สารเคมีในชีวิตประจำวัน


1,156 ผู้ชม


สารเคมีในชีวิตประจำวัน

บทนำ

     ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องครัว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนบุคคล หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง เป็นต้น คุณเคยหยุดคิดสักนิดบ้างไหมว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ภายในบ้านเหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก โดยถ้านำไปใช้ เก็บ หรือทำลายทิ้ง อย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจติดไฟทำลายทรัพย์สินของคุณได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักใช้ เก็บ และทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้และใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย

ทำไมสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านจึงเป็นอันตราย
     ผลิตภัณฑ์สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านมีอันตราย โดยอย่างน้อยมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ เป็นพิษ กัดกร่อน ติดไฟได้ หรือทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ นํ้ายาทำความสะอาดทั่วไป ยาฆ่าแมลง สเปรย์ชนิดต่างๆ นํ้ายาขจัดคราบไขมัน นํ้ามันเชื้อเพลิง สีและผลิตภัณฑ์ที่ถูกทาสีมาแล้ว แบตเตอรี และหมึก ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่างๆเหล่านี้ส่วนมากถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่น้อยคงไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่มาก หรือในกรณีอุบัติเหตุ เช่น สารเคมีหกรดร่างกาย หรือรั่วออกจากภาชนะบรรจุ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย
     1. จัดเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆไว้ในที่ที่แห้งและเย็น ห่างจากความร้อน จัดวางบนพื้นหรือชั้นที่มั่นคง และเก็บให้เป็นระบบ ควรแยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ หรือเป็นพิษ ไว้บนชั้นต่างหาก และทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ควรจดจำให้ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน และแต่ละผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร เมื่อใช้เสร็จแล้วควรนำมาเก็บไว้ที่เดิมทันที และตรวจให้แน่ใจว่าภาชนะทุกชิ้นมีฝาปิดที่แน่นหนา ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าที่คุณคิด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่
     - ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น นํ้ายาเช็ดกระจก แอมโมเนีย นํ้ายาฆ่าเชื้อ นํ้ายาทำความสะอาดพรม นํ้ายาขัดเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสเปรย์ปรับอากาศ เป็นต้น
     - ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก นํ้ายาปรับผ้านุ่ม นํ้ายาฟอกสีผ้า เป็นต้น
     - ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น สเปรย์ใส่ผม นํ้ายาทาเล็บ นํ้ายาล้างเล็บ นํ้ายากำจัดขน นํ้ายาย้อมผม เครื่องสำอางอื่นๆ เป็นต้น
     - ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสวน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
     - ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว นํ้ายากันซึม นํ้ามันล้างสี เป็นต้น
     - ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ เช่น นํ้ามันเชื้อเพลิง นํ้ามันเบรค นํ้ามันเครื่อง นํ้ายาล้างรถ นํ้ายาขัดเงา เป็นต้น
     2. ผลิตภัณฑ์สารเคมีทุกชนิดต้องมีฉลากและต้องอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อ่านฉลากและทำตามวิธีใช้อย่างถูกต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉลากมีคำว่า “อันตราย (DANGER)”, “สารพิษ (POISON)”, “คำเตือน (WARNING)”, หรือ “ข้อควรระวัง (CAUTION)” โดยมีรายละเอียดอธิบายได้ดังนี้
     - อันตราย (DANGER) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจาง เมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลาย หรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ
     - สารพิษ (POISON) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสียชีวิต ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม คำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด
     - เป็นพิษ (TOXIC) หมายถึง เป็นอันตราย ทำให้อวัยวะต่างๆทำหน้าที่ผิดปกติไป หรือ ทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม
     - สารก่อความระคายเคือง (IRRITANT) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง หรืออาการบวมต่อผิวหนัง ตา เยื่อบุ และระบบทางเดินหายใจ
     - ติดไฟได้ (FLAMMABLE หรือ COMBUSTIBLE) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
     - สารกัดกร่อน (CORROSIVE) หมายถึง สารเคมี หรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อน ผุ หรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้
     3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เท่าที่ต้องการใช้เท่านั้น อย่าซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการใช้ เพราะเสมือนกับเป็นการเก็บสารพิษไว้ใกล้ตัวโดยไม่จำเป็น พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้หมดก่อนซื้อมาเพิ่ม ถ้ามีของที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเหลืออยู่ ควรบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป หรือไม่ก็ควรเก็บและทำฉลากให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉลากใกล้หลุดหรือฉีกขาด และควรทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เก่ามากๆ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
     4. เก็บให้ไกลจากเด็ก สารทำความสะอาด หรือ สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเก็บในตู้ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อาจล็อคตู้ด้วยถ้าจำเป็น สอนเด็กๆในบ้านให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ควรจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ใกล้กับโทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ เบอร์รถพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสารพิษ และแพทย์ประจำตัว
     5. ไม่ควรเก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
     6. ไม่ควรเก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ในบ้าน นํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือถังบรรจุก๊าซถ้าสามารถทำได้ไม่ควรนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน ถังบรรจุก๊าซควรเก็บไว้นอกบ้านในบริเวณใต้ร่มเงาที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ใกล้กับแหล่งของความร้อนหรือเปลวไฟ และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือภาชนะที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น
     7. เก็บสารเคมีไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านลงในภาชนะชนิดอื่นๆ ยกเว้นภาชนะที่ติดฉลากไว้อย่างเหมาะสมและเข้ากันได้กับสารเคมีนั้นๆโดยไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม นอกจากนี้ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีลงในภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ขวดนํ้าอัดลม กระป๋องนม ขวดนม เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำไปรับประทาน
     8. ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม
     9. ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทนสำหรับงานบ้านทั่วๆไป ตัวอย่างเช่น สามารถใช้ผงฟู และนํ้าส้มสายชูเทลงในท่อระบายนํ้า เพื่อป้องกันการอุดตันได้
     10. ทิ้งผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เทผลิตภัณฑ์ลงในดินหรือในท่อระบายนํ้าทิ้ง ผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ควรทิ้งลงในถังขยะหรือเทลงในโถส้วม ควรอ่านฉลากเพื่อทราบวิธีการทิ้งที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต

ทำอย่างไรให้ปลอดภัยขณะใช้สารเคมี
     1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษแทน
     2. อ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีการใช้ทุกครั้ง
     3. สวมถุงมือและเสื้อคลุมทุกครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้โดยการสัมผัสต่อผิวหนัง
     4. สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตา
     5. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์เมื่อใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ทินเนอร์ เป็นต้น
     6. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีถ้ารู้สึกวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ
     7. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในที่โล่งแจ้ง
     8. ห้ามสูบบุหรี่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้
     9. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์สารเคมีเอง เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน เกิดเป็นไอควันพิษหรืออาจระเบิดได้
     10. พบแพทย์ทันทีถ้าสงสัยว่าได้รับสารพิษหรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ภายในบ้าน

อัพเดทล่าสุด