วาระแห่งชาติ อภิสิทธิ์ นายกฯ อภิสิทธิ์ยกไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ ชี้งบและกำลังพลไม่ใช่ทางแก้


909 ผู้ชม


นายกฯ อภิสิทธิ์ยกไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ ชี้งบและกำลังพลไม่ใช่ทางแก้


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ความรุนแรงในภาคใต้ จะยุติลงได้อย่างไร” จัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (30 มีนาคม) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่างบประมาณและกำลังพลไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการยุติความรุนแรงในภาคใต้ ย้ำ หัวใจประชาชนเท่านั้นที่ต้องการ 
นายกฯ ออกตัว ไม่มั่นใจแก้ไฟใต้ได้ในรัฐบาลนี้ ย้ำ ต้องใช้เวลานาน 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าที่ยาวนาน ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน โดยบอกไม่ได้ว่ารัฐบาลของตนสามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่
“หลายยุคหลายสมัยที่มีนโยบายแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เหตุการณ์ก็สงบลงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การคลี่คลายปัญหาต้องใช้เวลา ใช้ความเข้าใจในปัญหาและสร้างความเข้าใจทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ด้วย ทำไมต้องแก้ปัญหากับคนนอกพื้นที่ด้วย ก็เพราะปัญหาเกิดจากช่องว่างระหว่างประชาชนนอกพื้นที่กับในพื้นที่” นายกรัฐมนตรีระบุ งบและกำลังพลมหาศาลไม่อาจยุติปัญหาได้ มาร์คอ้อน การได้หัวใจปชช. คือคำตอบสุดท้าย 
นายกฯ อภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า เนื่องจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ ความสามัคคีของคนในชาติเท่านั้นจึงสามารถแก้ปัญหาได้ การให้เกียรติและความเสมอภาคของคนในพื้นที่จากสังคมใหญ่ของประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา
ใจความตอนหนึ่งของปาฐกถาระบุว่า การใช้งบประมาณมหาศาลและกำลังพลจำนวนมากลงพื้นที่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าสามารถยุติปัญหาได้
“แต่หัวใจสำคัญคือการได้หัวใจของประชาชนในพื้นที่คือคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา การเคารพและให้เกียรติ นี่คือหัวใจ ส่วนจะทำอย่างไรนั้นคือสิ่งที่ท้าท้าย...”นายกรัฐมนตรี กล่าว 
อัด รัฐบาลชุดเก่าทำงบหาย ไม่ถึงมือชาวบ้าน 
อดีตผู้นำฝ่ายค้านที่ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงข้างมากในระบบรัฐสภา กล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาว่า “แม้จะมีความตั้งใจดีจากรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่ลงตัว เราเห็นว่ารัฐบาลก่อนมีความตั้งใจสูง ที่ผ่านมาการจัดงบประมาณมหาศาลลงพื้นที่แต่ประชาชนผิดหวัง เพราะเงินจำนวนมหาศาลหายไป ประชาชนไม่ได้สัมผัสกับเงินที่ลงไปพัฒนาพื้นที่เลย นอกจากนี้ ความไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง การที่มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก ปัญหาก็ย่อมมีมาก อาจจะเกิดจากความเครียดทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัตินอกลู่นอกทางของกฎหมายจนถึงขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ซึ่งโครงการหลายๆ โครงการไม่ได้มีปัญหาเฉพาะกับคนในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้นแต่เกิดกับพื้นที่อื่นๆ ด้วย” 
ชี้ผลรายงานสรุป อนุ กมธ.สอดคล้องนโยบาย ตั้ง รมต.พิเศษ แก้ปัญหา 
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงผลสรุปของอนุกรรมาธิการฯ ว่า หลายๆ ปัญหาที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการธิการฯ นั้น บางอย่างสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เสนอเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาตามหลักประชาธิปไตย ดังนั้นต้องมีการปรับใช้ได้เลยในบางจุด การเอาเรื่องการเมืองมาแก้ปัญหาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ส่วนการแก้ปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยการบรรจุเป็นพนักงานของรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตลอดจนประเทศมุสลิมเพื่อพัฒนาสินค้าฮาลาลไปสู่ประเทศเหล่านั้น 
หนุนใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาราชการ แนะเสริมเทคโนโลยีเสริมกระบวนการ ยธ.
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การใช้สถาบันการศึกษาในการแก้ปัญหาเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าร่วมในการก่อเหตุร้าย หากเราดูช่วงอายุของผู้ก่อเหตุพบว่า มีเยาวชนอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้รับการศึกษา เมื่อให้การศึกษาแล้วเราก็ต้องให้ทักษะเพื่อเยาวชนในการประกอบอาชีพ
“เกี่ยวกับวัฒนธรรม หากเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น เรื่องภาษา เราต้องยอบรับว่าภาษาที่ใช้ในพื้นที่นั้นจะทำอย่างไรให้เป็นภาษาที่สามารถใช้ในการติดต่อราชการได้ เรื่องแบบนี้เราไม่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ผลที่ได้นับว่าคุ้ม” นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า
“ด้านกระบวนการยุตธรรมจะทำอย่างไรให้กระบวนยุติธรรมดำเนินไปได้ตั้งแต่ขั้นต้น ตั้งแต่การสืบสวนสอบสวน โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำงาน เพราะการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จะไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ และการทำงานต้องเป็นเอกภาพด้วย” 
ทบทวน ต่อ พรก.ฉุกเฉิน ต้องการลดกำลังพล หนุนแก้ไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ 
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ในพื้นที่เพราะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็สับสน เช่นการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา หากการต่อแล้วนอกจากสถานการณ์ดี หากเราสามารถลดจำนวนกำลังพลได้ด้วยจะเป็นการดี เพราะถือว่าการลดจำนวนงบประมาณด้วย ตรงนั้นต่างหากที่ถือว่าเราประสบความสำเร็จ นี่คือตัวชี้วัดที่สำคัญ 
“ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลไม่ได้กีดกั้นการทำงาน รัฐบาลให้อิสระ เช่นเรื่องการละเมิดสิทธิในพื้นที่และเรื่องโรฮิงญา ท่านผู้นำเหล่าทัพก็ตอบรับในเรื่องเหล่านี้ อะไรที่องค์กรสิทธิมนุษยชนรับข้อมูลที่ผิดพลาดเราต้องชี้แจง ส่วนไหนที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเราก็ฟังและพัฒนาให้ดีขึ้น เช่นกรณีท่านอิหม่ามยะพา เป็นตัวอย่างที่รัฐทำความผิดพลาดเราก็ต้องยอบรับและต้องลงโทษผู้กระทำผิด ผมก็ติดตามเรื่องของคุณสมชาย นีละไพจิต เราต้องให้ความมั่นใจในเรื่องนี้ว่ารัฐบาลให้ความสนใจ” นายอภิสิทธิ์กล่าวและสรุปในท้ายที่สุดว่า 
“ผมไม่สามารถจะตอบได้ว่ารัฐบาลนี้สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบต้องใช้เวลานานเพียงใด เพราะมีความไม่แน่นอนของระบบการเมือง แต่ผมอยากให้เป็นวาระแห่งชาติ ใครมาบริหารประเทศก็สามารถนำไปใช้ได้เลย” 

อัพเดทล่าสุด