ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : 2514 ถึงปัจจุบัน
1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ณ บริเวณที่ดินทั้งหมดประมาณ 300 ไร่เศษ ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือก นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 2514 จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นเวลา 31 ปีแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีกระบวนวิชาที่เปิดสอน ในระดับปริญญาตรีประมาณ 1,900 กระบวนวิชา ระดับปริญญาโท 130 กระบวนวิชา จัดการสอนในหลักสูตรระดับอนุปริญญา 23 สาขาวิชา ระดับปริญญาตรี 60 สาขาวิชา ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 สาขาวิชาระดับปริญญาโท 30 สาขาวิชา โดยมีคณะวิชาที่รับผิดชอบ 8 คณะ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะรับผิดชอบ การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาอีก 1 หน่วยงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาเอก และหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 31 ปี มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พัฒนามาโดยตลอด ทั้งในด้านพัฒนาการวิชาการ พัฒนาสังคม โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาไปตามกระแสโลกกภิวัตน์ทางด้านเทคโนโลยี จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย อันได้แก่ การสอนทางไกล การเรียนการสอนแบบ e-learning การใช้คอมพิวเตอร์ในทุกระดับ งานด้านบริการและการสอน จนมหาวิทยาลัยได้ก้าวสู่การเป็น e-University ในระดับมาตรฐานสากล
2. เหตุผลที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีสาเหตุมาจากปัญหาการขาดแคลนที่เรียนในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสถานที่เรียนจำกัด ไม่สามารถรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งหมด จึงมีผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป
3. คณะ/สำนัก/สถาบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหน่วยงานในระดับคณะสำนักและสถาบันซึ่งมี หน้าที่ดำเนินการจัดการศึกษาและให้บริการด้านบริหารและวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีดังนี้ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน และบัณฑิตวิทยาลัย สำนักและสถาบันต่างๆ ที่บริการด้านบริหารและวิชาการมีดังต่อไปนี้ สำนักงานอธิการบดี สำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล สำนักหอสมุดกลาง สำนักเทคโนโลยีการศึกษา สำนักพิมพ์ สำนักกีฬา สถาบันคอมพิวเตอร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหงเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันภาษา ศูนย์สื่อการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันฝึกอบรม* และกำลังอยู่ในระยะดำเนินการเตรียมการจัดตั้งศูนย์สารนิเทศมหาวิทยาลัยรามคำแหง
4. รามคำแหง 2 เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนักศึกษาเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาด้านสถานที่เรียนไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้เสนอแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสถานที่เรียนต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งวิทยาเขตขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2522 ณ บริเวณที่ดินซึ่งมีผู้บริจาคจำนวน 150 ไร่ โดยตั้งอยู่ที่แขวงดอกไม้ เขตพระโขนง กรุงเทพฯ บนถนนสายบางนา ตราด และมหาวิทยาลัยเปิดใช้วิทยาเขตนี้ เมื่อภาค 1 ปีการศึกษา 2527 เป็นต้นมา สำหรับนักศึกษาที่ไม่มีโอกาสฟังคำบรรยายที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศนั้น มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการบรรยายสรุป ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
5. สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ในปีการศึกษา 2538 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำรงชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต... โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมา ก็ได้เปิดสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติฯ เพิ่มขึ้นอีกในจังหวัดแพร่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดนครพนม จังหวัดสุโขทัย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดตรัง จังหวัดลพบุรี จังหวัดหนองบัวลำภู ตามลำดับ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นกระจายการให้บริการการเรียนการสอน และการสอบไปสู่ภูมิภาค ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้จัดดำเนินการสอบไล่ให้แก่นักศึกษาในส่วนภูมิภาค รวม 29 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์สอบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครพนม อำนาจเจริญ อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ชุมพร สุโขทัย ศรีสะเกษ ลพบุรี และจังหวัดหนองบัวลำภู
6. การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2538 โดยได้มีการสอนโดยตรงจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ ไปสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหงสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ส่วนภูมิภาค 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มแรกได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยใช้ Video Conferencing System ผ่านดาวเทียมไทยคมในย่านความถี่ C-Band โดยกระจายสัญญาณทิศทางเดียวไปยังสาขาวิทยบริการในส่วนภูมิภาค นักศึกษาที่เรียนอยู่ในห้องเรียนสามารถสอบถามและขอคำอธิบายเกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านระบบโทรศัพท์ และโทรสารมายังอาจารย์ผู้สอนได้ในปีการศึกษา 2538 ในปีการศึกษา 2539 มหาวิทยาลัยได้ขยายสาขาวิทยบริการฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม มหาวิทยาลัยได้พัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์โดยตรงสู่ห้องเรียนต่างๆ ในระบบ (Direct To Home Broad Casting) ผ่านดาวเทียมไทยคมย่านความถี่ Ku-Band ซึ่งปัจจุบันออกอากาศผ่านทางไทยสกายเคเบิ้ลทีวี ช่อง 10 นอกจากการใช้เทคโนโลยีสื่อสารแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดให้อาจารย์ไปบรรยายสรุป ณ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดต่างๆ เป็นประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้นักศึกษาในส่วนภูมิภาคได้พบและขอคำปรึกษาจากอาจารย์ได้ วันที่ 3 ตุลาคม 2539 มหาวิทยาลัยก็ได้เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ณ สาขาวิทยบริการ 4 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดอำนาจเจริญ ในการเรียนการสอนปริญญาโทในส่วนภูมิภาคนั้น อาจารย์ผู้สอนจะเดินทางไปสอนที่สาขาวิทยบริการต่างๆ หมุนเวียนกันไปทั้ง 4 จังหวัด เมื่ออาจารย์ไปบรรยายที่สาขาวิทยบริการใดก็ จะทำการถ่ายทอดภาพและเสียงการบรรยายไปยังสาขาวิทยบริการอื่นๆ โดยใช้ Video Conferencing System ผ่านสัญญาณดาวเทียมไปสู่ห้องเรียน ด้วยวิธีนี้จะทำให้นักศึกษาจากทุกสาขาวิทยบริการได้รับฟังการบรรยายจากอาจารย์ผู้สอนพร้อมกันในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนยังสามารถสื่อสารโต้ตอบกับนักศึกษาจากทุกสาขาวิทยบริการในลักษณะของการสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) ได้อีกด้วย
หลักสูตรปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ณ สาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาคมีทั้งสิ้น 4 หลักสูตรคือ
1. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
2. หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการบริหารทั่วไป
3. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน
4. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจ
โดยทั้ง 4 หลักสูตรนี้เปิดสอน ณ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 13 สาขาคือ
1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปราจีนบุรี
2. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุทัยธานี
3. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
4. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอำนาจเจิรญ
5. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครพนม
6. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
7. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย
8. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดขอนแก่น
9. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ
10. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง
11. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดลพบุรี
12. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
13. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดหนองบัวลำภู
14. มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตรปริญญาโทที่เปิดสอนที่สาขาวิทยบริการในปีการศึกษา 2539 มีทั้งหมด 4 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
2. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา)
3. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน)
4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์)
อ้างอิง... ระเบียบการรับสมัครเข้าเป็นนักศึกษา และแผนกำหนดการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ.2546