นิทานพื้นบ้าน
นิทาน คือเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้เห็นความบันเทิงแทรก แนวคิด คติสอนใจ จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ อย่างหนึ่ง นิทานเป็นอาหารทางใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ นิทานเป็นแหล่งรวบรวมจินตนาการและความฝัน นิทานเป็นทางออกทางใจของมนุษย์ ทำให้มีความสุขและช่วยผ่อนคลายความทุกข์ในใจได้ อาจเรียกนิทาน พื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง นิทานชาวบ้าน เป็นต้น เเละนิทานเป็นเรื่องที่เล่ากันสืบต่อ ๆ มา ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังด้วยมุขปาฐะ
ที่มาของนิทาน
1. มาจากความต้องการให้เกิดความสนุกสนาน บันเทิง จึงผูกเรื่องขึ้นหรือ นำเรื่องไปผสมผสานกับเรื่องที่มีอยู่เดิม
2. มาจากความต้องการอบรมสั่งสอน ในแง่ของพุทธศาสนาให้ความรู้ ด้านคติธรรม เพื่อให้การอบรมสั่งสอนให้คนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในกฏระเบียบของสังคม เช่น นิทานธรรมบท นิทานอีสป เป็นต้น
3. มาจากการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย จึงมีการสมมุติเรื่องราวขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
นิทานที่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานี้จะมีลักษณะเฉพาะ
1. จะต้องเป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา ใช้ภาษาชาวบ้านทั่วไป
2. เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในตอนหลังอาจนำมาเขียนขึ้นตามที่เล่าไว้
3. ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนเล่าดั้งเดิม เป็นแต่รู้ว่าเคยได้ยินได้ฟังมา หรือเขาเล่าว่าหรือบรรพบุรุษเป็นผู้เล่าให้ฟัง
การแบ่งนิทาน
มีผู้ศึกษานิทานและพยายามจัดหมวดหมู่หรือแบ่งแยกเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ซึ่งแบ่งได้หลายวิธี ดังนี้
1. แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ คือ พบนิทานที่ถิ่นใดก็เป็นของถิ่นนั้น เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศนับถือศาสนาอิสลาม เขตชนชาติยิวในเอเซียไมเนอร์ เป็นต้น
2. แบ่งนิทานตามแบบของนิทาน แบ่งออกได้ ดังนี้
2.1 นิทานปรัมปรา
2.2 นิทานท้องถิ่น แยกย่อยเป็น
- นิทานอธิบายสิ่งต่าง ๆ
- นิทานเกี่ยวกับความเชื่อ
- นิทานวีรบุรุษ
- นิทานนักบวช
- นิทานเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้
- นิทานสอนใจ
2.3 เทพนิยาย
2.4 นิทานสัตว์ แบ่งเป็น
- นิทานสอนคติธรรม
- นิทานเล่าไม่รู้จบ
2.5 นิทานตลก
3. แบ่งนิทานตามชนิดของนิทาน เป็นการแบ่งตามแบบที่ 2 ที่แบ่งให้ย่อยแต่ละชนิดละเอียดลงไปอีก
4. แบ่งนิทานตามสารัตถะของนิทาน หมายถึงการพิจารณาที่ "แก่น" (element)ของนิทาน เป็นหลัก ในการจัดหมวดหมู่นิทาน การแบ่งโดยใช้ "แก่น" ของนิทานนี้จะแบ่งได้ละเอียดที่สุดในที่นี้จะกล่าวถึงนิทานชาวบ้านตามแบบที่ 2 เพราะส่วนใหญ่นิยมใช้และเข้าใจได้ดี
อิทธิพลของตำนาน นิทาน นิยาย เรื่องเล่าสัมพันธ์กับการดำรงชีวิต
1. เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะของสังคม วิถีชีวิต ทัศนคติ ความคิดเห็นของคนในสังคม
2. สังคมเปลี่ยนแปลงเรื่องตำนาน นิทาน นิยาย เรื่องเล่าก็เปลี่ยนแปลง โดยดัดแปลงมาเป็นละครวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งตีพิมพ์ แถบบันทึกเสียง เพื่อให้เหมาะกับ ยุคสมัย
3. เป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับกลุ่มชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีการเล่า นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ในระหว่างครอบครัว กลุ่มคนทำงานร่วมกัน ฯลฯ
4. ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ผู้ใหญ่กับเด็ก ปู่ย่าตายาย ลูกหลาน คนทำงานร่วมกัน
5. ช่วยการศึกษาและเสริมสร้างจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ความคิดสร้างสรรค์
6. ช่วยปลูกฝังจริยธรรมและรักษาบรรทัดฐานของสังคม นิทานจะ ให้ข้อคิดกับผู้ฟัง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ประพฤติดี ประพฤติชอบอยู่ในระเบียบอันดีงาม ของสังคม
ประเภทของนิทานในเมืองไทย
นิทานไทยเป็นอาหารทางใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ นิทานเป็นแหล่งรวบรวมจินตนาการและความฝัน นิทานเป็นทางออกทางใจของมนุษย์ ทำให้มีความสุขและช่วยผ่อนคลายความทุกข์ในใจได้แก่ นิทานพื้นบ้าน นิทานชาดก นิทานกาพย์กลอน นิทานสอนใจ นิทานตลก
นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน เป็นการเล่านิทานเรื่องเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง ในหมู่ชนทุกชั้น นับตั้งแต่พระราชาลงมาจนถึงคนยากจน (และยังมีนิทานเล่าว่า แม้เทวดาก็ชอบฟังนิทาน ถ้ามนุษย์เล่านิทานในเวลากลางวันจะถูกเทวดาแช่ง เพราะเวลากลางวันเทวดาต้องไปเฝ้าพระอิศวร ไม่มีโอกาสไปชุมนุมกันฟังนิทานที่มนุษย์เล่านั้นด้วย) ถึงแม้ว่าเรื่องในนิทานจะแตกต่างกันไปตามภาคต่าง ๆ ของโลก แต่จุดประสงค์ดั้งเดิมในการเล่านิทานของมนุษย์เป็นอย่างเดียวเหมือนกันหมด นั่นก็คือ มนุษย์เราทั่วไปต้องการเครื่องบันเทิงใจในยามว่างงานประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเป็นเหตุผลเนื่องมาแต่ศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์ และเป็นต้นเหตุให้มีนิทานขึ้นมากมาย
นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เยาวชนควรสนใจศึกษาค้นคว้านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นของตนเพื่อที่จะทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ของคนพื้นบ้าน ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และมีการพัฒนาด้านจิตพิสัยดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่งให้มีความงอกงามต่อเนื่องกันไป ซึ่งหมายถึงว่าเราได้ร่วมศึกษา อนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่นิทานพื้นบ้าน อันเป็นมรดกสำคัญของ สำคัญให้ดำรงอยู่ต่อไป
นิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่มีการถ่ายทอดด้วยการบอกเล่าด้วยวาจา เรียกว่า วรรณกรรม มุขปาฐะ และมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า วรรณกรรมลายลักษณ์ ข้อมูลทั้งสองประเภทยังคงมีการรักษาไว้ด้วยการจดจำ และด้วยการเก็บรักษาในรูปแบบของหนังสือ ผู้ที่เป็น
เจ้าของนิทานพื้นบ้านซึ่งได้ถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้น ให้แก่ผู้ที่ศึกษาเราเรียกว่า วิทยากร ( วิทยากร เป็น คำสมาสในภาษาสันสกฤตและบาลี มาจากคำว่า วิทยา = ความรู้ และ คำว่า กร = ผู้ทำ หมายถึง
ผู้ทำความรู้ หรือผู้ทรงความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาของตน ) การที่เราจะศึกษานิทานพื้นบ้านจึงต้องอาศัยข้อมูลจากวิทยากรท้องถิ่น เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำข้อมูลมาศึกษาอย่างเป็นขั้นตอน
การแบ่งประเภทของนิทานพื้นบ้าน
1. ประเภทเทพนิยายหรือปรัมปรา (Fairy tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า เรื่องมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เป็นความฝันและจินตนาการของผู้แต่ง เรียกหลายอย่างเช่น นิทานมหัศจรรย์ นิทาน บรรพบุรุษ เรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับราชสำนัก เจ้าหญิง เจ้าชาย มีแม่มด มียักษ์ สัตว์ประหลาด ตัวละครที่ดีจะเป็นฝ่ายชนะ เช่น เรื่องพระอภัยมณี คาวี สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
2. ประเภทชีวิตจริง (Novella) เป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในโลกของความจริง มีการบ่งสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมีปาฏิหาริย์อิทธิฤทธิ์แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นไปได้ โดยใช้สถานที่ เวลา ตัวละครที่มา จากความจริง เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี (บางส่วนที่มาจากชีวิตจริงของผู้แต่ง) พระลอ พระรถเมรี พระร่วง ไกรทอง เป็นต้น
3. ประเภทวีรบุรุษ (Hero tale) เป็นเรื่องที่มีหลายตอนขนาดยาว อาจคล้ายชีวิตจริงหรือจินตนาการ เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงวีรบุรุษที่ต้องผจญภัยที่มีลักษณะเหนือมนุษย์ เช่น เรื่อง เฮอร์คิวลิส เซซีอุ สและเพอร์ซีอุสของกรีก เป็นต้น
4. ประเภทนิทานประจำถิ่น (Sage) มักเป็นเรื่องแปลกพิสดารซึ่งเชื่อว่า เคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง บ่งบอกสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมาจากประวัติศาสตร์ อาจเป็นไปได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ เทวดา ผี เช่น เรื่อง พระยาพาน พระร่วง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตาม่องล่าย ท้าวปาจิตกับนางอรพิม เป็นต้น
5. ประเภทเล่าอธิบายเหตุ (Explanatory tale) เป็นเรื่องอธิบายกำเนิด ความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กำเนิดของสัตว์ว่าเหตุใดจึงมีรูปร่างลักษณะ ต่าง ๆ กำเนิดของพืช มนุษย์ ดวงดาวต่าง ๆ เป็น ต้น เช่น ทำไมจระเข้จึงไม่มีลิ้น กำเนิด ดาวลูกไก่ กำเนิดจันทรคราส เป็นต้น
6. ประเภทเทพปกรณัมหรือเทวปกรณ์ (Myth) เป็นเรื่องอธิบายถึงกำเนิดของจักรวาล มนุษย์ สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ลม ฝน กลางวัน กลางคืน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แสดงถึงความเชื่อทางศาสนา มี เรื่องของเทพที่เรารู้จักกันดี เช่น เมขลา รามสูร เป็นต้น
7. ประเภทสัตว์ (Animal tale) เป็นเรื่องที่มีสัตว์เป็นตัวเอก โดยจะแสดงให้เห็นความฉลาดและความโง่เขลาของสัตว์ โดยเจตนาจะมุ่งสอนจริยธรรมหรือคติธรรม ซึ่งจัดเป็นเรื่องประเภทให้คติสอนใจ เช่น นิทานอีสป และปัญจะตันตระ
8. ประเภทมุขตลก (Merry tale) เป็นเรื่องขนาดสั้นอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ หรือสัตว์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโง่ ความฉลาด การใช้กลลวง การแข่งขัน การ ปลอมแปลง ความเกียจคร้าน เรื่องเพศ การโม้ คนหูหนวก นักบวช พระกับชี ลูกเขยกับแม่ยาย ศรีธนญชัย กระต่ายกับเต่า เป็นต้น
9. ประเภทศาสนา (Religious tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเยซู นักบุญ พระพุทธเจ้า พระสาวก ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎกอยู่หลายเรื่อง ซึ่งทรรศนะของผู้เล่ามักถือว่าเป็นเรื่องจริง
10. ประเภทเรื่องผี เป็นเรื่องเกี่ยวกับผีต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่ามาจากไหน เกิดอย่างไร เช่น ผีบ้าบ้องและผีปกกะโหล้งของไทยภาคเหนือ หรือผีที่เป็นคนตายแล้วมาหลอกด้วยรูปร่างวิธีการต่าง ๆ มีผีกอง กอย ฯลฯ
11. ประเภทเข้าแบบ (Formular tale) เป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องสำคัญเล่าเพื่อความสนุกสนานของผู้เล่า และผู้ฟังอาจมีการเล่นเกม แบ่งเป็นนิทานลูกโซ่ เช่นเรื่องตากับยายปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทาน หลอกผู้ฟัง นิทานไม่รู้จบ เช่นเกี่ยวการนับจะเล่าเรื่อยไปแต่เปลี่ยนตัวเลข