ฟิสิกส์ Lise Meitner มารดาของระเบิดปรมาณู


879 ผู้ชม


Lise Meitner มารดาของระเบิดปรมาณู


นับเป็นเวลานานร่วม 40 ปีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในกรุง Munich ประเทศเยอรมนีได้จัดแสดงนิทรรศการ โต๊ะทดลองปฏิบัติการของ Otto Hahn ให้ประชาชนชื่นชมคำบรรยายที่ติดอธิบายชี้บอกให้ผู้คนที่เข้าชมรู้ว่า การค้นพบปรากฏการณ์ nuclear fission แทบจะเป็นของ Hahn แต่ผู้เดียว (nuclear fission เป็นปรากฏ การณ์ที่นิวเคลียสของธาตุหนัก เช่น ยูเรเนียมแยกตัวเป็นสองนิวเคลียสของธาตุเบา เวลาได้รับอนุภาคนิวตรอนแล้ว ปลดปล่อยพลังปรมาณู) ส่วน Fritz Strassmann ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย และนั่นก็คือเหตุผลที่ Hahn ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี พ.ศ. 2487 แต่เพียงผู้เดียว

Otto Hahn

ความจริงที่แทบจะไม่มีใครพูดถึงคือมีผู้ร่วมงานอีกท่านหนึ่งชื่อ Lise Meitner ที่มีบทบาทในการค้นพบครั้งนี้มาก เธอเป็นสตรีชาวออสเตรียเชื้อชาติยิวผู้เป็นทั้งเพื่อน และผู้ร่วมงานของ Hahn เมื่อ Hitler มีอำนาจปกครองเยอรมัน อย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481 Meitner ผู้มีเชื้อชาติยิวได้ถูกบังคับให้อพยพออกนอกประเทศ ทำให้เธอมิสามารถ จะร่วมงานวิจัยทางนิวเคลียร์กับ Hahn ได้อีกต่อไป ซึ่งงานวิจัยชิ้นนั้นได้นำไปสู่การค้นพบปรากฏการณ์ nuclear fission ในอีก 6 เดือนต่อมา

ในปี พ.ศ. 2532 ในการประชุมนานาชาติเรื่องประวัติของวิทยาศาสตร์ที่เมือง Munich ที่ประชุมได้มีมติให้ พิพิธภัณฑสถาน แห่งกรุง Munich ปรับเปลี่ยนคำบรรยายที่ติดอธิบายโต๊ะทำงานของ Hahn ว่า Meitner, Hahn และ Strassmann มีบทบาทเท่าเทียมกันทั้ง 3 คน ในการค้นพบปรากฏการณ์ nuclear fission

หากนกจะต้องคู่ฟ้าและปลาจะต้องคู่น้ำ Meitner ก็ต้องคู่กับ Hahn เธอและเขาเกิดในปี พ.ศ. 2421 เดียวกัน และ เสียชีวิต เมื่ออายุได้ 90 ปีเท่ากัน หลังจากที่ได้รู้จักกันมานานร่วม 60 ปี ถึงแม้บุญวาสนาและชะตาจะคู่กันสักปานใด ความเท่าเทียมก็มิได้ปรากฏ เพราะ Hahn เป็นผู้ชายชาวเยอรมันที่ร่าเริง Meitner เป็นผู้หญิงยิวที่เก็บตัว Hahn ได้รับรางวัลโนเบล และโลกรู้จัก Meitner ว่าเป็นผู้ที่พลาดการร่วมรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ในหนังสือ Lise Meitner : A Life in Physics ที่ R.L. Sine เขียนเมื่อ พ.ศ 2539 Sine ได้รวบรวมหลักฐาน มากมายที่แสดงให้เห็นว่า เหตุใด Meitner จึงสมควรได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Hahn แต่ไม่ได้

ชีวิตของ Meitner เป็นชีวิตที่อุทิศให้กับงานฟิสิกส์ เธอเป็นโสดจึงไม่มีทายาทสืบสกุล เพื่อนในวงการฟิสิกส์คือญาติ ของเธอ เมื่อเธอทำงานกับ Hahn การเป็นสตรีทำให้เธอถูกห้ามมิให้เข้าไปในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ ผู้ชายทำงานอยู่ เธอต้องทำงานแบบเอกเทศ และก็ได้พบธาตุ protactinium ร่วมกับ Hahn ในปี พ.ศ. 2460 ถึงแม้เธอจะได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สตรีคนแรกของเยอรมนีก็ตาม การที่เธอมีเชื้อสายยิวทำให้เธอถูกดูแคลน และถูกระงับไม่ให้สอนหนังสือ เมื่อนาซีเข้าครอบครองเยอรมนี การคุกคามยิวได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนนักฟิสิกส์ ต่างชาติต้องช่วยให้เธอหลบหนีอิทธิพลนาซีออกนอกเยอรมนีไปพำนักอยู่ในประเทศสวีเดน Sine ได้พบหลักฐานทาง จดหมายมากมายที่แสดงให้เห็นว่า Hahn ได้ปรึกษา Meitner ตลอดเวลาที่มีการพบ nuclear fission แต่เมื่องาน วิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ชื่อของ Meitner มิได้ปรากฏ เพราะ Hahn มีความเห็นว่าการทำงานร่วมกับ ยิวเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนเยอรมัน

เมื่อ Hahn ได้รับการประกาศให้รับรางวัลโนเบล Hahn ได้พยายามอ้างผลงานเกียรติยศชิ้นนั้นว่าเป็นของตนแต่เพียง ผู้เดียว ซึ่ง Meitner ได้เขียนจดหมายถึง Hahn ว่าเธอเสียใจที่นิสัยของ Hahn เปลี่ยนไป ถึงแม้เธอจะพลาดรางวัล เธอก็มิต้องการให้รางวัลนั้นมาทำลายมิตรภาพระหว่างของเธอ กับ Hahn

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบ Hahn เริ่ม เป็นโรคความจำเสื่อม สื่อสารมวลชนในอเมริกาได้ขนานนาม Meitner ว่าเป็นมารดาของระเบิดปรมาณู ซึ่งเธอรู้สึกอึดอัดใจมากเพราะทำให้เธอรู้สึกว่ามีทายาทเป็นระเบิดมหาประลัย

หลังจากที่คนทั้งสองเสียชีวิตลง ชื่อของ Hahn ได้ปรากฏเป็นชื่อของธาตุ hahnium ที่ 105 และชื่อของ Meitner ได้ถูกตั้งชื่อของธาตุ meitnerium ที่ 109 ปรากฏคู่กันในตารางธาตุชั่วกัลปาวสาน

ชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านนี้แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นั้นเขียนใหม่ได้ หากเรามีหลักฐานและการวิเคราะห์ ที่ถูกต้อง ประวัติศาสตร์ของเรา (บางเรื่อง) ก็น่าจะเช่นกันครับ

อัพเดทล่าสุด