อารยธรรมอิสลาม: ศูนย์รวมนักวิทยาศาสตร์หลากเชื้อชาติ-ศาสนา
Multi-ethnic Science Community with Islam
ฮูนาอีน อิบนุ อิสฮัค (Hunayn Ibn Ishaq ค.ศ.809-873) หรือชื่อละติน โยฮันนิชัส (Johanitius) นักวิทยาศาสตร์ชาวคริสต์ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนักอับบาซียาฮ์ กรุงแบกแดด
โดย ลานา อัมรีล
https://www.musliminventionsthailand.com/main/index.php
ต่างจากคนรุ่นถัดมาและบรรดา นักประวัติศาสตร์ ยุคปัจจุบันบางคน, ชาวมุสลิมไม่เคยปฏิเสธบทบาทของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ต่างเชื้อชาติต่างศาสนาที่มีส่วนช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในช่วงยุคทองของศิลปวิทยาการอิสลามเมื่อ 1,000 ปีก่อน
วิทยาศาสตร์และการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมตั้งใจขวนขวายอย่างแรงกล้า สิ่งเหล่านี้มิใช่ของขวัญที่พระเจ้าได้มอบให้ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้คนทุกเชื้อชาติ ทุกความเชื่อ และทุกสีผิวต่างก็มีส่วนร่วมในปัญญาและการสร้างสรรค์
ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด (ซ.ล.) เองก็ได้ระบุไว้ว่าให้มุสลิมออกไปแสวงหาความรู้แม้จะต้องเดินทางไกลถึงเมืองจีน กระนั้นก็ตามความเกี่ยวพันของวิทยาศาสตร์โลกมุสลิมก็ใช่จะมีแค่เมืองจีน หากรวมไปถึงอินเดีย อาฟริกา ยุโรป และชาวยิว
และนักวิทยาศาสตร์ใต้ร่มธงอิสลามจำนวนมากก็มิได้เป็นมุสลิม!
อาทิเช่น นักวิทยาศาสตร์เรืองนามของโลกอิสลามภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนักอับบาซียาฮ์ (Abbasid Dynastyค.ศ.750-1258) อย่าง ฮูนาอีน อิบนุ อิสฮัค (Hunayn Ibn Ishaq ค.ศ.809-873) เป็นชาวคริสต์ แต่โลกตะวันตกมักเรียกชื่อนักวิทยาศาสตร์คนนี้ว่า โยฮันนิชัส (Johanitius) โดยไม่ยอมบอกชื่ออาหรับ, ษาบิต อิบนุกุรอ เป็นซาเบียน, และตระกูลบากิชตู (Bakhishtu) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในราชสำนักแบกแดดช่วงศตวรรษที่ 9 ก็เป็นคริสเตียนเช่นเดียวกัน
แม้เป็นมุสลิมก็มาจากเชื้อชาติอื่นที่มิใช่อาหรับเช่น นักประวัติศาสตร์-ฟิสิกส์อย่าง อบูลฟาราจ อัล-อิสฟาฮานี (Abu al-Faraj al-Isfahani 897-967 โลกตะวันตกรู้จักในชื่อ อบูลฟาราจ Abulfaraj) จากอิสฟาฮาน อิหร่าน; อาลี อิบนุ ริดวาน (Ali Ibn Ridwan ค.ศ.988-1061) แพทย์ชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของกาหลิบอัล-ฮากัม (al-Hakem ครองราชย์ค.ศ.996-1021) แห่งราชสำนักฟาติมียา อียิปต์; Ibn Djazla แห่งแบกแดด และอีซา อิบนุ อาลี (Isa Ibn Ali) นักฟิสิกส์ชื่อดังอีกคนหนึ่ง; ส่วนยากุต อัล-ฮามาวี (Yaqut al-Hamawi ค.ศ.1179-1229) ชาวซีเรียหนึ่งในนักภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอิสลามก็เป็นลูกหลานชาวกรีก รวมทั้งอัล-คาซิน (Abū Ja'far al-Khāzin ค.ศ.900-971) นักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จากโคระส่าน อิหร่าน
ชาวยิวก็มีหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาภายใต้จักรวรรดิอิสลามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาเรืองนาม Maimonides (ค.ศ.1135-1204) เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของวีรบุรุษโลกอิสลาม ซอลาฮุดดีน หรือ สลาดิน (Saladin ค.ศ.1138-93)
ฮัสได อิบนุ ชาปรุต (Hasdai ibn Shaprut ค.ศ.915-970), และตามมาด้วยบรรดาลูกชายของเขา, เป็นตระกูลยิวที่รุ่งเรืองในอัล-อันดาลุส อาณาจักรมุสลิมสเปน เป็นแพทย์มืออาชีพและดำรงตำแหน่งสูงมากในราชสำนัก โดยที่ฮัสได อิบนุ ชาปรุต เป็นแพทย์ประจำพระองค์กาหลิบอับดุลราฮ์มานที่ 3 (Abd ar-Rahman III ค.ศ.889-961 ครองราชย์ค.ศ.912-961) อามีรและกาหลิบแห่งกอร์โดบา สเปน
ตระกูลชาวยิว เบน ติบบอน (Ben-Tibbon) เป็นหนึ่งในตระกูลที่มีบทบาทสูงสุดในการเผยแพร่วิทยาการอิสลามในดินแดนนอกสเปน (เช่นภาคใต้ของฝรั่งเศสอย่างเมืองมาร์กเซย) เป็นนักแปลตำรากันทั้งตระกูล แปลตำราอาหรับที่เผยแพร่บนแผ่นดินอัล-อันดาลุส อาณาจักรมุสลิมสเปนไปเป็นภาษาฮีบรูและภาษาอื่น นักแปลตระกูลติบบอนที่โดดเด่นได้แก่ จูดาห์ เบนซาอูล อิบนุติบบอน (Judah ben Saul ibn Tibbon ค.ศ.1120 หลังค.ศ.1190), ซามูเอล อิบนุ ติบบอน (Samuel ibn Tibbonค.ศ.1150-1230), จาคอบ เบน-ติบบอน (Jacob ben Tibbon ค.ศ.1236-1312), โมเสส อิบนุ ติบบอน (Moses ibn Tibbonรุ่งเรืองช่วงค.ศ.1240-83)
ฑูตเกือบทั้งหมดของราชสำนักอิสลามที่ถูกส่งไปยังอาณาจักรคริสเตียนเป็นชาวยิว การค้าของชาวมุสลิมก็มีชาวยิวเป็นตัวจักรสำคัญ นอกจากนี้ในบรรดานักวิทยาศาสตร์มุสลิมชื่อดังทั้งหลายมีจำนวนน้อยที่เป็นชาวอาหรับแท้ ส่วนใหญ่กลับเป็นชาวเติร์ก, อิหร่าน (เปอร์เซีย), ชาวสเปนมุสลิม, ชาวเบอร์เบอร์, ชาวเคิร์ด, และมุสลิมเชื้อชาติอื่น อัจฉริยะจากหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เหล่านี้ได้มารวมกันสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ภายใต้ร่มธงอิสลาม ศาสนาที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาและเป็นเลิศด้านวิทยาการ
อารยธรรมอิสลามคืออารยธรรมแรกและอารยธรรมเดียวของโลกที่เป็นที่รวมศูนย์ของอัจฉริยะจากหลากหลายเผ่าพันธุ์และศาสนาอย่างไร้พรมแดน ที่หาใครเทียบได้มาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้เราจะเห็นบางสถาบันหรือบางประเทศจะพยายามโปรโมทภาพพจน์ของตัวเองด้านนี้ก็ตาม.
อ้างอิง: Multi-ethnic Science Community with Islam. Foundation for Science Technology and Civilization (FSTC Limited): UK. 1 November 2002.