การเกษตรทฤษฎีใหม่ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


1,324 ผู้ชม


มุสลิมไทยดอทคอม การเกษตรทฤษฎีใหม่ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
www.muslimthai.com

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหา จึงได้พระราชทาน "การเกษตรทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ ๑๕ ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ใว้ใช้จ่ายและมีอาหารใว้บริโภคตลอดปี (กรมวิชาการ, ๒๕๓๙: ๗๗) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการผลิตทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" (สำนักพระราชวัง, ๒๕๔๒: ๓๑)

“การเกษตรทฤษฎีใหม่” นี้ที่จริงพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำมานานแล้ว โดยให้เกษตรทำการปลูกพืชหมุนเวียน และ หรือปลูกพืชไว้ให้หลายหลากชนิด บนพื้นที่เดียวกันอย่างที่เรียกว่า ไร่นาผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหายเมื่อตลาดหรือสภาพแวดล้อมเกิดความแปรปรวน หรือวิกฤติ เรื่องนี้พระองค์ได้ทรงนำมาเน้นย้ำอีก เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเผ้าพระพรชัยมงคลในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา สาระเกี่ยวกับเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” มีเนื้อความดังต่อไปนี้
“การเกษตรทฤษฎีใหม่” นี้มิได้เป็นการแจกจ่ายที่ดิน เป็นที่ดินของประชาชนเอง เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี ที่ต้องพูดเพราะว่าแม้ได้พูดเรื่องที่เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้มาแล้ว แต่ว่าไม่ได้พูดอย่างชัดแจ้ง เรื่องนี้เริ่มที่สระบุรีเมื่อหลายปีแล้ว ก่อนหน้านั้นได้มีจินตนาการความคิดฝันไม่ได้ไปดูตำราไม่ได้ค้นตำรา แต่ค้นในความคิดฝันในจินตนาการ เรานึกถึงว่าจะต้องมีแห่งหนึ่งที่จะเข้ากับเรื่องของเรา
เรื่องของเราเกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งที่มีบรรพบุรุษมาจากอินเดีย ผ่านลังกาแล้วมายังเมืองไทยบรรพบุรุษเขาไปพระพุทธบาทสระบุรี พระเจ้าอยู่หัวในครั้งก่อนโน้น โปรดเสด็จไปสระบุรีกับเสนามาตย์เพื่อนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ใกล้อำเภอเมือง มีวัดแห่งหนึ่งชื่อว่า “วัดมงคล” เขาชอบเพราะคำว่า “มงคล” นั้นมันดี มันเป็นมงคล มันก้าวหน้า เขาผ่านมาและได้ไปดูวัดแห่งนั้นและได้บริจาคเงินให้กับวัดสำหรับสร้างอุโบสถ ปู่ของพระเอกก็ยังได้ให้เงินส่วนหนึ่งสำหรับสร้างฝายเพราะที่ตรงนั้นไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับทำนา นี่ก็ประมาณ 90 ปีมาแล้ว ลงท้ายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องในจินตนาการก็เป็นจริง
ได้ดูแผนที่สระบุรีทุกอำเภอ หาๆ ไปลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคลอยู่ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็เหมาะในการพัฒนา จึงไปซื้อที่ ซื้อด้วยเงินส่วนตัว และเพื่อนฝูงได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่ง ได้ซื้อ 15 ไร่ ที่ใกล้วัดมงคล หมู่บ้านวัดใหม่มงคล ได้ส่งคนไปพบชาวบ้าน เขาก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน ไปพบชาวบ้านสืบถามว่าที่นี่มีที่จะขายไหม เขาก็เชิญขึ้นไปบนบ้าน แล้วเขาก็บอกว่าตรงนี้มี 15 ไร่ที่เขาจะขาย ในที่สุดก็ซื้อก่อนตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาก็เป็นเวลาประมาณ 7 ปี ไปซื้อที่ตรงนั้นคนพวกนั้นก็งงกัน เขาเล่าให้ฟังว่ามีคนเขาฝันว่าพระเจ้าอยู่หัวมาแล้วก็มาช่วยเขา เขาก็ไม่ทราบว่าคนที่มานี่เป็นใคร แต่สักครู่หนึ่งเขามองไปที่ปฏิทินเขามองดู เอ๊ะ คนนี้ คนที่อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวนั่น เอ๊ะ คนนี้ก็อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวในรูปใกล้ๆ เขาก็เลยนึกว่า เอ๊ะ พวกนี้มาจากพระเจ้าอยู่หัว เขาก็เลยบอกว่าขายที่นั่น ก็เลยซื้อที่ 15 ไร่ และไปทำศูนย์บริการ
ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำเพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพราะปลูกตาม “ทฤษฎีใหม่” ซึ่ง “ทฤษฎีใหม่” นี้ยังไม่เกิดขึ้น พอดีขุดบ่อน้ำนั้น ต่อมาก็ซื้อที่อีก 30 ไร่ ก็กลายเป็นศูนย์พัฒนาหลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวนและก็มีทั้งสำหรับขุดสระน้ำ ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมชาติอย่างชาวบ้าน ในที่สุดก็ได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวและผักนี่มีกำไร 2 หมื่นบาท
2 หมื่นบาทต่อปี หมายความว่าโครงการนี้ใช้การได้ เมื่อใช้งานได้ก็ขยายโครงการ “ทฤษฎีใหม่” นี้ โดยให้ทำที่อื่น นอกจากมีสระน้ำในที่นี้แล้วจะต้องมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าอีกแห่งเพื่อเสริมสระน้ำ ในการนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนซื้อที่ด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปเวนคืนและสร้างอ่างเก็บน้ำ
ฉะนั้น ในบริเวณนั้นจะเกิดเป็นบริเวณที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเข้าใจว่าจะดำเนินการไปได้ในที่นี้แต่ที่อื่นยังไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ ที่นายกฯ บอกว่าจะขยายทฤษฎีนี้ไปทั่วประเทศก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะว่าต้องมีปัจจัยสำคัญคือปัจจัยน้ำ แล้วก็ต้องสามารถที่จะให้ประชาชนเข้าใจและยินยอม ถ้าเขาไม่ยินยอมก็ทำไม่ได้ถึงมาทำที่กาฬสินธุ์ที่เคยเล่าให้ฟังในชุมชนอย่างนี้แล้วว่าทำที่อำเภอเขาวง (โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแดนสามัคคี บ้านกุดตอนแก่น บ้านคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์) ที่ไปปีนั้น เล่าเรื่องที่เดินทางไป “ทางดิสโก้” เป็นทางทุลักทุเลมาก ที่ “ทางดิสโก้” ขอแจ้งให้ทราบว่าปีแรกทำนา 12 ไร่ ได้ข้าวตามที่กะเอาไว้ พอสำหรับผู้ที่อยู่ตรงนั้นพอกินได้ในตลอดปี จึงทำให้ประชาชนในละแวกนั้นมีความเลื่อมใสและยินดียินยอมให้ทำแบบนี้ในที่ของเขาอีก 10 แปลง หลังจากที่ทำอีก 10 แปลงก็ได้ผล ปีนี้เขาขออีกร้อยแปลง
การขุดสระนั้นก็ต้องสิ้นเปลือง ชาวบ้านไม่สามารถที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับการขุดก็ต้องออกให้เขา มูลนิธิชัยพัฒนาและทางรายการก็ได้ช่วยกันทำ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องสิ้นเปลืองมากมายฉะนั้น “ทฤษฎีใหม่” นี่จะขยายต่อไป อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้าๆ เพราะว่าจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ว่าจะค่อยๆ ทำและเมื่อทำแล้วก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คือไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก ฉะนั้น ก็นึกว่า “ทฤษฎีใหม่” นี้คงมีประโยชน์ได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง

จากคำบรรยายของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล คงให้ความหมายของ “ทฤษฎีใหม่” ได้ว่าทฤษฎีใหม่ หมายถึงหลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินอยู่ประมาณ 15 ไร่ ให้มีน้ำในการเกษตรและการเป็นอยู่อย่างพอเพียง เพื่อความพออยู่พอกิน ไม่อดอยาก มีปัจจัยสี่บำรุงชีวิตอย่างพอเพียงไม่ขาดแคลน และมีชีวิตที่เป็นสุขพอสมควรแก่อัตภาพ
พระราชดำริ "การเกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้

ขั้นที่ ๑ การเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ ๑ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ ๑๐% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
การเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, ๒๕๔๒)

ขั้นที่ ๒ การเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
(๑) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(๒) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(๓) ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(๔) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
(๕) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(๖) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว

กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ

ขั้นที่ ๓ การเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุระกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ซื้อในราคาขายส่ง)
ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น)
ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน ๒๕ แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น
แหล่งข้อมูล : dld.go.th

อัพเดทล่าสุด