การอ่าน เทคนิคการอ่าน อ่านอย่างมีประสิทธิภาพ


5,431 ผู้ชม



แนะนำเทคนิคการอ่าน เพื่อให้ทุกท่านมีการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
การอ่านคือการรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์หรือในหนังสือ เป็นการรับรู้ว่าผู้เขียนคิดอะไรและพูดอะไร โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจถ้อยคำแต่ละคำเข้าใจวลี เข้าใจประโยค ซึ่งรวมอยู่ในย่อหน้า เข้าใจแต่ละย่อหน้า ซึ่งรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน 
การอ่านเป็นการบริโภคคำที่ถูกเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือหรือสัญลักษณ์ การอ่านโดยหลักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการที่ แสงตกกระทบที่สื่อ และสะท้อนจากตัวหนังสือผ่านทางเลนส์นัยน์ตา และประสาทตาเข้าสู่เซลล์สมอง ไปเป็นความคิด (Idea) ความรับรู้ (Perception) และก่อให้เกิดความจำ (Memory) ทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว
กระบวนการอ่าน มี 4 ขั้นตอนนับตั้งแต่ขั้นแรก การอ่านออก อ่านได้ หรืออ่านออกเสียงได้ถูกต้อง ขั้นที่สองการอ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของคำ วลี ประโยค สรุปความได้ ขั้นที่สามการอ่านแล้วรู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และออกความเห็นในทางที่ ขัดแย้งหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนอย่างมีเหตุผล และขั้นสุดท้ายคือการอ่านเพื่อนำไปใช้ ประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ที่อ่านได้และอ่านเป็นจะต้องใช้กระบวนการทั้งหมด ในการอ่านที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการถ่ายทอด ความหมายจากตัวอักษรออกมาเป็นความคิด และจากการคิดที่ได้จากการอ่านผสมผสานกับประสบการณ์เดิม และสามารถความคิด นั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป 
คุณค่าของการอ่าน วัตถุประสงค์ในการอ่านของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป เช่น อ่านเพื่อความรู้, อ่านเพื่อให้เกิดความคิด, อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อความจรรโลงใจ, เป็นต้นซึ่งผู้อ่านจำเป็นต้องทราบจุดมุ่งหมายของการอ่านนั้นๆ ไว้ก่อนการอ่านทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการอ่านมีความสำคัญ ต่อชีวิตที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการช่วยให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน การอ่านมีความจำเป็นต่อการศึกษาเล่าเรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ คนที่เรียนหนังสือเก่งมักจะเป็นคนที่อ่านหนังสือเก่ง เพราะการอ่านช่วยให้ได้รับความรู้และความเข้าใจ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จและสามารถศึกษาต่อในระดับสูงได้ การอ่านมีคุณค่าต่อมนุษย์ เนื่องจาก เป็นการสนองความต้องการของมนุษย์,ทำให้มนุษย์เกิดความรู้, ยกระดับสติปัญญาให้สูงขึ้น, ทำให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์, พัฒนาความคิดให้ก้าวหน้า, ส่งผลต่อการพัฒนาในอาชีพ, ทำให้มนุษย์ทันต่อเหตุการณ์, ได้รับความรู้เพิ่ม, ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน, ช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้, ช่วยพัฒนาจิตใจให้งอกงาม ช่วยขจัดความทุกข์ ความเศร้าหมอง, การอ่านทำให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม, เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้รับความเพลิดเพลินและพักผ่อนหย่อนใจ 
การเตรียมพร้อมเพื่อการอ่าน
การอ่านจะดำเนินไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และองค์ประกอบที่อยู่ภายในร่างกาย การอ่านท่ามกลาง บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งประสิทธิและประสิทธิผลในการอ่าน ทั้งนี้ควรคำนึงถึง
1. การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม สถานที่ที่เหมาะกับการอ่านควรมีความเงียบสงบ ตัดสิ่งต่างๆที่รบกวนสมาธิออกไป มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม มีโต๊ะที่มีความสูงพอเหมาะและเก้าอี้ที่นั่งสบายไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป
2. การจัดท่าของการอ่าน ตำแหน่งของหนังสือควรอยู่ห่างประมาณ 35-45 เซนติเมตร และหน้าหนังสือจะต้องตรงอยู่กลาง สายตา ควรนั่งให้หลังตรงไม่ควรนอนอ่านทั้งนี้เพื่อให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการรับรู้ จดจำ และอ่านได้นาน
3. การจัดอุปกรณ์ช่วยในการอ่าน การอ่านอาจมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กระดาษสำหรับบันทึกดินสอ ปากกา ดินสอสี
4. การจัดเวลาที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาที่ต้องมีการทบทวนบทเรียนควรอ่านหนังสือในช่วงที่เหมาะสมคือช่วงที่ที่ไม่ดึก มาก คือตั้งแต่ 20.00 – 23.00 น. เนื่องจากร่างกายยังไม่อ่อนล้าเกินไปนัก หรืออ่านในตอนเช้า 5.00-6.30 น. หลังจากที่ร่างกายได้รับ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ในการอ่านแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 50 นาทีและให้เปลี่ยนแปลงอิริยาบถสัก 10 นาทีก่อนลงมืออ่านต่อไป
5. การเตรียมตนเอง ได้แก่การทำจิตใจให้แจ่มใส มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และมีสมาธิในการอ่าน นอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพอ มีสุขภาพสายตาที่ดี ตัดปัญหารบกวนจิตใจให้หมด การแบ่งเวลาให้ถูกต้อง และมีระเบียบวินัยในชีวิตโดยให้เวลา แต่ละวันฝึกอ่านหนังสือ และพยายามฝึกทักษะใหม่ๆในการอ่านเช่น ทักษะการอ่านเร็วอย่างเข้าใจ เป็นต้น
การเลือกสรรวัสดุการอ่าน 
การเลือกสรรวัสดุการอ่าน ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการอ่าน เช่นการอ่านเพื่อการศึกษา การอ่านเพื่อหาข้อมูล ประกอบการทำงาน การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อฆ่าเวลา การรู้จักเลือกวัสดุการอ่าน ที่มีประโยชน์จะช่วยให้ผู้อ่าน ได้รับประโยชน์ตามเป้าหมาย การเลือกสรรวัสดุการอ่านมีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้ทรัพยากรสารนิเทศในห้องสมุด เช่น
1. การอ่านเพื่อความรู้ เช่น ตำราวิชาการ
2. การอ่านเพื่อความบันเทิงใจ
3. การอ่านเพื่อเป็นกำลังใจ เสริมสร้างปัญญา เช่น หนังสือจิตวิทยา หนังสือธรรมะ
4. การอ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
เมื่อเลือกวัสดุการอ่านหรือหนังสือได้แล้ว ก็จะต้องกำหนดว่าต้องการอะไรข้อมูลในลักษณะใดจากหนังสือ เล่มนั้น ขอบเขต ของข้อมูลในลักษณะกว้างหรือแคบแต่ลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อกำหนดรูปแบบการอ่านเพื่อความต้องการต่อไป
การกำหนดจุดมุ่งหมายการอ่าน
การรู้ความมุ่งหมายในการอ่านเปรียบเหมือนการรู้จุดหมายปลายทางของการเดินทาง ทำให้สามารถเตรียมพร้อมสำหรับ สถานการณ์ต่าง ๆ และเดินทางไปสู่ที่หมายได้ นักอ่านที่ดีควรมีจุดมุ่งหมายว่าต้องการอ่านเพื่ออะไร เพื่อจะได้กำหนดวิธีอ่านได้ เหมาะสมการอ่านเพื่อการศึกษาค้นคว้าและทำรายงาน มีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. อ่านเพื่อความรู้พื้นฐาน เป็นการอ่านเพื่อรู้เรื่องโดยสังเขป หรือเพื่อลักษณะของหนังสือ เช่น การอ่านเพื่อ รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่จะใช้ในการค้นคว้าและเขียนรายงาน
2. อ่านเพื่อรวบรวมข้อมูล เป็นการอ่านให้เข้าในเนื้อหาสาระ และจัดลำดับความคิดได้ เพื่อสามารถรวบรวม และบันทึกข้อมูลสำหรับเขียนรายงาน
3. อ่านเพื่อหาแนวคิด หมายถึงการอ่านเพื่อรู้ว่าสิ่งที่อ่านั้นมีแนวคิดหรือสาระสำคัญอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ในลักษณะใด เช่น การอ่านบทความ และสารคดีเพื่อหาหัวข้อสำหรับเขียนโครงร่างรายงาน
4. อ่านเพื่อวิเคราะห์หรือวิจารณ์ คือการอ่านเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งพอที่จะนำความรู้ไปใช้ หรือแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ เรื่องที่อ่านได้ เช่น การอ่านบทความที่แสดงความคิดเห็น การอ่านตารางและรายงาน 
วิธีการอ่านที่เหมาะสม
การอ่านมีหลายระดับ และมีวิธีการต่าง ๆ ตามความมุ่งหมายของผู้อ่าน และประเภทของสื่อการอ่าน การอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเขียนรายงาน อาจใช้วิธีอ่านต่าง ๆ เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การอ่านผ่าน การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุป ความและการอ่านวิเคราะห์ 
ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การอ่านสำรวจ คือ การอ่านข้อเขียนอย่างรวดเร็ว เพื่อรู้ลักษณะโครงสร้างของข้อเขียน สำนวนภาษา เนื้อเรื่องโดยสังเขป เป็นวิธีอ่านที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกสรรสิ่งพิมพ์ สำหรับใช้ประกอบการค้นคว้า หรือการหาแนวเรื่องสำหรับเขียนรายงาน และรวบรวมบรรณานุกรมในหัวข้อที่เขียนรายงาน
2. การอ่านข้าม เป็นวิธีอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจเนื้อหาของข้อเขียน โดยเลือกอ่านข้อความบางตอน เช่น การอ่านคำนำ สาระสังเขป บทสรุป และการอ่านเนื้อหาเฉพาะตอนที่ตรงกับความต้องการเป็นต้น
3. การอ่านผ่าน เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา (Scanning Reading) โดยผู้อ่านจะทำการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายในข้อเขียนเช่น คำสำคัญ ตัวอักษร หรือ สัญลักษณ์ แล้วอ่านรายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่ 
4. การอ่านจับประเด็น หมายถึง การอ่านเรื่องหรือข้อเขียนโดยทำความเข้าใจสาระสำคัญในขณะที่อ่าน มักใช้ในการอ่าน ข้อเขียนที่ไม่ยาวนัก เช่น บทความ การอ่านเร็ว ๆ หลายครั้งจะช่วยให้จับประเด็นได้ โดยการอ่านมีเทคนิคคือต้องสังเกตคำสำคัญ ประโยคสำคัญที่มีคำสำคัญ และทำการย่อสรุปบันทึกประโยคสำคัญไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
5. การอ่านสรุปความ หมายถึง การอ่านโดยสามารถตีความหมายสิ่งที่อ่านได้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจเรื่องอย่างดี สามารถแยก ส่วนที่สำคัญหรือไม่สำคัญออกจากกัน รู้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น ส่วนใดเป็นความคิดหลัก ความคิดรอง การอ่านสรุป ความมีสองลักษณะคือ การสรุปแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละตอน และสรุปจากทั้งเรื่อง หรือทั้งบท การอ่านสรุปความควรอย่างอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งพอให้รู้เรื่อง แล้วอ่านละเอียดอีกครั้งเพื่อเข้าใจเรื่องอย่างดี หลักจากนั้นตั้งคำถามตนเองในเรื่องที่อ่านว่าเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องราวอย่างไร แล้วเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสำนวนภาษาของผู้สรุป
6. การอ่านวิเคราะห์ การอ่านเพื่อค้นคว้าและเขียนรายงานโดยทั่วไปต้องมีการวิเคราะห์ความหมายของข้อความ ทั้งนี้เพราะ ผู้เขียนอาจใช้คำและสำนวนภาษาในลักษณะต่าง ๆ อาจเป็นภาษาโดยตรงมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ภาษาโดยนัยที่ต้องทำความเข้าใจ และภาษาที่มีความหมายตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องคำศัพท์และสำนวนภาษาดี มีประสบการณ์ ในการ อ่านมากและมีสมาธิในการอ่านดี ย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ตรงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ และสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดี

จากคุณ : มีแต่กระทู้ไร้สาระ 

อัพเดทล่าสุด