คลังข้อสอบ คลังข้อสอบใหญ่ที่สุดในไทย วิชาการดอทคอม


1,082 ผู้ชม


คลังข้อสอบใหญ่ที่สุดในไทย วิชาการดอทคอม

           เป็นความตั้งใจของสามดอกเตอร์หนุ่ม ผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายกระทั่งปริญญาเอก ที่อยากจะคืนความรู้สู่สังคม

           "วิชาการดอทคอม" (www.vcharkarn.com) เว็บไซต์ดีเด่นด้านการศึกษาที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ตั้งแต่เว็บมาสเตอร์ทั้งสาม คือ ผศ.ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูมิ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิเชษ กิจธารา ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

           "ตอนนั้นพวกเราเรียนปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษ แต่อยู่กันคนละเมือง ผมอยู่ลอนดอน อรรถกฤตอยู่ที่เดอแรม ส่วนพิเชษอยู่เคมบริดจ์ หน้าหนาวปีนั้นระหว่างเรามาอยู่กันที่ลอนดอน คิดจะทำอะไรร่วมกันสักอย่างตอบแทนประเทศไทย เพราะเราได้ทุนเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม 4

           เราคิดถึงการอัพเดทเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ส่งกลับไปให้คนไทยได้รับรู้ เนื่องจากเราอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ ได้รับรู้เรื่องราวใหม่ๆ มากมาย และที่อังกฤษสื่อเยอะมาก ไม่ว่าทางทีวี ทางเว็บไซต์ แม้กระทั่งทางวิทยุ" บุญญฤทธิ์เริ่มต้นเรื่องหลังจากทุกคนมาพร้อมหน้าพร้อมตากันที่ห้อง 416 A ซึ่งภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เช่าพื้นที่ในราคาย่อมเยาว์สำหรับเป็นสำนักงาน

           อรรถกฤตบอกว่า "ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตเริ่มจะบูมสักพักหนึ่งแล้ว เป็นช่องทางที่ประหยัดที่สุด เพราะเราไม่มีทุนที่จะทำเป็นวารสาร และช่วงนั้นเริ่มมีนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตหมด เราก็เห็นว่าสักวันหนึ่งเมื่อนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ จะได้รับความรู้จากตรงนี้"

           ทั้งสามคนจึงเริ่มต้นจากการใช้พื้นที่ฟรีบนเว็บไซต์ของ Geocities และ Tripod นำบทความต่างๆ ที่พรรคพวกเพื่อนฝูงนักเรียนทุนที่ไปเรียนในแต่ละสาขาวิชาช่วยกันส่งเข้ามาให้ขึ้นโพสต์

           บุญญฤทธิ์ว่า "เริ่มมาได้พักหนึ่งมีคนให้ความสนใจมากอย่างไม่น่าเชื่อ ยอดตัวเลขขึ้นเป็นหลักร้อยต่อวัน สมัยนั้นถือว่ามากแล้ว จึงพยายามปรับปรุงเพิ่มขึ้นให้เป็นระบบอัตโนมัติ ให้คนเข้ามาโพสต์ได้ แต่ความที่มีพื้นที่จำกัด สุดท้ายก็เลยตัดสินใจกันลงขัน รวมเงินกันคนละ 400-500 ปอนด์ และไปขอมาจากเพื่อนๆ ที่รวยหน่อย เพราะบางคนนอกจากจะเรียนหนังสือแล้ว ยังไปเป็นผู้ช่วยสอน ผู้ช่วยวิจัย จนได้เงินก้อนหนึ่ง"

           https://www.vcharkarn.com/ จึงถือกำเนิดขึ้น มีอรรถกฤตทำหน้าที่ดูแลในส่วนของเนื้อหาบทความ ส่วนบุญญฤทธิ์และพิเชษดูด้านโปรแกรม ต่างคนต่างทำงานจากต่างเมือง โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลาง

           นอกจากบทความต่างๆ จะได้จากเครือข่ายเพื่อนๆ ที่ได้รับทุนจาก พสวท. ยังได้จากนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่และเข้ามาในอินเตอร์เน็ต ใครมีความรู้อะไรที่อยากเผยแพร่ก็ส่งกันเข้ามา อาทิ ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทค ดร.จริยา อุ่ยยะเสฐียร ดร.นิพาดา เรือนแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่เป็นคอลัมนิสต์กิตติมศักดิ์ให้ตั้งแต่แรกเริ่ม

           "บางคนจนถึงเดี๋ยวนี้ยังไม่เคยเจอหน้าเลยด้วยซ้ำ" บุญญฤทธิ์เล่าอย่างอารมณ์ดี และบอกว่าปัจจุบันบทความส่วนใหญ่ก็ยังได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สนิทๆ กันมีประมาณ 80-90 คน

           คอนเซ็ปท์เปลี่ยนไปบ้าง คือเนื้อหายังเป็นเรื่องวิชาการเชิงลึกบ้างถ้าเป็นไปได้ เขียนแบบเป็นทางการมากขึ้นจากที่เคยเขียนแบบเล่าให้พี่กันน้องกันฟัง แต่ยังอ่านง่ายเหมือนเดิม โดยเน้นความถูกต้องของเนื้อหาเพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงได้ เพราะไม่เพียงนักเรียนนักศึกษา แต่ยังมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเข้ามา

           ส่วนปัญหาคลิปโป๊ หรือข้อความล่อแหลมไปในเรื่องเพศนั้น อรรถกฤตบอกว่า ไม่ค่อยมี ส่วนหนึ่งเพราะชื่อ "วิชาการ" เป็นตัวกรองผู้เข้าชมได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยคนที่จะเข้ามาก็ต้องคิดอยากได้ความรู้ ฉะนั้นสิ่งที่เซ็นเซอร์จะเป็นเรื่องความถูกต้องทางวิชาการเสียมากกว่า

           กับข้อกล่าวหาที่ว่า วิชาการดอทคอมเฉลยการบ้านให้เด็ก อรรถกฤตบอกว่า เคยมีเด็ก ป.6 เข้ามาถามการบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ได้เฉลย แต่จะมีคนเข้ามาตอบคำถามให้ บางทีก็โดนโจมตีว่า เอาเนื้อหาขึ้นเว็บ เด็กก็ก๊อปเอาไปส่งครู จริงๆ แล้ว เราเพียงเสริมให้มีบรรยากาศในการเรียนรู้

           "เราเองก็ไม่อยากส่งเสริมเรื่องนี้ อยากให้เด็กทำการบ้านเองมากกว่า" อรรถกฤตว่า

           "ถ้าผมเป็นเด็ก พอเห็นชื่อ วิชาการดอทคอม ผมก็คงเข้ามาถามการบ้าน" พิเชษให้ความเห็นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง

           ไม่แปลกที่วิชาการดอทคอม ได้รับรางวัล Winner of 2004 Thai Webmaster Award สาขาเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ดีเด่น  
           วันนี้ด้วยความสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ความฝันที่จะส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนไทย เป็นจริงขึ้นมาอีกก้าว โดยการเปิด vExam คลังข้อสอบที่ใหญ่ที่สุดของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบเอ็นทรานซ์ เอเน็ต โอเน็ต ข้อสอบโอลิมปิควิชาการ ข้อสอบสำหรับสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เตรียมอุดม ฯลฯ สามารถเข้ามาดูมาฝึกปรือฝีมือได้ที่นี่

           อรรถกฤตบอกว่า ปัจจุบันนักเรียนทุกคนก็ใช่ว่าจะเข้าอินเตอร์เน็ตได้ แต่ที่เราเน้นตรงนี้เพราะวันหนึ่งอาจจะอีก 10 ปี 20 ปี ทุกคนก็จะเข้าได้

           ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์คือ ครูที่อยู่ต่างจังหวัด อยู่นอกเมือง เพราะครูบางคนอาจจะไม่ได้จบฟิสิกส์มา แต่ต้องสอนฟิสิกส์พื้นฐาน เรามีฐานข้อมูลแบบฝึกหัด อีกหน่อยเราจะมีฐานข้อมูลสื่อการสอน มีโปรแกรมต่างๆ ช่วยครูให้ได้รู้เทคนิคในการอธิบายการสอน

           "เดี๋ยวนี้เด็กๆ ต้องใช้ต้นทุนในการเรียนมหาศาล เรียนพิเศษคอร์สหนึ่งเป็นพันบาท แถมยังต้องไปต่อคิวเรียน เด็กต่างจังหวัดแทบจะไม่ได้ไปกวดวิชา และสมัยนี้ไม่ได้วัดที่สมอง แต่วัดที่โอกาส นี่เป็นความคิดหนึ่งที่เราพยายามจะผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา จึงพยายามขยายจากการเสนอข่าวสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ มาทำหน้าที่คล้ายๆ กับห้องสมุด

           อย่างเรื่องฐานข้อมูลข้อสอบนี่ พิเชษมีไอเดียมาตั้งแต่ตอนสร้างเว็บไซต์แล้ว แต่ติดที่เราไม่มีเงินลงทุน อย่างที่พิเชษบอกว่าต้องใช้เงิน 5 ล้าน แต่จริงๆ เราใช้ไม่ถึง" อรรถกฤตแจง

           ก่อนหน้านี้เราได้รับเงินสนับสนุนจาก พสวท. 2 แสนบาทต่อปี เป็นเวลา 4-5 ปี ทำให้วิชาการดอทคอมอยู่ได้ แต่เราพัฒนาไม่ได้ เพราะการจะลงทุนสร้างฐานข้อมูล อย่างเรื่องข้อสอบ ต้องใช้เงินทุนเป็นล้าน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าจะทำฐานข้อมูลข้อสอบสัก 5 หมื่นข้อ ต้องจ้างคนพิมพ์ จ้างคนเฉลยข้อละ 100 บาท ก็คือ 5 ล้านบาท มันเกินกำลังที่ พสวท.จะสนับสนุนแน่นอน

           บุญญฤทธิ์บอกว่า ต้องขอบคุณ บริษัท ปตท.ที่เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมด้านการศึกษาจึงให้เงินสนับสนุนมา ทำให้ความคิดที่จะทำเป็นคลังข้อสอบ โดยรวบรวมข้อสอบทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ที่นี่ พร้อมคำเฉลยอย่างละเอียดจากนักวิชาการระดับประเทศให้เข้าไปดูได้ฟรี เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

           "โครงการนี้ช่วยลดช่องว่างเยอะมากระหว่างคนที่อยู่ในกรุงเทพฯกับคนที่อยู่ต่างจังหวัด และคนรวยกับคนจน ซึ่งนอกจากการที่เราทำงานอยู่ใน 3 มหาวิทยาลัย คือ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมหิดล และยังมีพรรคพวกนักเรียนทุนที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในสถาบันต่างๆ อีกมากมาย เป็นกองหนุน"

           "หลังจาก ปตท.เข้ามาสนับสนุนทำให้มียอดผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น 100% จากที่เคยเข้ามา 1.5 หมื่นยูนีคไอพี (Unique IP) คือนับที่จำนวนเครื่องที่เข้ามาในระบบ ปีนี้มีมากถึง 3 หมื่นยูนีคไอพีต่อวัน

           "ตอนนี้ส่วนที่เปิดแล้วคือ คลังข้อสอบ ซึ่งจะมีการปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาต่อไปอีก เช่น ในส่วนของบทเรียน เราก็จ้างผู้มีความรู้เข้ามาช่วยเขียนเติมได้ และจะมีวิดีโอคลิปและสื่อการสอนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มข้อมูลในเรื่องราวที่เกี่ยวกับพลังงาน คือในส่วนของ vEnergy เพราะใครจะรู้เรื่องน้ำมันดีไปกว่าคนขาย และเราก็มีนักวิชาการของเราอยู่แล้วด้วย" 
           อรรถกฤตบอกว่า วิชาการดอทคอมเริ่มต้นจากการเป็นเว็บบอร์ดและบทความ แต่ช่วงหลังเราพยายามไม่วางตำแหน่งเป็นเว็บบอร์ด แต่พยายามสร้างเนื้อหาที่เป็นห้องสมุดวิชาการ กึ่งๆ วิกิพีเดีย แต่เนื้อหาเข้มกว่าเพราะเขียนโดยนักวิชาการสาขานั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าในเนื้อหาส่วนนี้ต้องลงทุน

           เช่นเดียวกับบุญญฤทธิ์ที่ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ใช้อินเตอร์ในเน็ตในประเทศไทยมีน้อย ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความรู้ในประเทศไทยก็มีอยู่ยิ่งน้อยลงไปอีก และยิ่งคนที่อยากเผยแพร่ความรู้ยิ่งมีน้อยมากๆ จึงเป็นการยากที่จะเกิดคอมมูนิตี้แบบวิกิพีเดียในเมืองไทย 

           เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการศึกษา เนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ตัวโปรแกรม พวกเราก็เลยต้องลงทุนมหาศาล เพราะตอนนี้ระบบเราเซ็ตมาทางนี้ถูกแล้ว และก็มีนักศึกษาหลายๆ คนเข้ามาช่วย ต่อไปที่จะต้องทุ่มคือ เนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอ เราจะอาศัยแบบตอนเริ่มต้นว่าทุกคนมาช่วยกันทำหน่อยนะ ย่อมเป็นไปไม่ได้

           ปัจจุบันเรามีเนื้อหาประมาณ 8 หมื่นหน้าได้กระดาษ คนข้างนอกอาจจะมองว่าวิชาการดอทคอมมีคลังข้อมูลมหาศาล แต่เราอยู่ข้างในเราว่ามีไม่เยอะ

           บุญญฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า "วิชาการดอทคอม" ตอนนี้จัดเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งด้านวิชาการ ที่จัดอันดับโดยเนคเทค แต่เราเป็นอันดับ 40 เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ทั้งหมด แสดงว่า 39 เว็บไซต์ที่อยู่หน้าเราไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวกับวิชาการ

           "อินเตอร์เน็ตของเราตอนนี้ค่อนข้างจะเละ เราไม่มีการจัดหมวดหมู่ที่ชัดเจน หลายๆ เว็บไซต์ที่อยากจะเสนอข่าวสาร เรื่องการเรียน ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนล้วนๆ แต่จะมีเรื่องดารา ภาพผู้หญิง ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเพศ ถ้าจะบอกว่าเป็นกุศโลบายดึงดูดให้คนเข้ามาดู เพราะต้องการโฆษณาเข้ามาช่วย แต่คนเข้ามาส่วนใหญ่ก็จะติดกับกุศโลบายนั้น

           ปัญหาหลักๆ คือ ไม่มีการแบ่งโซนนิ่งบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย" อรรถกฤตกล่าวย้ำ ทั้งเป็นการตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมผู้ปกครองหลายๆ คนจึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเมื่อเห็นลูกๆ ขลุกอยู่กับคอมพิวเตอร์

           ถามว่าเด็กที่เข้ามาในเว็บไซต์นี้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนกวดวิชาหรือ? พิเชษบอกว่า เราอยากให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วโรงเรียนกวดวิชาให้อะไรอีกตั้งหลายอย่างนอกจากการสอบ คืออาจจะให้เทคนิคการเรียน ให้สูตรพิเศษ ซึ่งวิชาการดอทคอมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น

           "เราอยากจะให้เด็กที่ไม่มีเงิน เลือกที่จะไม่เรียนพิเศษ แล้วมานั่งตอบข้อสอบบนเว็บไซต์เรื่อยๆ

           แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นแฟชั่น พอขาดความมั่นใจในการทำข้อสอบ ก็หันไปหาเรื่องเทคนิค จนลืมเนื้อหาจริงๆ ของการเรียน เราต้องการลดช่องว่างตรงนี้ และบอกให้รู้ว่าคุณมีทางเลือกอื่นนะ คุณสามารถสร้างความเข้าใจได้ด้วยตนเอง"

           พิเชษบอกต่ออีกว่า บ้านเรายังมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ด้านการศึกษาจริงๆ น้อยมาก ที่พอจะมีคนเข้าไปเกิน 1,000 คน มีประมาณ 20-30 เว็บไซต์ เมื่อมีน้อยก็เลยถูกสิ่งยั่วยวนบังตา

           "แม้กระทั่งตัวสื่อเองก็มีไม่น้อยที่พอมีข่าวข่มขืน จะเลือกภาพที่ล่อแหลมมาประกอบ หรือแม้แต่ข่าวธรรมดาๆ แต่ใช้ภาพประกอบที่คนเห็นแล้วอาจจะหื่นขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งอันตราย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะไม่มีงบประมาณจึงต้องหาวิธีการดึงดูดคนเข้ามาดู รัฐบาลน่าจะยื่นมือเข้าไปสนับสนุนบ้าง เพื่อให้อยู่รอดได้บ้าง แทนที่จะเลือกไปทางด้านมืด" พิเชษกล่าวสรุป

           vExam นับเป็นนิมิตหมายอันดีของอนาคตของชาติ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศในปัจจุบันจะยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต แต่ถือเป็นการเตรียมการเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษานอกห้องเรียนให้เข้าถึงได้ในคนทุกระดับ 
ข้อมูลและภาพประกอบจาก 
ข่าวสด

อัพเดทล่าสุด