วัฒนธรรมภาคใต้ “ ดิเกฮูลู”จุดเริ่มการกอบกู้เอกราชวัฒนธรรมภาคใต้


1,543 ผู้ชม


“ ดิเกฮูลู”จุดเริ่มการกอบกู้เอกราชวัฒนธรรมภาคใต้

 

วัฒนธรรมภาคใต้ “ ดิเกฮูลู”จุดเริ่มการกอบกู้เอกราชวัฒนธรรมภาคใต้

ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้แทบจะหายไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน สูญหายไปตามกาลเวลาโรยราและไม่นานคงตายไปกับคนเฒ่า คนแก่วัยชรา โดยมิได้แทกซึม สืบทอดมายังลูกหลาน ไม่ใช่เพราะอะไรหรอก เราก็รู้อยู่ว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้กลืนกินไปหมดแล้ว แม้กระทั่งเราเองก็ดี อย่าว่าแต่เยาวชนเลย วัฒนธรรมความงดงามการละเล่นของท้องถิ่นใต้ทุกอย่างสาบสูญหมดแล้วก็ว่าได้ทุกๆคนแทบจะไม่สนใจใยดี ศิลปะวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล มโนราห์,หนังตะลุง,เพลงบอก,ร็องแง็ง ก็แทบจะชมได้ยากสิ้นดี นับประสาอะไรกับดิเกฮูลู,นาซิส,สิละ,มะโย่งฯลฯ ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยรู้จักเอาเสียเลย  จนกระทั่งได้ดูละครเรื่อง”เหนือทรายใต้ฟ้า”ทางช่อง7 และทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับการละเล่นอันสวยงามของจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่ข้าพเจ้าเองก็เป็นคนในพื้นที่ ใช่ใครที่ไหน สร้างความประทับใจและตราตรึงเป็นอันมากในท่วงทำนองและจังหวะโยกของผู้แสดง จนดลใจให้ข้าพเจ้าเสาะหาVCDดิเกฮูลูแต่ถึงยังไงข้าพเจ้าคงไม่มีวันเข้าใจแม้ข้าพเจ้าจะเป็นมุสลิมแต่หาได้เข้าใจภาษามาลายูไม่

กระทั่งวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ณ ห้องรพีพรรณ อาคารบริหารชั้น1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการจัดโครการเผยแพร่วัฒนธรรมนานาชาติครั้งที่1(ดิเกฮูลู) ข้าพเจ้าคือหนึ่งคนเล็กๆในโครงการ ณ วันนั้นบรรยากาศโดยรวมถือว่างดงามและประทับใจเป็นอันมาก ซึ่งวันนั้นทางคณะผู้จัดงานได้เชิญวงดนตรีพื้นบ้านจากเมืองกางัรฺ รัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย,การแสดงดิเกฮูลูจากโรงเรียนชุมชนบ้านต้นสน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีและการร้องเพลงประสานเสียง(นาซีส)จากโรงเรียนบ้านตะโล๊ะไกรทอง อำเภอมายอ จังหวัดยะลา อีกทั้งมีการร่วมแจมการแสดงดิเกฮูลูจากโรงเรียนเทศบาล3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลารวมถึงการขึ้นร่วมแสดงของนักศึกษามหาวิทยลัยสร้างความสนุกสนานเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมหลายร้อยชีวิตจนกระหิ่มกึกก้องทั่งอาณาบริเวณ

ช่วงระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ข้าพเจ้าได้นั่งร่วมโต๊ะกับนักดนตรีจากมาเลเซียซึ่งเป็นโต๊ะอาหารเตรียมไว้สำหรับมุสลิม พูดคุยกันบ้างเท่าที่คุยรู้เรื่อง อย่างน้อยครั้งหนึ่งข้าพเจ้าก็เคยเรียนปอเน๊าะมา แม้ผลการเรียนเหมือนโต๊ะครูเข็นให้จบก็เอาเถอะ  โดยมีอาจารย์วนิดา เต๊ะหลง ร่วมโต๊ะด้วยก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์วนิดา เต๊ะหลง  และได้ขอความกรุณาช่วยเป็นล่ามสื่อสารระหว่างข้าพเจ้ากับวงดนตรีจากรัฐเปอร์ลิศ

อาจารย์วนิดา เต๊ะหลงเปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ให้ตนเป็นผู้ติดต่อไปยังสมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย เพื่อ เชิญชวนเข้าร่วมโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมนานาชาติครั้งที่ 1 ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงที่สุดและมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งทางสมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซียได้ตอบรับและเสนอ“กลุ่มศิลปินแผนกวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติมาเลเซีย  รัฐเปอร์ลิศ”มาร่วมทำการแสดง

คณะวงดนตรีพื้นบ้านจากเมืองกางัรฺ แห่งรัฐเปอร์ลิศเปิดเผยว่า ทางสมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซียได้ตอบรับและส่งพวกตนมา ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐอื่นของมาเลย์ แต่เนื้อหาสาระจะต่างกัน และได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ชายแดนใต้ของไทย “ถึงแม้มาเลเซียจะมี่เชื้อสายอยู่ 3 ชนชาติ คือมาเลย์,จีนและอินเดีย ซึ่งแต่ชนชาตินี้ต่างก็เปิดใจรับวัฒนธรรมของกันและกัน ถ้าไทยพยายามเปิดใจรับวัฒนธรรมที่ต่างอย่างเข้าใจ ก็จะสร้างให้เกิดสิ่งดีขึ้นได้เพื่อความสงบสันติสุข”  Li Calos และคณะกล่าว

ผศ.จิตราภรณ์ เชิดชูพงษ์ ประธานกรรมการศูนย์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ริเริ่มจัดโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมนนานาชาติเป็นครั้งแรก เล็งเห็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดคือมาเลเซีย จึงให้อาจารย์วนิดา เต๊ะหลง  เป็นผู้ติดต่อประสานงานไปยังสมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมนานาชาติ และเลือกที่จะเป็นดิเกฮูลูเพราะเป็นการละเล่นที่สนุกสนานและเป็นวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งโรงเรียนชุมชนบ้านต้นสน,โรงเรียนเทศบาล 3 และการประสานเสียงนาซีสของโรงเรียนบ้านตะโล๊ะไกรทอง ต่างก็ได้รับรางวัลการีนตีในความสามารถ โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์เผยแพร่เนื้อหา บทเพลงเช่นบทเพลงการกล่าวอาลัยสมเด็จพระพี่นางฯ เพื่อสื่อเนื้อหาให้สอดคล้องกับสังคมและเหตุการณ์ปัจจุบัน ด้วยไม่อยากให้วัฒนธรรมภาคใต้สูญสลายหายไปจากท้องถิ่น จึงพยายามสร้างแรงจูงใจ ถ้าทุกๆสถาบันหันมาส่งเสริม เยาวชนรู้จัก เข้าใจ ทำให้เขาเกิดความสนใจก็สามารถสืบทอดต่อกันไปได้โดยเริ่มต้นตั้งแต่การปลูกฝังเด็กในโรงเรียนผ่านการถ่ายทอดจากครู อาจารย์ให้เขาเล่นและสัมผัสจนเขารู้สึกซึมซับก็จะขยายไปสู่ผู้ปกครองของเด็กและรวมไปถึงชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย

อาจารย์อัมรา ตูแวแม อาจารย์ คศ.1 โรงเรียนชุมชนบ้านต้นสนเปิดเผยว่า ตนได้พยายามผลักดันเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเน้นให้เป็นกิจกรรมในโรงเรียน จะมีการสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น ภายในโรงเรียนชุมชนบ้านต้นสน เด็กนักเรียนจะตอบรับ“ดิเกฮูลู”ดีมาก จากเมื่อก่อนซึ่งไม่เป็นที่นิยม จนก้าวถึงการได้รับรางวัลชนะเลิศเขต 2 จังหวัดปัตานี 2 ปีซ้อน คือปี2549-2550

“อยากให้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สูญหายไปกลับคืนมาและพยายามถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมส่งต่อให้รุ่นต่อๆไป แต่เดิมนั้น”ดิเกฮูลู”จะนิยมร้องเป็นภาษามาลายุถิ่นปัตตานีแต่ปัจจุบันได้ประยุกต์เนื้อหามาเป็นสำเนียงใต้หรือภาษาไทยทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการลงตัวของจังหวะเป็นสำคัญ โดยสามารถสอดแทรกแนวคิดทางศาสนา,สังคม,วัฒนธรรมและความรุ้สึกนึกคิดที่สะท้อนไปในเนื้อเพลงอย่างลงตัว” อาจารย์อัมรา ตูแวแม กล่าว

อาจารย์ซาลีฮ๊ะ มูซอ และอาจารย์อาอีเซ๊าะ ลือแบซา เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนบ้านตะโล๊ะไกรทอง อำเภอมายอ จังหวัดยะลาสนับสนุนและส่งเสริมการร้องประสานเสียง(นาซัส)จนได้รับรางวัลชนะเลิศเขต 1 จังหวัดยะลา ปี2550, ชนะเลิศเขต 2 จังหวัดยะลา ปี 2551 อีกทั้งชนะเลิศการร้องประสานเสียง(นาซีส)ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้  ที่โรงเรียนจะมีการสอนหลายภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ,มาลายูลอาหรับ จึงได้คิดแนวทางการเรียนเพื่อไม่ให้เกิดการเบื่อหน่าย สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ภาษามาลายูและอาหรับผ่านการร้องประสานเสียง(นาซิส) ก่อให้เกิดความบันเทิงไปในตัว การแสดงเป้นหมู่คณะก็จะสร้างความสามัคคี เนื้อหาก็จะประกอบด้วยวิถีการดำเนินชีวิต การนำความดี ความงดงามของภาษาและแต่งตัวตามวัฒนธรรมท้องถิ่นนิยม ท่วาสามารถแทรกเนื้อหาเป็นภาษาไทยเข้าไปด้วยเพื่อสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ นอกเหนือจากที่ดนตรีสามารถสื่อสารด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ถึงแม้นว่าผู้คนส่วนใหญ่จะหลงๆลืมๆกับรากเหง้าของตัวเอง  แต่ยังมีกลุ่มคนส่วนหนึ่งจำนวนน้อยๆไม่เคยลดละความพยายามที่มีอุดมการณ์ที่จะกอบกู้เอกราชทางวัฒนธรรมของภาคใต้ที่หายสาบสูญไป รื้อฟื้นขึ้นมาปลูกฝังสืบทอดไปยังเยาวชนเป็นวิธีการที่จะให้เขาได้ซึมซับและสัมผัสศิลปะวัฒธรรมอันสวยงามของบรรพบุรุษ

คนเฒ่า คนแก่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาให้คงอยู่ต่อไป เราเคยถามตัวเองกันบ้างไหม เราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ลีมกำพืดของตัวเองหรือไม่  หรือเราจะทนมองวัฒนธรรมมาสิ้นสุดลงต่อหน้าต่อตาแล้วเราก็เหยียบย่ำและเดินข้ามมันไปอย่างไม่แยแส ลองคิดกันเอาเองดู ขนบ,ธรรมเนียม,วัฒนธรรม,ศิลปะและประเพณีที่เคยดำเนินมาตั้งแต่โบราณมาล่มจมในยุคเรา

 

อัพเดทล่าสุด