วัฒนธรรมไทย ระดับของวัฒนธรรมไทย


6,164 ผู้ชม


ระดับของวัฒนธรรมไทย

               การแบ่งประเภทของวัฒนธรรมอาจแบ่งตามแบบสากลเป็น 2 ประเภท คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (วัฒนธรรมทางจิตใจ) แต่นักวิชาการวัฒนธรรมไทยได้แบ่งวัฒนธรรมไทยออกเป็น 3  ระดับ คือ

               1. วัฒนธรรมพื้นบ้าน หมายถึง วัฒนธรรมของประชาชนโดยทั่วไป ประชาชนหรือชาวบ้านกำหนดหรือสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นสังคมย่อยในสังคมไทย มีการแบ่งวัฒนธรรมย่อยออกเป็นกลุ่มตามลักษณะที่ตั้ง ได้แก่ วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมอีสาน วัฒนธรรมอีสานใต้ วัฒนธรรมภาคกลางตอนบน วัฒนธรรมภาคกลาง วัฒนธรรมภาคใต้ตอนบน วัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่าง (5 จังหวัดชายแดนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม)

               นอกจากนั้นยังมีบางท่านแบ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านตามประวัติความเป็นมาของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น วัฒนธรรมไทยลาว วัฒนธรรมไทยมอญ วัฒนธรรมไทยเขมร วัฒนธรรมไทยอิสลาม วัฒนธรรมไทยคริสต์ และวัฒนธรรมไทยกะเหรี่ยง เป็นต้น

               2. วัฒนธรรมประจำชาติ หมายถึง วัฒนธรรมที่รัฐกำหนดและมอบหมายให้คนไทยในชาติประพฤติปฏิบัติร่วมกัน เช่น ภาษาไทย ประกอบด้วยภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นต่างๆ (เหนือ ใต้ อีสาน) ภาษาประจำชาติคือภาษาไทยกลางที่ใช้ในราชการ วัฒนธรรมประจำชาติคือวัฒนธรรมร่วมของคนทุกหมู่เหล่า จึงมันเป็นผลงานการสร้างสรรค์และเผยแพร่วัฒนธรรมคือ ราชสำนักและวัด (วัด-วัง)

               3. วัฒนธรรมสากลหรือวัฒนธรรมนานาชาติ หมายถึง วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมยอมรับกันทั่วไปอย่างกว้างขวาง อาจจะมีกำเนิดมาจากต่างประเทศหรือต่างทวีป วัฒนธรรมสากลหรืออารยธรรมที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกก็ว่าได้ เช่น การแต่งกายชุดสากล การเล่นดนตรี แนวคิดแบบมนุษยนิยม การค้าเสรี การปกครองแบบประชาธิปไตย การมีภรรยาเพียงคนเดียว ฯลฯ วัฒนธรรมที่เป็นสากลนี้ส่วนใหญ่จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางโลก ตะวันตก ซึ่งเป็นซีกโลกที่เจริญด้วยวิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งยังเคยขยายอิทธิพลมาครอบงำโลกตะวันออก รวมทั้งประเทศไทยจึงยอมรับวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาจากโลกตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของตน ลักษณะเช่นนี้ทำให้วัฒนธรรมหลาย ๆ ด้านของโลกตะวันตกกลายเป็นวัฒนธรรมสากล

               วัฒนธรรมไทยได้รับการสร้างสรรค์จากบรรพบุรุษของคนไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คือการรับวัฒนธรรมจากภายนอกมาปรับใช้ในเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคม และค่านิยมของคนไทยจนในที่สุดวัฒนธรรมจากภายนอกเหล่านั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไทย

               วัฒนธรรมไทยมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานจนถึงปัจจุบันมีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจของคนไทย คือ

                        1)  มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรมเป็นองค์ประมุข

                        2)  มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

                        3)  มีอักษรไทยและภาษาไทย

                        4)  มีประเพณีไทย

                        5)  มีวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต

                        6)  มีศิลปกรรมไทย

                        7)  มีจรรยามารยาทและจิตใจแบบไทย

8)   มีการพักผ่อนหย่อนใจแบบไทย

9)   อาหารไทย

               ลักษณะเด่นเหล่านี้ เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทยที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ

                        1)  คนไทยจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์

                        2)  คนไทยรับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะพระพุทธศาสนาไม่มีลักษณะบังคับเชื่อ และไม่เดียดฉันท์ความเชื่ออื่นหรือศาสนาอื่น

                        3)  อักษรไทยและภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยภาคภูมิใจที่เรามีอักษรของเราเองใช้มาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 (รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

                        4) ประเพณีไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนความกตัญญู ความสนุกสนานร่าเริง ฯลฯ

                        5)  วัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย

                        6)  ศิลปกรรมไทย อันได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ ล้วนเป็นศิลปะที่เป็นที่สนใจยอมรับในหมู่คนต่างวัฒนธรรม และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

                        7)  จรรยามารยาทและจิตใจของคนไทยที่มีความสุภาพอ่อนโยน  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีน้ำใจ   ให้อภัย ยิ้มแย้มแจ่มใจ เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม

อัพเดทล่าสุด