Gotoknow.org นักวิชาการชี้ "บล็อก Gotoknow.org" สร้างสรรค์พลัง"สังคมแห่งการเรียนรู้"


883 ผู้ชม


 

นักวิชาการชี้ "บล็อก Gotoknow.org" สร้างสรรค์พลัง"สังคมแห่งการเรียนรู้"

ในงานฉลองครบรอบ 1 ปี Gotoknow.org (15 มิ.ย. 2549) ระบบบล็อกเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ สำหรับการพัฒนางาน ผ่านเครือข่าย Intranet อันเป็นเส้นทางการจัดการความรู้ของคนไทย ณ วันนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ส่งเสริม “การแลกเปลี่ยนความรู้” ของคนในสังคมไทยมากที่สุด โดยมีสมาชิกที่เขียนบันทึกจำนวนกว่า 8,500 ราย ที่สำคัญในจำนวนนี้ มีบุคลที่เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน เช่น องค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐบาล วงการศึกษา วงการพยาบาล วงการแพทย์ วงการเภสัช นักศึกษา นักชีววิทยา นักจิตวิทยา เป็นต้นที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ลงในบล็อกดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีเข้าชม ในแต่ละวันเฉลี่ย 21,000 ราย

ทั้งนี้ ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัติ ผู้พัฒนาระบบบล็อกดังกล่าว กล่าวว่า จากความสำเร็จในการนำระบบบล็อก (Blog) นำมาประยุกต์ใช้สร้างสังคมออนไลน์สำหรับคนไทยเพื่อการจัดการความรู้ หนึ่งปีที่ผ่านมาในส่วนของผู้พัฒนาระบบ ได้มีการเก็บเกี่ยวความต้องการของผู้ใช้ในการนำบล็อกไปใช้เพื่อการจัดการความรู้ ประกอบกับ การเฝ้ามองติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ตที่เน้นการนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโตของสังคมออนไลน์ต่างๆ และในที่สุด ระบบการจัดการความรู้ระบบแรกของประเทศ ก็ได้รับพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้ชื่อว่า KnowledgeVolution ซึ่งเกิดจากคำว่า Knowledge และคำว่า Evolution มาผนวกรวมกัน โดยความต้องการที่จะสื่อถึง การพัฒนาการของความรู้ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งด้วยความร่วมมือกันของสมาชิกในสังคม และในขณะเดียวกัน Volution มีความหมายคือ วงจรของลายก้นหอยที่มุ่งเข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง เสมือนการจัดการความรู้ที่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นหลักยึด

สำหรับ Knowledge Volution ปัจจุบันได้นำมาแทนที่ระบบบล็อกเดิมที่เว็บไซต์เพื่อการจัดการความรู้ GotoKnow.org เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 และจะเผยแพร่รหัสต้นฉบับ (Source code) ให้ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี! ในเร็วๆนี้ที่ https://KnowledgeVolution.com โดยระบบนี้เป็นลิขสิทธิ์แบบ GPL (Open-source) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ ร่วมช่วยกันพัฒนาได้ โดยผู้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ Knowledge Volution คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนพัฒนาและวิจัย

ทั้งนี้ Knowledge Volution ยังมีความสามารถที่หลากหลายเพื่อตอบสนองกิจกรรมการจัดการความรู้ ซึ่งเน้นที่การบันทึกความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดหมวดหมู่ความรู้ การค้นหาความรู้ การสร้างแผนที่ความรู้ และการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ชำนาญการในด้านต่างๆ หรือ กลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกัน ความสามารถดังกล่าวนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาเป็น features ที่มีให้ในเวอร์ชันล่าสุดของ Knowledge Volution ได้แก่ tag, blog, photo & file blog, planet, ask-me, bookmark, portal และ visitor statistics ที่จะช่วยเพิ่มสีสันและอรรถรสให้ผู้ใช้ (User) อย่างไร้ขีดจำกัด

ด้าน ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในสมาชิกบล็อก กล่าวว่า “Gotoknow.org เป็นเวทีเสมือนที่ให้คนในหน่วยงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนางานและองค์กรได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับเรื่องระบบประกันคุณภาพของสถาบันการศึกษาก็มีการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งแต่เดิมๆ ในมหาวิทยาลัยใช้เครื่องมือเป็น Webroad ,E-mail group, ซึ่งนำข้อมูลมาแชร์กัน แต่ไม่อัพเดตเท่าที่ควร และไม่เกิดสีสันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทำให้ขาดความน่าสนใจ

เมื่อใช้ Blog ทุกคนสามารถที่จะมาเรียนรู้ร่วมกันได้ตลอดทั้งปี ได้ข้อมูลที่อัพเดตและทันสมัย สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ ได้เพื่อน ได้เครือข่ายที่ปรึกษา และความรู้ใหม่ๆ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้สามารถพัฒนาตนเอง และพัฒนาฐานความรู้ขององค์กรได้ต่อไป” อ.วิบูลย์ กล่าวและว่า

สิ่งที่น่าสนใจ คือ Knowledge Volution คือ สามารถที่จะเอาไปประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยได้ดี ที่จะช่วยกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร โดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบในยุทธศาสตร์ ก็จะเกิดเป็นชุมชนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เกิดการแลกเปลี่ยนกัน มีการพัฒนาความรู้ต่อยอดกัน เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกันผู้บริหารในแต่ละคณะก็สามารถ ที่จะมองเชื่อมโยงงานของหน่วยงานตนเองเปรียบเทียบหรือต่อยอดความรู้จากหน่วยงานอื่นๆได้ เกิดการทำงานแบบรับผิดรับชอบมากขึ้น และเกิดชุมชนที่จะช่วยกันแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบจริงๆแล้ว เรามองได้หลายรูปแบบ ซึ่งระบบการพัฒนาแบบ Open-source ในประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีความแข็งแรงพอ และยังไม่เป็นชุมชนมากพอเหมือนกับต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศไทยผู้พัฒนาระบบก็อาศัยพัฒนาจาก การใช้ของ User ซึ่งเมื่อได้เข้ามาร่วมกันใช้แล้ว ก็สามารถที่จะเอาระบบไปปรับใช้องค์กร และพัฒนาต่อยอดร่วมกัน

ทั้งนี้หากระบบนี้เป็นโมเดล ที่ผู้ใช้สามารถเห็นช่องทางในการพัฒนาต่อไปอีก ซึ่งจะช่วยให้เห็นอีกชุมชนของผู้พัฒนาระบบขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ทว่าต้องผ่าน User ที่อยู่ในองค์กร ซึ่งจะช่วยกันหนุนเสริมการเกิด Computer Community Soft Ware เพิ่มมากขึ้น

ผู้อำนวยการ สคส. กล่าวด้วยว่า แม้ตนจะเขียนหนังสือมานานมาก แต่สำหรับการเขียน blog เพื่อการให้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ทำให้เข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ เข้าใจเรื่องความรู้ในตัวคนที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน เข้าใจการเขียนที่ออกมาจากใจ- อิสระ ช่วยให้ผมได้เรียนรู้วิธีการเขียนอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อยิ่งเขียนก็ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น ทั้งอ่านตัวเองและอ่านคนอื่นไปพร้อมๆกัน ทำให้เห็นความสุขในชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งด้วย”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) โทร. 02-6199701,02-6196188

อัพเดทล่าสุด