เรียงความวันแม่
พูดถึง พ.ญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ หลายคนอาจนึกถึงภาพ หมอพรทิพย์ ผ่าศพ ที่แต่งตัวตามแฟชั่น ทันสมัยไม่ตกเทรนด์ ในมือถือมีด คอยไขปริศนาทางการสืบสวนให้กระจ่าง ผ่านทางร่างกายของผู้เสียชีวิตแล้ว นั่นคือ ภาระของผู้หญิงคนนี้ แต่อีก "ภาระ" หนึ่ง ที่เธอทำมาตลอด 17 ปี และไม่มีวันที่จะละทิ้งไปได้ ก็คือ "ภาระของความเป็น แม่ " นั่นเองหมอพรทิพย์ เล่าเรื่องราวก่อนที่เธอจะก้าวเข้าสู่บทบาท "ความเป็น แม่ " ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน เธอกับสามี (วิชัย โรจนสุนันท์) ที่แต่งงานกันมาแล้วกว่า 10 ปี ก็ยังไม่ได้ลูกสมใจ จนเกือบจะเลิกหวังไปแล้ว แต่แล้วก็เหมือนฟ้าประทาน ที่ส่งเด็กหญิงตัวน้อยๆ มาให้ครอบครัวของคุณหมอสมใจ และตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของชีวิต หมอพรทิพย์ ก็เริ่มต้นขึ้น
น้องเท็น หรือ ญารวี โรจนสุนันท์ วัย 17 ปี คือ บุคคลที่ฟ้าส่งมาทดสอบบทบาทหน้าที่ " แม่ " ของคุณ หมอพระทิพย์ ซึ่งการที่มีน้องเท็นนั้น ทำให้คุณหมออดหวนนึกไปเมื่อครั้งที่แม่และพ่อเลี้ยงดูตัวคุณหมอเองไม่ได้ โดยคุณ หมอพรทิพย์ บอกว่า เธอเป็นลูกสาวคนโต เติบโตมาในครอบครัวชั้นกลาง ที่อยู่กันพร้อมหน้า แม้จะไม่ได้ร่ำรวย แต่พ่อแม่ก็ส่งเสียให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ และอบรมให้เป็นคนดี โดยพ่อกับแม่มักสอนเสมอว่า เวลาเห็นอะไรไม่ดีอย่ามองว่าไม่ใช่ธุระ เช่น มีเศษแก้วตกอยู่ที่พื้นให้กวาด เพราะเดี๋ยวจะมีคนเดินเหยียบ หรือ เห็นเพดานประตูสูงอยู่ในระดับหัวคนก็ให้หาป้ายมาติดซะ เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่เดินชน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณหมอไม่เคยรั้งรอที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือสังคมในยามที่มีเหตุการณ์ร้ายต่างๆ เกิดขึ้น รวมทั้งทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนมากมาย แต่คุณหมอก็ไม่เคยละทิ้งหน้าที่และบทบาทของความเป็นลูกที่ดี รวมถึงการเป็นสุดยอดคุณแม่ให้กับน้องเท็นอีกด้วย
"แม่ของ หมอพรทิพย์ จากโลกนี้ไปนานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีน้องเท็น ท่านเป็นมะเร็งแล้วลามไปถึงสมองด้านซ้าย ทำให้ร่างกายด้านขวาเป็นอัมพฤกษ์ ไม่สามารถใช้งานได้ หมอเลยมีโอกาสได้ดูแลแม่อย่างเต็มที่ในช่วง 2 ปีสุดท้าย ก่อนที่ราจะจากกัน" หมอพรทิพย์ กล่าว
แน่นอนว่า คุณแม่ของ คุณ หมอพรทิพย์ ก็คือ แบบอย่างที่ดีที่สุดในการเลี้ยงดูน้องเท็น ซึ่งคุณ หมอพรทิพย์ ก็ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของ "แม่" และนำมาประยุกต์ใช้กับน้องเท็น
"ใครคิดว่าหมอดี หมออยากบอกว่า แม่ของหมอดีและยิ่งใหญ่กว่าหมอมาก ชนิดที่เทียบกันไม่ได้ สำหรับหมอ ขอแค่ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของแม่ก็ดีใจแล้ว"
ด้วยงานนิติเวชของ หมอทพรทิพย์ ทำให้ หมอพรทิพย์ ต้องเจอกับสถานการณ์กดดันหลายอย่าง บางครั้งคุณหมอก็เคยถูกขู่ฆ่ามาแล้ว จากผู้เสียผลประโยชน์ในบางคดีที่เธอต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เธอก็เก็บเรื่องนี้ไว้โดยไม่บอกให้ลูกรับรู้ว่า แม่ต้องเจอกับอะไรบ้าง อย่างที่แม่ของ คุณ หมอพรทิพย์ เคยเก็บความทุกข์ยากลำบากไว้ โดยที่ไม่ปริปากบอกลูกๆ เช่นกัน หรือวันไหนที่คุณหมอต้องเผชิญกับความกดดันมากๆ เธอก็จะร้องไห้กับตัวเอง โดยไม่ให้น้องเท็นเห็น แต่ด้วยข่าวคราวที่ออกผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์สึนามิ ก็สามารถทำให้น้องเท็นรับรู้ถึงสถานการณ์ตึงเครียดของผู้เป็นแม่ได้
"อย่างที่เขารู้สึกมากๆ ก็ตอนที่มีเหตุการณ์สึนามิ รมต.มหาดไทย ก็ส่งหมอลงไปที่พังงา แต่ปรากฎว่าที่พังงาคือสถานที่ที่เกิดเหตุหนักที่สุด พอเราลงพื้นที่ทำงานไปได้สักพัก ก็มีคนด่าเราออกหนังสือพิมพ์ หาว่าเราทำผิดกฎหมาย ไม่มีอำนาจ ไม่มีมาตรฐาน แล้วที่เจ็บที่สุดก็คือ หาว่าเราโกงเงิน 50-60 ล้าน ซึ่งไม่รู้ว่า เอาไปคิดกันได้อย่างไร น้องเท็นเขาก็เห็นใจ สงสารว่าทำไมแม่โดนจัง เขาจะรู้สึกว่าทั้งๆ ที่เราทุ่มเท ไม่มีความสบาย แถมยังอดไปเที่ยวก็พอแล้ว ทำไมต้องมาโดนแบบนี้ด้วย" หมอพรทิพย์ เล่าถึงเหตุการณ์กดดันที่เคยเจอ
นอกจากงานประจำที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้ว คุณหมอยังต้องลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งคุณหมอมองว่า แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่จริงๆ แล้วงานทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้ได้ เธอจึงตัดสินใจที่จะลงไปในพื้นที่ที่ทุกคนรู้กันดีว่า มีความเสี่ยงมากเพียงใด แน่นอนว่า สามีและลูกสาวยิ่งเป็นห่วงคุณหมอหลายเท่า
"ที่บ้านเขาก็ห่วงกัน แม้แต่น้องเท็น เห็นแรกๆ เขาก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องไปด้วย กระทั่งวันหนึ่ง แม่สามีเสียที่สุไหงโกลก กลางวันเขาไม่ให้อยู่ในพื้นที่ น้องเท็นก็เลยต้องมาตะลอนกับเรา พอเขาได้เห็นการทำงาน ความคิดเขาก็เปลี่ยน ทุกวันนี้เขาเข้าใจหมอมากกว่าพ่อเขาเสียอีก" คุณหมอกล่าวถึงลูกสาว
ด้วยงานที่รัดตัว ทำให้คุณหมอมีเวลาให้กับครอบครัวค่อนข้างน้อย แต่ทุกครั้งที่คุณหมอว่าง เธอจะไม่ยอมให้เกิดความบกพร่องต่อหน้าที่เด็ดขาด
"เวลาที่มีวันหยุดอยู่กับครอบครัว เราจะเอาลูกเป็นตัวตั้ง ถ้าเขาอยากไปไหน เราก็จะปรับตัวเข้าหาทันที เช่น ถ้าเขาไปตลาดนัด ไปห้างสรรพสินค้า เราก็จะไปเดินเป็นเพื่อน หรือถ้าเขาอยากกินอะไรเป็นพิเศษเราก็มีหน้าที่ไปหามาทำให้เขา ส่วนสามีหมอยังไงก็ได้ ขอให้ได้นั่งข้างๆ กันเป็นพอ"
หมอพรทิพย์ บอกว่า การได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก คือช่วงเวลาที่เธอรู้สึกมีความสุข และผ่อนคลายที่สุด ทุกวันนี้เธอเริ่มคิดถึงเรื่องการใช้ชีวิตเงียบๆ คอยประคับประคองและผลักดันคนอื่นขึ้นมาทำงานแถวหน้าแทนเธอ แต่คุณหมอก็ยังยืนยันว่า จะไม่หยุดทำงานเพื่อสังคม แม้วันที่เธอจะมีอายุ 70 แล้วก็ตาม
แม้การทำงานของคุณหมอ จะมีวันหยุดหรือไม่มีวันหยุดก็ตาม แต่อย่างไรเสีย บทบาทหน้าที่ของความเป็น "แม่" ของ คุณหญิงหมอพรทิพย์ ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันหยุดพัก แม้แต่วินาทีเดียว