คลื่นเสียง การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง


819 ผู้ชม


การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง : Echocardiogram
          
ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ เนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย   Echocardiogram จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาในโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และอาจได้ภาพไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจ Echo นิยมทำ 2 วิธีคือ
          1. ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ ตรวจบริเวณผนังทรวงอกด้านนอก (Tran Thoracic Echocardiogram) เป็นการตรวจที่นิยม ทำกันทั่วไป วิธีการค่อนข้างง่าย ไม่เจ็บตัว ไม่มีอันตรายใดๆ   เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย ท่านจะสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที
          2. ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ สอดผ่านช่องปาก เข้าไปอยู่ในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งด้านหลังของหัวใจโดยตรง (Tran Esophageal Echocardiogram)  การตรวจวิธีนี้ สามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจ และ หลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังหัวใจ เช่น หัวใจห้องซ้ายบน ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ได้ชัดเจนกว่าวิธีแรก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางราย เช่น  ผนังหน้าอก หนามาก (อ้วน) เป็นต้น แต่การตรวจวิธีนี้ไม่ได้ใช้ทดแทนการตรวจวิธีแรก จะทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น เนื่องจากอาจมีอันตรายต่อหลอด อาหารได้ แต่ก็พบน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 0.5

การเตรียมตัวก่อนตรวจ
          สำหรับการตรวจวิธีที่ 1 ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าแต่ประการใด
          การตรวจวิธีที่ 2 ต้องเตรียมดังนี้
             - ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้งดน้ำงดอาหาร 4 - 6 ชม. ก่อนตรวจ
             - ผู้รับการตรวจต้องไม่มีประวัติแพ้ยาและประวัติกลืนลำบาก
             - ในวันตรวจหากผู้รับการตรวจมีฟันปลอม ควรถอดเก็บไว้ก่อน
             - ผู้รับการตรวจทุกรายต้องลงชื่อในใบยินยอม ก่อนการตรวจทุกครั้ง
          การตรวจ Echo สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกเพศ วัย แม้กระทั่งสตรีมีครรภ์ โดยจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจาก ไม่ได้มีการ ใช้รังสีเข้ามาเกี่ยวข้องแต่เป็นการใช้ประโยชน์จากคลื่นเสียงเท่านั้น
เรียบเรียงโดย : นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
ที่มา : เว็บไซต์ Thai Heart Web

อัพเดทล่าสุด