โครงงานภาษาไทย ความหมายของโครงงานภาษาไทยและตัวอย่าง ความหมายของโครงงานภาษาไทย ประเภทของโครงงานภาษาไทย ตัวอย่างโครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง การเขียนรายงานโครงงาน


32,685 ผู้ชม



 

ความหมายของโครงงานภาษาไทยและตัวอย่าง

ความหมายของโครงงานภาษาไทย

          โครงงาน คือ งานวิจัยเล็ก ๆของนักเรียน เป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของนักเรียน โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หากเนื้อหาหรือข้อสงสัยตรงตามรายวิชาใดก็จัดเป็นโครงงานรายวิชานั้น ดังนั้น โครงงานภาษาไทย จึงหมายถึง การแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของนักเรียนในรายวิชาภาษาไทย

             ประเภทของโครงงานภาษาไทย

     แบ่งตามวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำตอบของโครงงานได้เป็น 4 ประเภท คือ

     1. โครงงานภาษาไทยประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล

     2. โครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง

     3. โครงงานภาษาไทยประเภทสิ่งประดิษฐ์

     4. โครงงานภาษาไทยประเภททฤษฎี

             1. โครงงานภาษาไทยประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล

     เป็นโครงงานเบื้องต้นที่นักเรียนควรเริ่มลงมือทำเพราะง่าย เพียงแต่ทำการรวบรวมข้อมมูลที่มีอยู่ นำมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ  เพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ศึกษาชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เช่น

     - การสำรวจคำศัพท์ที่ควรรู้จากเรื่อง...

     - การสำรวจคำราชาศัพท์ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน

     - การสำรวจคำควบกล้ำในหนังสือเสริมทักษะภาษาไทย ป. 2 ของ พว.

     - การสำรวจคำที่มี ร, ล, ว ควบกล้ำในหนังสือ

     - การสำรวจคำย่อในหนังสือพิมพ์...

     - การสำรวจคำอ่านยากของสมาชิกในกลุ่ม

     - การสำรวจหลักภาษาไทยในบทความเรื่อง...

     - การสำรวจความนิยมในการอ่านหนังสือนิตยสาร

     - การสำรวจคำแสลง คำสมัยนิยม ในหนังสือพิมพ์...

     - การสำรวจรวบรวมคำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย

     - การสำรวจข้อสอบวิชาภาษาไทย ชั้น...

     - การสำรวจชื่อครูที่มีมาตราตัวสะกดแม่ต่าง ๆ

     - การสำรวจตัวละครในเรื่อง...

     - วิเคราะห์ลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่อง...

     - หลักการอ่านภาษาไทย

     - หลักการเขียนภาษาไทย

     - ศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณคดีเรื่อง...

     - ภาษาไทยกับการปลูกฝังคุณธรรมผ่าน ภาษิต นิทาน ตำนานและวรรณคดี

     - การสำรวจตัวอักษรที่ใช้กับคนพิการทางหู

     - องค์ประกอบของเรื่องสั้น

     - การศึกษาประวัติของนักประพันธ์

     - การถอดความบทร้อยกรอง

          เมื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลมาแล้ว ควรนำมาจัดลำดับหมวดหมู่ให้เหมาะแก่การค้นหา อาจนำเสนอในรูปตาราง กราฟ แผนภูมิ หรืออื่น ๆ ก็ได้ จะทำให้ข้อมูลน่าศึกษายิ่งขึ้น ส่งผลให้โครงงานนั้นมีคุณค่า

            2. โครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง

     โครงงานนี้ อาจดูเหมือนว่าเป็นงานของนักวิทยาศาสตร์ เพราะขั้นตอนการทำงานคล้ายกับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ คือต้องมีขั้นตอนการศึกษาดังนี้

     2.1 กำหนดปัญหาที่จะศึกษา

     2.2 ตั้งวัตถุประสงค์

     2.3 ตั้งสมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า

     2.4 ออกแบบการทดลอง

     2.5 ทำการทดลอง

     2.6 รวบรวมและแปรผลการทดลอง

     2.7 สรุปผล

     2.8 นำเสนอข้อมูล

            ลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำโครงงานประเภทนี้ ดูได้จากตัวอย่าง โครงงานภาษาไทยเรื่อง การอ่านในใจกับการอ่านออกเสียงอย่างไหนจำดีกว่ากันเพื่อศึกษาความสามารถในการจำ ดังนี้

     1. ปัญหาที่จะศึกษาคือ วิธีการอ่าน 2 วิธี การอ่านออกเสียงและอ่านในใจ

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ ต้องการศึกษาว่าการอ่านทั้ง 2 วิธี วิธีใดจะจำได้ดีกว่ากัน

     3. สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้าหรือคำตอบชั่วคราว คือการอ่านออกเสียงจำได้ดีกว่า

     4. การออกแบบการทดลอง เป็นการเขียนเค้าโครงว่าจะทำการศึกษาอย่างไรบ้าง โดยต้องมีการกำหนดตัวแปร

         4.1 ตัวแปรต้น คือ เหตุหรือสิ่งที่ต้องการศึกษา ในที่นี้คือ วิธีการอ่านทั้ง 2 วิธี คือการอ่านออกเสียงและการอ่านในใจ

         4.2 ตัวแปรตาม คือ ผลที่ได้จากการศึกษา ในที่นี้หมายถึงการจำของนักเรียน

         4.3 ตัวแปรควบคุม คือ สิ่งที่ต้องจัดให้เหมือน ๆ กัน ถ้าไม่เหมือนกันจะมีผลทำให้ตัวแปรตาม ต่างไปจากที่ควรจะเป็น ในที่นี้ควรจะเป็นความยากง่ายของเนื้อหา เวลาที่ใช้ในการศึกษา

     5. ทำการทดลอง นำข้อความที่กำหนดให้เพื่อน 10 คนอ่าน โดยกำหนดเวลาในการอ่าน วิธีการอ่าน เพื่อนที่อ่านเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นเดียวกันที่มีระดับการเรียนปานกลาง ใช้ข้อสอบที่มีคำถามเพื่อวัดความสามารถในการจำ ทำการทดลองซ้ำ 3 ครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาเฉลี่ย

     6. แปรผล สรุปผล และนำเสนอข้อค้นพบ

        

            ตัวอย่างโครงงานภาษาไทยประเภทการทดลอง

     - ทดลองออกเสียงคำควบกล้ำ 

      - ทดลองอ่านออกเสียงคำที่มีตัวการันต์

      - ทดลองอ่านออกเสียงคำราชาศัพท์

      - การศึกษาความจำจากการฟัง

      - การศึกษาวิธีการพูดโดยการกำหนดหัวข้อเรื่อง...

      - การศึกษาความถูกต้องจากการอ่าน...

      - การศึกษาวิธีการเขียนตามคำบอก...

      - การเขียนสะกดคำยาก

      - การเขียนสะกดคำง่าย

            ในการทดลองภาษาไทย เน้นเรื่องการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เป็นวิธีการที่เห็นเด่นชัดมาก นักเรียนที่ทำโครงงาน สร้างเครื่องมือ ซึ่งอาจเป็นตารางง่าย ๆ เหมาะสมกับระดับชั้นเพื่อตรวจสอบการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนของเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน หรือต่างชั้นเรียนก็ได้

            3. โครงงานภาษาไทยประเภทสิ่งประดิษฐ์

     สำหรับวิชาภาษาไทยสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้มากมาย เช่น การประดิษฐ์โคลงกลอน ประดิษฐ์บทละครและอื่น ๆ มากมาย โดยการปรับปรุงจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนตัวแปรบางตัวเสียใหม่ให้ต่างจากของเดิม ก็จะเป็นโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้น ตัวอย่างโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ เช่น

      - การประดิษฐ์ข้อสอบวิชาภาษาไทย นักเรียนนำความรู้ที่เรียนมาช่วยครูสร้างแบบทดสอบแทนครู

      - การประดิษฐ์เกมภาษาไทย

      - การประดิษฐ์แผนผังบทร้อยกรองแบบใหม่
      - การประดิษฐ์หนังสือภาษาไทย...

      - การประดิษฐ์สื่อที่ใช้ในการเรียนภาษาไทย...

      - การประดิษฐ์หนังสือช่วยการอ่านคำที่มีตัวการันต์

      - การประดิษฐ์พจนานุกรมฉบับนักเรียน...

            สิ่งที่นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นโดยดูแบบอย่างมาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ถือว่าเป็นโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ มีข้อพึงระวังในการลอกเลียนแบบของผู้อื่นมาทุกประการ

            4. โครงงานภาษาไทยประเภททฤษฎี

     เป็นโครงงานที่นักเรียนเสนอหลักการหรือแนวความคิดใหม่ ๆ โดยใช้แนวความคิดหรือการจินตนาการของผู้ทำโครงงาน เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในแนวใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อน หรืออธิบายทฤษฎีที่ขัดแย้งกับทฤษฎีเดิมที่มีอยู่ในวิชาภาษาไทย อาจเป็นการเสนอทฤษฎีหรือหลัการขึ้นมาสนับสนุน หรือขัดแย้งกับแนวความคิดเดิม ๆ เช่น นักเรียนเสนอโครงงานประเภททฤษฎีขึ้นมาว่าท่านสุนทรภู่ไม่ดื่มเหล้า โดยนำทฤษฎีหรือหลักการมาสนับสนุนการวิเคราะห์ว่า หากท่านดื่มเหล้าเป็นคนเมามาย คงไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ได้จำนวนมากมายดังที่ทราบ แต่ที่เห็นพฤติกรรมว่าเมานั้นอาจเป็นการเข้าใจผิดของชาวบ้านทั่วไปก็ได้

    โครงงานประเภททฤษฎี เป็นการนำเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง อาจถูกหรือผิดก็ได้ แต่เป็นไปตามทฤษฎีหรือหลักการ ในวิชาภาษาไทยมีเนื้อหามากมายที่นักเรียนสามารถคิดขึ้นมาในแง่ทฤษฎีได้ เพียงแต่ครูที่ปรึกษา จะยอมรับความคิดเห็นของนักเรียนหรือไม่

 การเขียนรายงานโครงงาน


ในการเขียนรายงานโครงงานมีองค์ประกอบดังนี้ 
1. ชื่อโครงงาน 
2. ชื่อผู้ทำโครงงานและชื่อครูที่ปรึกษา 
3. โรงเรียนและวัน เดือน ปี ที่ทำโครงงาน 
4. บทคัดย่อ 
5. กิตติกรรมประกาศ 
6. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน 
7. วัตถุประสงค์ 
8. สมมุติฐานของการค้นคว้า 
9. เอกสาร 
10. วิธีการดำเนินงาน 
11. ผลการศึกษาค้นคว้า 
12. สรุปผล ประโยชน์ที่ได้รับ และข้อเสนอแนะ 
13. เอกสารอ้างอิง


อัพเดทล่าสุด