การปฐมพยาบาลกระดูกหัก ข้อมูล การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก


1,804 ผู้ชม


การปฐมพยาบาลกระดูกหัก ข้อมูล การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก

กระดูกหัก  (Fracture/Broken bones)         

กระดูกหัก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ส่วนมากมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม รถคว่ำ รถชน เป็นต้น ในผู้สูงอายุ กระดูกเสื่อม ผุ และเปราะ จึงมีโอกาสหักง่าย เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ที่พบได้บ่อยคือ กระดูกต้นขาหรือตะโพกหัก กระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆได้แก่ 
*กระดูกหักชนิดธรรมดา (Simple fracture/Closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียวไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกนอกผิวหนัง 
*กระดูกหักชนิดซับซ้อนหรือมีบาดแผล (Compound fracture/Open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกนอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง อาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้ 

อาการ
บริเวณที่หักมีลักษณะบวม เขียวช้ำ เจ็บปวดซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูก บางคนอาจรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นลำบาก (ถ้าเคลื่อนไหวได้ตามปกติก็อาจหักได้เช่นกัน) หรือมีการเคลื่อนไหวผิดรูปไป แขนขาส่วนที่หัก อาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง เช่น โก่งงอ หรือสั้นกว่าข้างที่ดี บางครั้งถ้าลองจับกระดูกบริเวณนั้นดู อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ แต่กระดูกหักบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีอาการบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงก็ได้ 

อาการแทรกซ้อน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้ ถ้าเป็นกระดูกชนิดซับซ้อน อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีกขาด ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจมีการติดเชื้อรุนแรง จนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ บางคนอาจติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็นเยื่อกระดูกอักเสบเรื้อรัง (Chonic osteomyelitis) 

การรักษา 
ควรให้การปฐมพยาบาล เช่น ห้ามเลือด ใส่เฝือกหรือดามกระดูกส่วนที่หักไว้ ถ้าช็อกให้น้ำเกลือ แล้วส่งโรงพยาบาล ควรเอกซเรย์ดูลักษณะการหักของกระดูก แล้วให้การรักษาโดยพยายามดึงกระดูกให้เข้าที่ (ถ้าจำเป็นอาจต้องดมยาให้ผู้ป่วยสลบ) แล้วใส่เฝือกปูนพลาสเตอร์ไว้ ถ้ากระดูกต้นขาหัก บางครั้งอาจต้องให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงแล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ ผู้ป่วยอาจต้องนอนนิ่งๆ อยู่เป็นสัปดาห์ ๆ ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าดัด ใช้เหล็กดามกระดูกไว้ ถ้าหากกระดูกหักแหลกละเอียด หรือมีบาดแผลเหวอะหวะ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยเสียก่อน เมื่อแผลหายแล้วจึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียม ซึ่งจะช่วยให้เดินและทำงานได้ 

ข้อแนะนำ

  1. กระดูกที่หักสามารถต่อกันได้เองโดยธรรมชาติการรักษาจึงอยู่ที่การดึงกระดูกให้เข้าที่ และตรึง(ดามหรือเข้าเฝือก) ไว้ อย่าให้เลื่อนจากแนวปกติ รอให้กระดูกต่อกันเองจนสนิท ซึ่งอาจกินเวลา 1 - 3 เดือนขึ้นอยู่กับอายุ(เด็กหายเร็วกว่าผู้ใหญ่) ตำแหน่งที่หัก(แขนหายเร็วกว่าขา) และลักษณะของกระดูกหัก
  2. วิธีรักษากระดูกหักของแพทย์ มีได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกหัก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดา มักจะต้องดึงกระดูกเข้าที่ แล้วใส่เฝือกปูน แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะ จนกว่าจะหายสนิท จึงถอดเฝือกออก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน การรักษาอาจยุ่งยากขึ้น อาจต้องผ่าตัด มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น ที่อาจต้องพิจารณาให้ตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เนื่องจากกระดูกหักอย่างรุนแรง ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ดังนั้นจึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ
  3. ในปัจจุบัน ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังนิยมไปรักษากับหมอรักษากระดูกแผนโบราณ(มีทั้งหมอพระและหมอชาวบ้าน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด)ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดาและไม่รุนแรง ก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรง กระดูกอาจต่อกันได้ แต่อาจทำให้แขนขาโก่งหรือใช้การไม่ได้ ซึ่งต้องให้แพทย์แก้ไขภายหลัง ดังนั้นจึงควรหาทางส่งเสริมให้ประชาชนและหมอรักษากระดูกแผนโบราณ มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษากระดูกของแพทย์แผนปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
  4. ชาวบ้านมักมีความเชื่อและความกลัวอย่างผิดๆเกี่ยวกับการรักษากระดูกหักของแพทย์ เช่น
    • เชื่อว่าใส่เฝือกปูนหนาๆ อาจทำให้เนื้อเน่าอยู่ภายในเฝือก
    • รู้สึกว่าการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่เป็นเรื่องที่น่าทรมาน หรือไม่ก็คิดว่าแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น
    • กลัวที่จะถูกตัดแขนตัดขา เป็นต้น ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาควรใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุยชี้แจงผู้ป่วยเข้าใจในวิธีการรักษาของแทพย์
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก
  1. ถ้ามีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือด ดังนี้
    • ถ้าบาดแผลเล็ก ควรให้ผ้าสะอาดพับทบหนาๆ หลายชั้น วางบนปากแผล แล้วใช้นิ้วหรืออุ้งมือกดห้ามเลือด หรือใช้ผ้าพันรัดให้แน่น
    • ถ้าบาดแผลใหญ่ และเลือดไหลรุนแรง ควรใช้ผ้า เชือกหรือสารยางรัดเหนือบาดแผลให้แน่น เรียกว่า การัดทูร์นิเคต์ ควรคลายเชือกทุกๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ0.5 - 1 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดก็รัดกระชับเข้าไปใหม่
  2. ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรทำการดามกระดูกส่วนที่หัก โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง กระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลายๆ ชั้นทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หักโดยให้ปลายทั้ง 2ครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือให้ใช้ผ้าคล้องคอ ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนาๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้งสองข้างแล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง2 ข้างหลายๆเปราะ
  3. ถ้ากระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผล แล้วใช้เฝือกดาม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกล ควรให้กินยาปฏิชีวินะ เช่น เพนวี ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวด ถ้ามีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือ

การปฐมพยาบาลกระดูกหัก ข้อมูล การปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก

อัพเดทล่าสุด