีค่าอื่น ๆ เช่น พลาตินัมในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 4,781.04 ล้านบาท และนำเข้า 2,253.9 ล้านบาท การผลิตและการจำหน่ายยังอยู่ในวงจำกัด
ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
(4) ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 213,703.05 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด และขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 91.38 เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับสำเร็จรูปอีกขั้นตอนหนึ่ง
(5) โลหะมีค่า และของที่หุ้มห่อด้วยโลหะมีค่า ในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 3,743.85 ล้านบาท และนำเข้า 2,256.87 ล้านบาท
การตลาด
ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย
ศักยภาพ และแนวทางการพัฒนา
จากอุตสาหกรรมกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทยมีความหลากหลายในสินค้าที่ผลิต ครอบคลุมกลุ่มสินค้าต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมนี้เกือบทั้งหมด เพียงแต่สินค้าบางประเภทยังไม่มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้เท่านั้น ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตจนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งหนึ่งของโลก จึงยังมีลู่ทางจะดำเนินการได้ เพราะมูลค่าการส่งออกของไทยมีปีละประมาณ 350,000 ล้านบาท เท่านั้น และนับเป็นอันดับ 3 ของสินค้าส่งออกในหมวดอุตสาหกรรม และมีมูลค่าเพียงร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับของตลาดโลก
ที่มีมูลค่ามากกว่า 7,000,000 ล้านบาท โดยมีอิตาลีเป็นผู้นำด้านการตลาดของอุตสาหกรรมนี้ คือ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 30% ของตลาดโลก ดังนั้นจึงยังมีลู่ทางการตลาดอีกมากที่ไทยจะขยายมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ให้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าของไทย พบว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะเพิ่มคุณภาพสินค้า คือ การปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต คุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้นย่อมทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามมา ปัจจุบันยังมี SMEs รวมถึงผู้รับจ้างผลิตและประกอบ (Sub-contract) จำนวนมาก ซึ่งยังใช้การผลิตแบบดั้งเดิม การพัฒนาทางเทคโนโลยีมีน้อย ยกเว้นโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งที่มีการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิต แต่ก็ประสบปัญหาการใช้งาน การบำรุงรักษาทำให้เครื่องจักรที่นำเข้ามายังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้การพัฒนารูปแบบของสินค้าที่มีความเป็นสากล ตรงกับความต้องการของลูกค้าก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขยายตลาดของไทยมีโอกาสมากขึ้น
ความสำคัญที่จะ ต้องปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทย
1) การที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าต่าง ๆ ของโลก เช่น WTO, APEC,AFTA หรือความตกลงภายใต้กรอบการค้าเสรี (FTA) กรอบต่าง ๆ ซึ่งองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้สมาชิกดำเนินนโยบายการค้าเสรี ซึ่งหมายถึงว่าจะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง
ในตลาดการค้าโลก และประเทศสมาชิก ซึ่งมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมที่อ่อนแอของบางประเทศ
จะประสบปัญหาในการแข่งขันมากขึ้น และในที่สุดมีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมที่อ่อนแอของประเทศหนึ่งจะต้องย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ
2) ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทย มีเป้าหมายที่
จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายของโลกในปี 2557 ซึ่งได้มีการวางยุทธศาสตร์
ในการพัฒนา แหล่งวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมต้นน้ำ การพัฒนากระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนากำลังคน เครือข่ายการศึกษา และสถาบันเฉพาะทาง การรักษามาตรฐาน และภาพลักษณ์ การส่งเสริมการตลาดภายในและตลาดส่งออก ตลอดจนการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม เป็นต้น
3) การตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตและการจำหน่าย สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 350,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าการค้าอัญมณี และเครื่องประดับในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกได้อีกจำนวนมาก ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตโดยตรงย่อมไม่สามารถ
ทำได้ เนื่องจากต้องใช้ทุน และเวลาจำนวนมากในการเพิ่มเครื่องจักร แรงงาน วัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้ทุนจำนวนมาก แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ผลตอบแทนอย่างมาก คือ การปรับปรุงเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของสินค้าให้มีมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
4) อุตสาหกรรมเครื่องประดับทองคำของไทย ยังมีมูลค่าการส่งออกไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าในตลาดโลกที่มีมากกว่า 800,000 ล้านบาท ในขณะที่อิตาลีซึ่งเป็นผู้นำแฟชั่นเครื่องประดับทองคำมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 250,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการ
พัฒนาเครื่องประดับทองคำของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นอกเหนือจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งระยะแรกคาดว่าจะสามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่าการส่งออกของไทย หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี ในการผลิตเครื่องประดับทองคำให้มีมาตรฐานและมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุง และพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย
5) ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของไทยยังคงอยู่ในตลาดระดับกลางและล่าง ส่งผลให้มีประเทศคู่แข่งที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนี้ ซึ่งมีประมาณ 20 ประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม จีน สามารถผลิตสินค้าเข้ามาแข่งขันกับไทยได้ง่าย โดยอาศัยปัจจัย
ค่าแรงต่ำกว่า และปัญหาที่ส่งผลกระทบสำคัญ คือ ระดับเทคโนโลยีการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสินค้าในตลาดโลก ซึ่งขีดจำกัดนี้ได้ส่งผลให้รูปแบบสินค้าของไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ด้วย
การวางกลยุทธ์ในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต
1. การรักษาตลาดเดิม ปัจจุบันโครงสร้างสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับไทยที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศจำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ เพชร 40% พลอย 20% เครื่องประดับ 40% ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5 ของส่วนแบ่งในตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 20 ประเทศกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของตนให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็น
อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานฝีมือเป็นหลักในการผลิต ไม่ต้องลงทุนด้านเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีมากนัก แต่มีตลาดการค้าขนาดใหญ่ ทำให้คาดหมายได้ว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แนวทางที่จะรักษาตลาดเดิมไว้ได้ คือ การพัฒนาคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยให้มีคุณภาพและรูปแบบที่ดีขึ้นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพ
2. การขยายฐานด้วยการเปิดตลาดสินค้าใหม่ ๆ เช่นสินค้าเครื่องประดับทองคำที่ไทยผลิตมานาน แต่รูปแบบสินค้ายังไม่เป็นสากล เทคโนโลยีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม ตลาดการค้าส่วนใหญ่
จึงอยู่ในประเทศเป็นหลัก เมื่อพิจารณามูลค่าสินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่าประมาณ 7,000,000 ล้านบาท ต่อปี ปัจจุบันมีอิตาลีเป็นผู้นำด้านตลาด ซึ่งใช้ทองคำในการผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ตัน แนวทางการพัฒนา
จึงควรเน้นไปพร้อม ๆ กัน ทั้งด้านการพัฒนารูปแบบ และเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย เพื่อมิให้เกิดขีดจำกัดในการผลิต เช่น รูปแบบสินค้า คุณภาพสินค้า และการรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำสุด รวมทั้งลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตให้น้อยลงอีกด้วย โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มตลาดใหม่ ๆ เป็นหลัก
3. การบูรณาการองค์กร/ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัญมณี เพื่อให้มีองค์กรหลักในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตครบวงจร ตลอดจนพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักร การพัฒนาต้นแบบ วัสดุการผลิต ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านเทคโนโลยีการผลิตทุกระดับ
ความคาดหวังของการดำเนินตามกลยุทธ์
1. กระตุ้นให้ผู้ประกอบการอัญมณี และเครื่องประดับของไทยดำเนินการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของตนให้สูงขึ้น
2. ช่างเทคนิคของไทยได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ฝีมือในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคพิเศษในการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น
3. เครื่องประดับทองคำได้รับการพัฒนาจากการยกระดับเทคโนโลยีให้มีคุณภาพสูงขึ้น สามารถส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมีมูลค่ามากขึ้น
4. สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น จนสามารถนำไปผลิตงานที่มีรูปแบบซับซ้อนมาก ๆ ได้
5. ภาคการศึกษา การวิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีการกำหนดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ SMEs โดยการจัดตั้งโรงงานตัวอย่างที่มีมาตรฐาน มีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรที่เหมาะสมและก้าวหน้าตั้งแต่ขั้น Basic Metal และ Basic Costing การ Upgrade Technology ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ให้เจริญรุดหน้าในอนาคต
6. มีการพัฒนาบุคลากรทั้งในสถานศึกษาและในสถานประกอบการ โดยจัดหลักสูตรการพัฒนาที่เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนอุปกรณ์ Hardware ที่ดี ทันสมัย รองรับการขยายตัวของ Data Base ในอนาคตได้เป็นอย่างดี รองรับการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ โดยอาศัยระบบอิเลคทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบ Intranet และ Intranet ของฐานข้อมูล
7. การพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มคุณภาพของสินค้า ลดขั้นตอนการผลิต ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตโดยตรง สามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตเครื่องจักรได้เองในประเทศ
8. การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการพัฒนาอค์ความรู้ของผู้ประกอบการมากขึ้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 10%
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=4793