ภาษาไทย วันภาษาไทยแห่งชาติ


794 ผู้ชม


 "วันภาษาไทยแห่งชาติ"


วันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว

และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในโอกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ

ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ได้มีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “ ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไรที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน ” คนไทยเราแม้จะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างท้องถิ่นหรือต่างศาสนา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต่างพูด “ ภาษาไทย ” ทุกคนย่อมรู้สึกได้ทันทีถึงความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นชาติเดียวกัน ดังนั้น “ ภาษา ” จึงเป็นสิ่งที่จะร้อยรัด และ ผูกพันคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งหากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่ไปเที่ยว ถ้าได้ยินใครก็ตามพูด “ ภาษาไทย ” ขึ้นมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกยินดีว่าเจอพวกเดียวกันแล้ว เจอคนไทยด้วยกันแล้ว

การที่ “ ภาษา ” เป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่า ภาษาเป็นสื่อเสียงและสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติที่เกิดจากการสร้างสรรค์ และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดมาสู่ลูกหลาน เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชาตินั้นๆติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้ และเป็นเหตุให้วัฒนธรรมในด้านอื่นๆเจริญขึ้นด้วย หากไม่มี “ ภาษา ” มนุษย์ก็คงไม่สามารถสืบทอดวิชาการความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และไม่อาจพัฒนาหรือรักษา “ ความเป็นชาติ ” ของตนไว้ได้ “ ภาษา ” จึงเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งของแต่ละชาติ

อัพเดทล่าสุด