อุตสาหกรรม การผลิต สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) และ สิ่งทอบรรจุภัณฑ์ (Packtech)


1,320 ผู้ชม


สถานการณ์ และแนวโน้มสิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) & สิ่งทอบรรจุภัณฑ์ (Packtech)

อานนท์ เศรษฐเกรียงไกร

สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2

ความหมายของสิ่งทอเทคนิค (Technical Textile)

สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอสมัยใหม่ที่เติบโต
และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทออื่น ๆ ในตลาดโลก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยเป็นทั้งวัตถุดิบตั้งแต่ขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีการนำสิ่งทอเทคนิคไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย และหลากหลาย ทั้งที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัน เช่น ผ้าอ้อมเด็ก แผ่นพลาสเตอร์ยา ผ้าก๊อสปิดหรือตกแต่งบาดแผล ด้ายเย็บแผล เอ็นเทียม กระจกตาเทียม ผ้าเช็ดทำความสะอาดครัวเรือน (Wipe) ผ้าเต๊นท์ ถุงนอน ถุงยังชีพ บอลลูน และหญ้าเทียม หรือที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน และในอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งอาจมองไม่เห็นจากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เส้นด้ายในยางรถยนต์ ส่วนประกอบในอุปกรณ์กีฬา เช่น แผ่นเคลือบหนังเทียมลูกฟุตบอล กรอบแร็กเก็ต กระดานโต้คลื่น แผ่นควบคุมการพังทลายของดิน หรือเสริมแรงดิน เป็นต้น จะเห็นว่าสิ่งทอเทคนิคมีความหลากหลาย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสิ่งทอทั่วไป (Conventional Textile)

          ดังนั้น ความหมายของสิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) คือ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้มีคุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์ทางเทคนิคมากกว่าคุณลักษณะด้านความสวยงาม หรือการประดับตกแต่ง หรือใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะด้านมากกว่าใช้ผลิตเครื่องนุ่งห่มทั่วไป โดยทั่วไปสิ่งทอเทคนิคแบ่งเป็น 12 ประเภทตามการใช้ประโยชน์ หรือลักษณะการใช้งาน ดังนี้

  • สิ่งทอทางการเกษตร (Agrotech)

สิ่งทอสำหรับการทำพืชไร่ และการประมง เช่น ผ้าคลุมดิน ตาข่ายการประมง เป็นต้น

  • สิ่งทอทางการก่อสร้าง (Buildtech)

สิ่งทอสำหรับอาคารและโครงสร้างเบา เช่น เส้นใยเสริมแรงคอนกรีต และฉนวนอาคาร เป็นต้น

  • สิ่งทอทางโยธา (Geotech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ทางด้านธรณีและวัสดุทางด้านวิศกรรมโยธา เช่น ผ้าสำหรับเสริมแรงดัน เป็นต้น

  • สิ่งทอทางอุตสาหกรรม (Indutech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ผ้ากรอง สายพานลำเลียง

  • สิ่งทอทางการแพทย์ (Medtech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น ผ้าพันแผล ด้ายเย็บแผล เป็นต้น

  • สิ่งทอในยานยนต์ (Mobiltech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้กับยานยนต์และอากาศยาน เช่น ผ้าเบาะรถยนต์ เข็มขัดนิรภัย เป็นต้น

  • สิ่งทอทางการบรรจุ (Packtech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ เช่น ผ้าซับใน กระเป๋าเดินทาง ถุงไปรษณีย์ 
เป็นต้น

  • สิ่งทอทางป้องกัน (Protech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการป้องกัน เช่น เชือกทนไฟ ท่อกันเพลิง เป็นต้น

  • สิ่งทอทางกีฬา (Sporttech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการกีฬาและ นันทนาการ เช่น ผ้าร่มชูชีพ ผ้าสำหรับ

รองเท้ากีฬา เป็นต้น

  • สิ่งทอทางครัวเรือน (Hometech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องเรือน เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าใช้ในครัว

เป็นต้น

  • สิ่งทอทางสิ่งแวดล้อม (Oekotech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งทอประหยัดพลังงาน เป็นต้น

  • สิ่งทอทางเสื้อผ้า (Clothech)

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้กับเครื่องนุ่งห่ม เช่น พื้นในรองเท้า ด้ายเย็บ เป็นต้น

ระบบห่วงโซ่อุปทานของสิ่งทอเทคนิค

           จากการเติบโตที่รวดเร็วของสิ่งทอเทคนิค ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในด้านต่าง ๆ ตามมาทั้งด้านการผลิตและการตลาด ภาพรวมของสิ่งทอเทคนิคจึงเกี่ยวข้องกับบริษัท ผู้ผลิต ผู้วิจัย หน่วยงาน/สถาบันทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ให้การสนับสนุน และกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ หรือกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบ (Raw Material Suppliers) เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลุ่มผู้ผลิตเส้นใย ทั้งเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยประดิษฐ์

กลุ่มอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น กลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิค ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย (Intermediate goods Suppliers) และกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นกลุ่มผู้ผลิต/แปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป หรือ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (Dawnstream Suppliers) ซึ่งมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย ดังกล่าวมาแล้วในการจัดกลุ่มประเภทสิ่งทอเทคนิค

           สถานการณ์สิ่งทอเทคนิคในตลาดโลกมีสัดส่วนการบริโภคเส้นใย สิ่งทอเทคนิคเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ27-40 จากปี 2000-2007 ในขณะที่การบริโภคสิ่งทอทั่วไปลดลงจากร้อยละ 78 เหลือ ร้อยละ 65 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำผ้าไม่ทอของสิ่งทอเทคนิค

          มีแนวโน้มการบริโภคมากขึ้น ร้อยละ 39 ผ้าไม่ทอของสิ่งทอเทคนิคมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำของสิ่งทอเทคนิคในตลาดโลกมีมูลค่ามากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสิ่งทอเทคนิคที่มีความสำคัญ คือ สิ่งทอยานยนต์ (Mobiltech) สิ่งทอครัวเรือน (Hometech) สิ่งทอทางอุตสาหกรรม (Indutech) และสิ่งทอบรรจุภัณฑ์(Packtech)โดยมีสัดส่วนร้อยละ 24.0, 21.6, 16.0 และ 15.0 ตามลำดับ

สถานการณ์สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech)

          ความหมายของสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) เป็นสิ่งทอเทคนิคที่ใช้ประโยชน์ในการบรรจุสินค้าทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าทางการเกษตร และสินค้าอื่น ๆ เพื่อป้องกันตัวสินค้าจากความเสียหายต่าง ๆ และเพื่อสะดวกในการขนส่ง รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) มีบทบาทกับอุตสาหกรรมอื่นในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้รับผิดชอบในการขนส่งลำเลียง และผู้บริโภคสินค้า

สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) สามารถแบ่งออกได้เป็น กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1) บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ (Bulk Packaging) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนขนาดใหญ่ (Flexible Intermediate Bulk Containers : FIBCs) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ Big Bags ใช้บรรจุของแข็ง

หรือของเหลว ถุงใส่เสื้อผ้าส่งซัก (Laundry Bags) กระสอบ (Sack) และ สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่

2) บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Disposable) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงชา (Teabags) แผ่นรองอาหาร(Food-Soaker Pads) ซองจดหมายชนิดพิเศษ (Performance Envelopes) และตาข่ายบรรจุสิ่งของ (Packaging Nets) เป็นต้น

3) เชือกสำหรับผูกผลิตภัณฑ์ (Tying) เช่น เชือก Twine และสายที่ใช้ผูกรัดสิ่งของต่าง ๆ (String) เพื่อการบรรจุ เป็นต้น

ประโยชน์ของสิ่งทอบรรจุภัณฑ์

สิ่ทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) นั้นมีประโยชน์หลายประการ ดังนี้

1) เพิ่มมูลค่าของสินค้า

2) รักษาคุณภาพความสดใหม่ของสินค้า เป็นการป้องกันทั้งความร้อนและความเย็น

3) ป้องกันการปลอมแปลงสินค้า

4) อำนวยความสะดวกในการเก็บรักษา และการขนส่งสินค้า

5) สร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ของสินค้า (Brand and Product identity)

ระบบห่วงโซ่มูลค่าของสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์

1) อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใย ซึ่งเส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์เทคนิคสำหรับบรรจุภัณฑ์(Packtech) ประกอบด้วยกลุ่มเส้นใยหลัก กลุ่ม คือ กลุ่มเส้นใยธรรมชาติ เช่น ปอกระเจา เป็นต้น และกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ ประกอบด้วย โพลีเอทิลีน โพลีโพรพิลีน โพลิเอไมด์ ไนลอน เป็นต้น

2) อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตในกระบวนการแปรรูปเส้นใยเป็นผืนผ้าเพื่อผลิตเป็นสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) ต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้มีทั้งที่เป็นผ้าทอ (Woven Fabric) เช่น ผ้าทอจากเส้นใยโพลิโพพิลีน (Woven Polypropylene) กระสอบ (Sacks)

          และบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน ขนาดใหญ่ (Flexible Intermediate Bulk Containers : FIBCs) ผ้าไม่ทอ (Nonwoven Fabric) เช่น ถุงชาหรือถุงกาแฟ (Nonwoven for Tea and Coffee Bags) และฟิล์มห่ออาหารและสิ่งของต่าง ๆ (Food and Industrial Product Wrappings) และ ผ้าถัก (Knitted) เช่น

ตาข่ายถักสำหรับการบรรจุผลไม้ (Knitted Netting for Fruit) เป็นต้น

3) อุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นการผลิตขั้นสุดท้าย ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) ซึ่งสามารถแบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ ประเภทหลัก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ (Bulk Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Disposable)และเชือกสำหรับผูกผลิตภัณฑ์ (Tying) ดังกล่าวมาแล้ว

ปริมาณและมูลค่าของสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์

1) ปริมาณการผลิตสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech)

         การผลิตสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Pack tech) ของโลกโดยในปี 2007 สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Pack tech) มีสัดส่วนร้อยละ 15 และคาดว่าจะยังคงรักษาสัดส่วนที่ร้อยละ 15 ในปี 2010 ในขณะที่ขนาดตลาดใหญ่ขึ้น

        ปี 2000 โลกมีปริมาณการผลิตสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) อยู่ที่ 2.55

          ล้านตัน (4,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มขึ้นเป็น 2.99 ล้านตันในปี 2005 (5,329 ล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ล้านตันในปี 2010 หรือคิดเป็นมูลค่า 6,630 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 เท่ากับมีอัตราการเติบโตในเชิงปริมาณ(ปี 2000 – 2010) ร้อยละ 3.52 และเท่ากับอัตราการเติบโตในเชิงมูลค่า (ปี 2000 – 2010) ร้อยละ 4.20

2) มูลค่าการบริโภคสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) ในประเทศไทย

          ในปี 2003 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าโพลีเอทิลีน (Polyethylenne หรือ PE) Sacks & bags มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มขึ้นเป็น 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2004 และ 132 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005 หรือคิดเป็นร้อยละ 10.57ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในปี 2005 และคิดเป็นอัตราการนำเข้าเติบโตถึงร้อยละ 55

สถานการณ์และแนวโน้มของสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech)

การเติบโตของตลาดสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) ถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านการบริโภคที่สำคัญหลายประการ อาทิ

1) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ทำให้มีความต้องการในสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงส่งผลให้ความต้องการสิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นไปด้วย

2) กระแสการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการ

ลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม

3) การเติบโตของตลาดค้าปลีกต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอุปโภคบริโภคสินค้าของผู้บริโภคมากขึ้น

4) ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร

ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์มาก ทำให้สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์มีโอกาสในการเติบโตในอนาคต

ปัญหาอุปสรรค

          จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ผู้ผลิตต้องหันมาแข่งขันกันในด้านการลดต้นทุน ซึ่งมักจะแปรผันกับการใช้วัตถุดิบที่รักษาสิ่งแวดล้อม หรือนำกลับมา

          ใช้ใหม่ได้ เนื่องจากต้นทุนสูงกว่าการผลิตสินค้าที่ไม่ต้องนำกลับมาใช้อีก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเพิ่มคุณภาพสินค้าด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบและลักษณะสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายในอนาคต

ข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาสิ่งทอบรรจุภัณฑ์ (Packtech)

1) การเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนร่วมของอุตสาหกรรม

(1) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของผู้มีส่วนร่วมหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรม ตลาดค้าปลีก ผู้บริโภค เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความเข้าใจ และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน

(2) สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายวิสาหกิจของผู้มีส่วนร่วม สำหรับความรู้ด้านเทคโนโลยี การพัฒนาสินค้า การพัฒนาตลาด

2) การพัฒนาองค์ความรู้แบบครบวงจร

(1) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างองค์ความรู้เชื่อมโยงของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด(Knowledge Sharing Network)

(2) การพัฒนาแหล่งข้อมูลพื้นฐาน พัฒนาฐานข้อมูล ข้อมูลเชิงลึกสำหรับสิ่งทอบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสร้างการเผยแพร่ให้กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

(3) การเผยแพร่ข้อมูลเชิงธุรกิจ และเชิงเทคนิคให้กับผู้มีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมโยงสินค้า และตลาดผ่านการฝึกอบรมเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล เป็นต้น

3) การพัฒนาเทคโนโลยี

(1) การส่งเสริมการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และผู้ประกอบการรายใหญ่

(2) การสร้างความร่วมมือ และเครือข่ายกับสถาบันทางด้านสิ่งทอเทคนิค และสิ่งทอบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบริษัทต่างชาติระดับสากลเพื่อการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี และการทดสอบที่เป็นสากล

4) การทดลอง วิจัย สินค้าแบบเชื่อมโยง และถ่ายทอดซึ่งกันและกัน

(1) ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา รวมถึงนวัตกรรมการมีส่วนร่วมผ่านความร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัย (สิ่งทอ และวิศวกรรมทางนวัตกรรมสวทช.

(2) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการพัฒนาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมโยง และถ่ายทอดซึ่งกันและกันกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (Integrated Expert Network)

มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทระดับชาติ และบริษัทข้ามชาติ

5) การรับรองสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล

(1) การยกระดับการพัฒนามาตรฐานการทดสอบสินค้าให้เป็นระดับสากล และครอบคลุมสินค้าที่หลากหลาย

(2) การส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันทดสอบสินค้าสากล

6) การพัฒนาทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

(1) การส่งเสริมการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการ

(2) การประสานงานระหว่างคณะทำงาน และสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย และสถาบันที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการ และผู้ซื้อในตลาดระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ

(3) การส่งเสริมการบริโภคสินค้า และการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการใช้สินค้า และกำหนดมาตรฐานสินค้า การสนับสนุนผ่านงานแสดงสินค้า และนิทรรศการจับคู่ทำธุรกิจ

การบูรณาการความร่วมมือแบบองค์รวม

          เพื่อสร้างมิติให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันการรวมตัวกันระหว่างองค์กรผู้มีส่วนร่วมในหลากหลายอุตสาหกรรมนั้น นับว่ายังลำบาก แต่หากการผลักดันมีเป้าหมายชัดเจนจะทำให้เกิดความร่วมมือแบบองค์รวมในรูปแบบคณะกรรมการกำหนดรูปแบบการเชื่อมโยง และกำหนดบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดัน และติดตามผลการพัฒนาด้านต่าง ๆ ระหว่างผู้มีส่วนร่วม หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอ ทั้ง สมาคม สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาคเอกชน

ที่เกี่ยวข้อง และภาคราชการคอยสนับสนุนด้านนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติที่ชัดเจนตามมา
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=5173

อัพเดทล่าสุด