การย่อยอาหารของสัตว์ การย่อยอาหารของสัตว์ชนิดต่างๆ ระบบย่อยอาหารของสัตว์เลื้อยคลาน


3,707 ผู้ชม


การย่อยอาหารของสัตว์ การย่อยอาหารของสัตว์ชนิดต่างๆ

สัตว์แบ่งเป็นประเภทต่างๆ และการย่อยอาหารของสัตว์แต่ละประเภทจะมีขั้นตอนและระบบที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

การย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร

ฟองน้ำ (Sponge) จัดเป็นสัตว์กลุ่มแรก ซึ่งโครงสร้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกินและแปรสภาพอาหารยังไม่พัฒนาให้เห็นชัดเจนเหมือนสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ การกินและการย่อยอาหารจึงต้องอาศัยเซลล์ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1.คอลลาร์เซลล์ (Collar Cell) คือ โคแอนโนไซต์ (Choanocyte) เป็นเซลล์ขนาดเล็กคล้ายปลอกคอ มีแฟลเจลลัม (Flagellum) 1 เส้น ยื่นออกมาจากคอลลาร์เซลล์

2. อะมิโบไซต์ (Amoebocyte) เป็นเซลล์ขนาดใหญ่กว่าคอลลาร์เซลล์ พบทั่วไปบริเวณผนังลำตัวของฟองน้ำ อาหารจำพวกแบคทีเรียและอินทรียสารขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไมครอนที่ปะปนอยู่ในน้ำ จะถูกแฟลเจลลัมของคอลลาร์เซลล์จับเป็นอาหาร แล้วส่วนของไซโทพลาซึมจะรับอาหารเข้าสู่เซลล์แบบฟาโกไซโทซิส สร้างเป็น Food Vacuole แล้วอาหารจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซม

ส่วนอาหารขนาดใหญ่ประมาณ 5-50 ไมครอน อะมิโบไซต์ (Amoebocyte) สามารถจับแล้วสร้าง Food Vacuole และจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซมเช่นเดียวกัน

การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์

ตัวอย่างสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete Digestive Tract) คือมีปากและทวารหนักร่วมกัน ได้แก่ ไฮดรา และพลานาเรีย

ไฮดรา (Hydra)

ไฮดราจะมีเข็มพิษ (Nematocyst) อยู่บริเวณหนวด (Tentacle) ซึ่งจะปล่อยพิษออกมาทำร้ายเหยื่อในน้ำ แล้วจับเหยื่อส่งเข้าสู่ปากผ่านเข้าสู่ช่องกลางลำตัว (Gastrovascular Cavity) ที่ผนังลำตัวจะมีเซลล์แกสโทรเดอร์มิส (Gastrodermis) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิด คือ

1.เซลล์ต่อม (Gland Cell) เป็นเซลล์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยส่งอกไปย่อยอาหารที่อยู่ใน Gastrovascular Cavity ซึ่งเป็นการย่อยภายนอกเซลล์ (Extracellular Digestion) กากอาหารจะถูกขับถ่ายออกทางช่องปาก

2.เซลล์ย่อยอาหาร (Digestive or Nutritive Cell) เป็นเซลล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gland Cell ส่วนปลายมีแฟลเจลลัมทำหน้าที่จับอาหารที่มีขนาดเล็กเข้าสู่เซลล์ สามารถสร้าง Food Vacuole ได้แบบเดียวกับอะมีบา เกิดการย่อยภายในเซลล์ (Intracellular Digestion)

พลานาเรีย (Planaria)

โครงสร้างที่เกี่ยวกับการกินและการย่อยอาหารของพลานาเรียสูงกว่าไฮดราเล็กน้อย เริ่มต้นจากช่องปาก ซึ่งเป็นช่องเปิดรับอาหารและขับถ่ายกากอาหาร ต่อจากปากเป็นคอหอย (Pharynx) ซึ่งมีลักษณะคล้ายวงยาว มีเซลล์กล้ามเนื้อแข็งแรงยืดตัวและหดตัวได้ สามารถยื่นออกมาจับสิ่งมีชีวิตขนาเล็กและอินทรียสารเป็นอาหารได้ เมื่ออาหารผ่านเข้าสู่ปากจะเข้าสู่ทางเดินอาหารที่มีแขนงแยกออกไปสองข้างของลำตัวและแตกแขนงไปทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ย่อยอาหารโดยเฉพาะ อาหารที่ย่อยแล้วจะถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่เซลล์ไปทั่วร่างกาย

การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารสมบูรณ์

สัตว์ที่มีทางเดินอาหารสมบูรณ์ (Complete Digestive Tract) ได้แก่ ไส้เดือนดิน แมลง ปลา สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ไส้เดือนดิน (Earth Worm)

โครงสร้างเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารของไส้เดือนดินประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ปาก (Mouth) อยู่บริเวณปล้องแรกสุด มีริมฝีปาก 3 พู ใช้ขุดดินและช่วยในการเคลื่อนที่
2. คอหอย (Pharynx) อยู่บริเวณปล้องที่ 4-6 ลักษณะพองออกเล็กน้อย มีกล้ามเนื้อหนาแข็งแรง ช่วยในการกลืนอาหารให้อาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะพักอาหารได้
3. หลอดอาหาร (Esophagus) อยู่บริเวณปล้องที่ 6-12 ลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กกว่าคอหอย เป็นทางผ่านของอาหาร
4. กระเพาะพักอาหาร (Crop) อยู่บริเวณปล้องที่ 12-16 ลักษณะเป็นถุงผนังบาง
5. กึ๋น (Gizzard) ประกอบด้วยผนังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาก ทำหน้าที่บดอาหารให้มีขนาดเล็กลง
6. ลำไส้ (Intestine) เป็นทางเดินอาหารที่ยาวที่สุด เซลล์ที่บุผนังลำไส้จะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร อาหารที่ย่อยแล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย
7. ทวารหนัก (Anus) เป็นช่องเปิดปลายสุด ทำหน้าที่ขับถ่ายกากอาหารออกนอกร่างกาย

แมลง (Insect)

โครงสร้างเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารของแมลงประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ปาก (Mouth) แมลงมีปากหลายลักษณะตามความเหมาะสมในการกินอาหารและการใช้งาน เช่น

- ปากแบบกัดกิน (Chewing Type) มีกราม (Mandible) และฟัน (Maxilla) แข็งแรง เหมาะกับการกัดและเคี้ยว เช่น ตั๊กแตน เป็นต้น
- ปากแบบเจาะดูด (Piercing-Sucking Type) เช่น ยุง เป็นต้น
- ปากแบบดูดกิน (Siphoning Type) ได้แก่ ผผีเสื้อ เป็นต้น

2. ต่อมน้ำลาย (Salivary Gland) เป็นต่อมสีขาว รูปร่างคล้ายกิ่งไม้ อยู่ติดกันเป็นถุง น้ำลายของแมลงแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกัน

3. คอหอย (Pharynx) ลักษณะเป็นหลอดขนาดเล็ก กล้ามเนื้อหนาแข็งแรง

4. หลอดอาหาร (Esophagus) เป็นทางเดินอาหารที่ต่อจากคอหอย

5. ถุงพักอาหาร (Crop) เป็นทางเดินอาหารที่พองออกจรเป็นถุงใหญ่สำหรับเก็บอาหาร

6. กึ๋น (Gizzard or Provintriculus) เป็นกระเปาะแข็งๆที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อแข็งแรง แมลงบางชนิดในกึ๋นจะมีหนามแหลมๆ ยื่นออกไปรวมกันตรงกลาง ช่วยในการย่อยเชิงกลและกรองอาหาร

7. เฮพาติกซีกา (Hepatic Caeca or Digestive Caeca )ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยเข้าสู่ทางเดินอาหารส่วนกลาง (Mid Gut)

8. กระเพาะอาหาร (Stomach) มีลักษณะเป็นหลอดอยู่ระหว่างกึ๋นกับลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยอาหารทางเคมีโดยรับน้ำย่อยจาก Hepatic Caeca

9. ลำไส้เล็ก (Ileum) ทำหน้าที่ย่อยอาหารทางเคมี และดูดซึมสารอาหาร

10. ลำไส้ใหญ่ (Colon) ลักษณะเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง

11. ไส้ตรง (Rectum) ลักษณะพองโตเล็กน้อย

12. ทวารหนัก (Anus) เป็นช่องเปิดที่อยู่ตรงปลายสุดของทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ขับถ่ายกากอาหารและของเสียในรูปของแข็ง

สัตว์ปีก
โครงสร้างเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด และนกประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ปาก (Mouth) ปากของสัตว์ปีกแต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่กิน ในปากไม่มีฟัน
2. คอหอย (Pharynx)
3. หลอดอาหาร (Esophagus)
4. ถุงพักอาหาร (Crop) ทำหน้าที่เก็บอาหารสำรองไว้ย่อยภายหลัง
5. กระเพาะอาหาร (Stomach)
6. กึ๋น (Gizzard) ทำหน้าที่บดอาหารให้ละเอียด หรือมีขนาดเล็กลง เป็นการย่อยเชิงกล
7. ลำไส้ (Intestine) ทำหน้าที่ย่อยทางเคมี และดูดซึมสารอาหาร
8. ลำไส้ใหญ่ (Colon) ทำหน้าที่กำจัดกากอาหารออกนอกร่างกาย
9. ทวาหนัก (Anus) เป็นช่องเปิดปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ขับถ่ายกากอาหาร และของเสียจำพวกกรดยูริก

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal)

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมาก จึงมีทางเดินอาหารแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่กิน ตัวอย่างเช่น สัตว์กินพืช เช่น วัวและควาย จะมีโครงสร้างของทางเดินอาหารที่แตกต่างจากสัตว์อื่น โดยเฉพาะกระเพาะอาหารจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

1. รูเมน (Rumen) เรียกว่า ผ้าขี้ริ้ว มีลักษณะเป็นผนังยื่นออกมา ทำหน้าที่หมักอาหารโดยจุลินทรีย์ อาหารจะถูกส่งออกมาเคี้ยวเอื้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อบดเส้นใยให้ละเอียด
2. เรติคิวลัม (Reticulum) เรียกว่า กระเพาะรังผึ้ง
3. โอมาซัม (Omasum) เรียกว่า กระเพาะสามสิบกลีบ
4. อะโบมาซัม (Abomasum) หรือกระเพาะจริง จะมีการย่อยอาหารทางเคมี และส่งอาหารต่อไปยังลำไส้เล็ก เพื่อย่อยอาหารที่กินเข้าไป และย่อยจุลินทรีย์เป็นอาหารต่อไป

อาหารส่วนใหญ่ที่สัตว์เคี้ยวเอื้องกินเข้าไปเป็นพวกพืชที่มีเซลลูโลสซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันในการย่อย ดังนั้นสัตว์เคี้ยวเอื้องจึงต้องกินอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การที่สัตว์เคี้ยวเอื้องมีกระเพาะ 4 ส่วนจึงเป็นผลดีในการช่วยเก็บสำรองอาหารไว้ในกระเพาะอาหารเพื่อสำรอกออกมาเคี้ยวใหม่ และกลืนกลับเข้าไป อาหารที่อยู่ในกระเพาะเหล่านี้ จะถูกจุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะช่วยย่อยสลายเซลลูโลสให้เป็นกรดไขมันอย่างง่ายเพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป นอกจากนี้จุลินทรีย์เหล่านียังช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโนและวิตามินบี12 อีกด้วย

อัพเดทล่าสุด