การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


932 ผู้ชม


 วัฒนธรรมและประเพณี 
การท่องเที่ยวนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดการสร้างงาน อันนำมาซึ่งรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศแล้ว ยังเป็นส่วน หนึ่งที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประกอบด้วยปัจจัยหลาย ประการ แต่ที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย เรียงรายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
 
   
 
  1. ประเภทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ำตก ชายหาด ทะเล และเกาะแก่ง
  2. ประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ศาสนสถาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีวัตถุ ประสงค์ในการสร้าง และอายุ รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็น ทรัพยากรอันมีค่าทางการท่องเที่ยวของประเทศ
  3. ประเภทศิลปวัฒนธรรม กิจกรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น
 
 จะเห็นได้ว่า นอกจากทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติประเภทที่ 1 แล้ว ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวประเภท ที่ 2 และ 3 นั้นมีรากฐานมาจาก "วัฒนธรรมและประเพณี" ทั้งสิ้น 
   
 ความหมายของวัฒนธรรม 
   
 มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า "วัฒนธรรม" ไว้มากมาย แต่เมื่อพิจารณาถึงสาระสำคัญแล้ว สรุปได้ว่า "วัฒนธรรม" หมายถึง "แบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละกลุ่ม เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วม กันอย่างปกติสุขในสังคม" วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากร ต่างๆ ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมคือ เป็นการสั่งสมความคิด ความเชื่อ วิธีการ จากสังคมรุ่นก่อน ๆ มีการเรียนรู้ และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ วัฒนธรรมใดที่มีรูปแบบ หรือแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเลือนหายไป 
   
 วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นชาติให้ปรากฏชัดเจนขึ้น ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นทำให้คนไทย แตกต่างจากชาติอื่น ๆ มีเอกลักษณ์ประจำชาติที่เห็นได้จากภาษาที่ใช้ อุปนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนการ แสดงออกที่นุ่มนวล อันมีผลมาจากสังคมไทยที่เป็นสังคมแบบประเพณีนำ และเป็นสังคมเกษตรกรรม เนื่องจาก ประชากรส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบท สภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดี กล่อมเกลาจิตใจมีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดมา 
   
 หากแบ่งวัฒนธรรมด้วยมิติทางการท่องเที่ยวแล้ว จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 
   
 วัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม หมายถึงสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ไม่สามารถมองเห็น หรือจับต้องได้ เป็นการแสดงออกในด้าน ความคิด ประเพณี ขนบธรรมเนียม แบบแผนของพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มของ ตนว่าเป็นสิ่งที่ดีงามเหมาะสม เช่น ศาสนา ความเชื่อ ความสนใจ ทัศนคติ ความรู้ และความสามารถ วัฒนธรรม ประเภทนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด วัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม ขึ้นได้ และในบางกรณีอาจพัฒนาจนถึงขั้นเป็น อารยธรรม (Civilization) ก็ได้ เช่น การสร้างศาสนสถานในสมัยก่อน เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นโบราณสถาน ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 
   
 หากพิจารณาความหมาย และลักษณะของวัฒนธรรมที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทที่ 2 เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมที่มีตัวตน เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดเจน ส่วนประเภทที่ 3 มีสภาพแรกเริ่มมาจากแนวความคิด ความเชื่อและวิถีชีวิต ซึ่งเป็นนามธรรม แต่ได้มีการพัฒนาจนมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบขึ้นมา ทำให้นัก ท่องเที่ยวสามารถสัมผัสทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทนี้ได้โดยตรง 
   
 จึงเห็นได้ชัดเจนว่า วัฒนธรรมที่เป็นแนวความคิด ความเชื่อ เป็นนามธรรมล้วน ๆ แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ถือว่าเป็น ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว วัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น จึงจะสามารถพัฒนาให้เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวได้ ตัวอย่างวัฒนธรรมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวประเภทโบราณสถาน อุทยาน ประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน โบราณวัตถุ งานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ การละเล่นพื้นบ้าน เทศกาลและงาน ประเพณี งานศิลปหัตถกรรมที่พัฒนามาเป็นสินค้าประจำท้องถิ่น ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และอัธยาศัยไมตรีของ คนไทย ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย เป็นเสมือนตัวเสริมการท่องเที่ยวให้มีความ สมบูรณ์ เป็นจุดเด่นหรือจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ เพิ่มความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะมีทรัพยากรประเภทศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ก็มีการผสมผสานสอดคล้องเป็นวัฒนธรรมไทย ได้อย่างกลมกลืน 
   
 แหล่งท่องเที่ยวประเภทโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งศาสนสถาน หรือโบราณวัตถุและ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ แสดงอดีตความเป็นมาของชาติไทย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมี อายุ 3-4 พันปีมาแล้ว โดยมีหลักฐานเป็นแหล่งโบราณคดีกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ต่อมาในยุคสมัยประวัติ ศาสตร์ อาณาจักรของชนชาติไทยก็รวมกลุ่มเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เป็นลำดับ ระยะเวลาอันยาวนานนี้ ทำให้มีการสั่งสมความเจริญทางวัฒนธรรมแต่ละยุคแต่ละสมัย ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด 
   
 แหล่งศิลปกรรมที่มีคุณค่ายิ่งเหล่านี้ นอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ ประเทศอีกด้วย บางแห่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมระยะแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นในโลก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนัก โบราณคดี ได้แก่ แหล่งชุมชนโบราณที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะกลุ่ม นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจพิเศษ (Special Interest Group) 
   
 ในภูมิภาคเดียวกับแหล่งชุมชนโบราณบ้านเชียง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวในรูปของสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ เป็น ปราสาทที่ก่อสร้างด้วยอิฐหรือหิน มีอาณาเขตกว้างขวาง การจัดองค์ประกอบรูปทรงเป็นระเบียบ มีการกำหนดรูป แบบทางภูมิสถาปัตย์ที่สวยงาม ตลอดจนการจำหลักลายที่ประณีตละเอียดอ่อน ปราสาทที่สำคัญ ได้แก่ ปราสาทหิน พิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ 
   
 ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ มีปราสาทที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชฌนาลัย จ.สุโขทัย และอุทยาน ประวัติศาสตร์ จ.กำแพงเพชร ภาคใต้มีหลักฐานของชุมชนโบราณที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด อารยธรรมอันเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของโลก 
   
 ความหมายของประเพณี 
   
 
  • ประเพณี มีความหมายรวมถึง แบบความเชื่อ ความคิด การกระทำ ค่านิยม ทัศนคติ ศีลธรรม จารีต ระเบียบ แบบแผน และวิธีการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนถึงการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ที่กระทำกันมาแต่ใน อดีต ลักษณะสำคัญของประเพณี คือ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติเชื่อถือมานานจนกลายเป็นแบบอย่างความคิด หรือการ กระทำที่สืบต่อกันมา และยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน
  • ประเพณีเกิดจากความเชื่อในสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น อำนาจของดินฟ้าอากาศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุต่าง ๆ ฉะนั้น ประเพณี คือ ความประพฤติของคนส่วนรวมที่ถือกันเป็นธรรมเนียม หรือ เป็นระเบียบแบบแผน และสืบต่อกันมาจนเป็นพิมพ์เดียวกัน และยังคงอยู่ได้ก็เพราะมีสิ่งใหม่เข้ามาช่วยเสริม สร้างสิ่งเก่าอยู่เสมอ และกลมกลืนเข้ากันได้ดี
  • ประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติที่เห็นว่าดีกว่า ถูกต้องกว่า หรือเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ใน สังคมและมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา 
  • ประเพณี คือ ความประพฤติที่สืบต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในหมู่คณะ เป็นนิสัยสังคม ซึ่ง เกิดขึ้นจากการที่ต้องเอาอย่างบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตน หากจะกล่าวถึงประเพณีไทยก็หมายถึง นิสัยสังคม ของคนไทยซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาแต่ดั้งเดิมและมองเห็นได้ในทุกภาคของไทย 
  • ประเพณี เป็นเรื่องของความประพฤติของกลุ่มชน ยึดถือเป็นแบบแผนสืบต่อกันมานาน ถ้าใครประพฤตินอก แบบ ถือเป็นการผิดประเพณี เป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติอีกอย่างหนึ่ง โดยเนื้อหาสาระแล้ว ประเพณี กับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กลุ่มชนในสังคมร่วมกันสร้างขึ้น แต่ประเพณีเป็นวัฒนธรรมที่มีเงื่อนไขที่ค่อนข้าง ชัดเจน กล่าวคือเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นเป็นมรดก คนรุ่นหลังจะต้องรับไว้ และปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งมีการเผยแพร่แก่คนในสังคมอื่น ๆ ด้วย
 
 ชนิดของประเพณี 
   
 ประเพณีแบ่งตามลักษณะของความเข้มงวดในการที่จะต้องปฏิบัติตาม เป็น 3 แบบด้วยกัน คือ 
   
 
  1. จารีตประเพณี หรือ กฎศีลธรรม (Mores) คือ ประเพณีที่สังคมถือว่าถ้าใครฝ่าฝืนงดเว้นไม่ กระทำตามถือ ว่าเป็นความผิด จารีตประเพณีเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของคนส่วนรวมในสังคมไทย เช่น การแสดงความ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นต้น 
    จารีตประเพณี หรือกฎศีลธรรมของแต่ละแห่งย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมีค่านิยม (Value) ที่ยึดถือต่าง กัน ดังนั้น ถ้าบุคคลใดนำจารีตประเพณีของตนไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นว่าดีหรือเลวกว่าตนก็เป็นการ เปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เพราะสภาพหรือสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเชื่อต่าง ๆ ย่อมต่างกันไป เช่น เรา เคารพผู้ที่อาวุโสกว่า แต่ชาวอเมริกันรักความเท่าเทียมกัน 
  2. ขนบประเพณี (Institution) บางครั้งเรียกว่าระเบียบประเพณี หมายถึงประเพณีที่สังคมกำหนด ระเบียบ แบบแผนไว้อย่างชัดว่า ควรจะประพฤติปฏิบัติเป็นขั้นตอนอย่างไร เช่น ประเพณีแต่งงานต้องเริ่มตั้งแต่การ หมั้น การแต่ง ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีพิธีมากมายสำหรับคู่บ่าวสาวต้องปฏิบัติตาม หรือพิธีศพ ซึ่งจะต้องเริ่ม ตั้งแต่มีการรดน้ำศพ แต่งตัวศพ สวดศพ เผาศพ เป็นลำดับ 
  3. ธรรมเนียมประเพณี (Convention) หมายถึง ประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน หากมี การฝ่าฝืนก็ ไม่ถือเป็นเรื่องผิด นอกจากจะเห็นว่าเป็นผู้เสียมารยาทเท่านั้น ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนขนบประเพณี
  ขนบธรรมเนียมประเพณี   
 เป็นคำที่ใช้เรียกรวมกัน ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่หมู่คณะในสังคมหนึ่ง ๆ นิยมประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องสืบกันมาเป็น เวลานาน จนยึดถือกันในจิตใจว่าต้องปฏิบัติเช่นนั้น จึงจะเกิดความสุขความเจริญ 
   
 ขนบธรรมเนียม 
   
 ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมีอยู่มากมายหลายประการ เช่น ผู้น้อยต้องมีความเคารพผู้ใหญ่ มีความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แสดงความเคารพกันด้วยการยกมือไหว้หรือกราบ ทำการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยม เยียนตามสมควร ผู้ชายไทยต้องทำงานหนักกว่าผู้หญิง ต้องประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องกล้าหาญ ต้องเป็นผู้ นำครอบครัว ควรศึกษาพระธรรมโดยบวชเป็นพระภิกษุอย่างน้อยหนึ่งพรรษา ผู้หญิงต้องแต่งกายมิดชิด เลี้ยงลูก จัดบ้านเรือนและปรุงอาหาร มีกิริยามารยาทเหมาะสมตามโอกาส 
   
 ประเพณี 
   
 ประเพณีทั่วไป คือ ประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติโดยทั่วไปทุกภาคของประเทศ อาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด เช่น 
   
 
  • ประเพณีแต่งงาน 
    คือวิธีปฏิบัติก่อนที่หญิงชายจะอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากัน เมื่อหญิงชายรักกัน โดยผู้ปกครองของทั้ง สองฝ่ายทราบแล้ว ฝ่ายชายจะจัดหาผู้ใหญ่ที่นับถือหรือบิดามารดา ไปทำการสู่ขอผู้หญิงจากผู้ปกครอง ทั้งนี้โดยมีการนัดแนะไว้ล่วงหน้า เมื่อตกลงกันแล้วฝ่ายชายต้องมอบของมีค่าให้ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นของ หมั้น เช่น แหวนเพชร เงิน สายสร้อยทองคำ หรือของมีค่าอื่น ๆ ต่อจากนั้นก็จะทำพิธีแต่งงานกัน โดย ทั้งสองฝ่ายอาจเลี้ยงพระหรือใส่บาตรร่วมกัน และเชิญแขกที่เป็นญาติมิตรมารดน้ำอวยพร ส่วนมากจะ เลี้ยงอาหารแก่แขกที่เชิญด้วย แล้วจดทะเบียนแต่งงานเพื่อให้สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่เดิมนั้นหญิงชาย มักจะหมั้นกันไว้ก่อนเป็นเวลานานก่อนจะแต่งงานกัน แต่ปัจจุบันมีการหมั้นและแต่งงานพร้อมกันในวัน เดียว 
  • ประเพณีลงแขก
    คือการรวมคนเพื่อช่วยทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จอย่างรวดเร็วทันเวลา เช่น การลงแขกเกี่ยว ข้าว เมื่อมีงานที่ต้องการลงแขกเจ้าของงานต้องไปบอกเพื่อนบ้านและนัดเวลากัน เมื่อถึงเวลาบ้านที่ถูกขอ แรงจะส่งคนไปช่วยลงแขกบ้านละคน ฝ่ายเจ้าของงานก็จะทำอาหารหวานคาวเลี้ยงคนที่มาช่วยทำงาน ด้วย ซึ่งในระหว่างเกี่ยวข้าว ยังมีการละเล่นร้องรำทำเพลงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรมาช่วยในการทำงาน 
  • ประเพณีทำศพ
    คือการปฏิบัติต่อผู้เสียชีวิต โดยญาติเป็นผู้บอกและเชิญให้ญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ตลอดจนมิตรสหาย และผู้ที่นับถือทราบการจัดงานศพ พิธีจะเริ่มด้วยการอาบน้ำศพหรือรดน้ำลงที่มือศพ เพื่อแสดงว่าเป็น การทำความสะอาดศพ ผู้ที่รดน้ำศพควรขอขมาต่อผู้เสียชีวิตด้วยหากเคยโกรธเคืองกันมาก่อน ต่อจาก นั้นจึงเอาศพใส่โลงให้มิดชิด แล้วตั้งไว้ไม่เกิน 7 วันเป็นส่วนมาก เพื่อให้มีการสวดพระอภิธรรมและทำ บุญให้ผู้เสียชีวิต จากนั้นจึงทำพิธีเผาศพและเก็บกระดูกไว้ในที่อันสมควร หากไม่เผาเพราะญาติพี่น้อง ไม่พร้อมก็จะเก็บไว้ในที่บรรจุที่วัดก่อน รอจนพร้อมแล้ว (ส่วนมาก 1 ปี) จึงทำการเผา ผู้ที่ไปในงานศพ ควรแต่งกายไว้ทุกข์ 
  • ประเพณีทำบุญตักบาตร
    การทำบุญ คือการปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนความดีให้แก่จิตใจของเรา ซึ่งสามารถทำได้หลายอย่าง แต่การ ทำบุญอย่างหนึ่งที่ทำได้สะดวกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็คือ การตักบาตร เวลาเช้าพระสงฆ์จะอุ้มบาตรไปตาม ถนนหรือซอยต่าง ๆ ผู้ที่จะตักบาตรจะถือขันข้าว อาหารคาวหวานและดอกไม้ธูปเทียน คอยอยู่หน้าบ้าน เมื่อพระสงฆ์ผ่านมาก็จะนิมนต์ให้หยุด พอพระเปิดฝาบาตร ผู้ที่ตักบาตรก็ตักข้าวใส่ลงในบาตรพร้อม ทั้งอาหารอื่น ๆ สำหรับดอกไม้ธูปเทียนนั้นหากจะใส่ด้วยพระจะหงายฝาบาตรขึ้นรับไว้ การ ใส่บาตรจะใส่พระกี่รูปก็ได้ และใส่อาหารมากน้อยเท่าใดก็ได้ แต่ควรเป็นอาหารที่ทำสุกแล้ว 
  • ประเพณีทำบุญบ้าน
    ประเพณีที่คนไทยนิยมปฏิบัติกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำบุญบ้านหรือสถานที่ทำงาน โดยเจ้า ของงานจะไปติดต่อพระที่วัดล่วงหน้าก่อนวันงานประมาณ 1 หรือ 2 วัน จะนิมนต์พระ 5 หรือ 9 รูปไป สวดมนต์ที่บ้าน เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้วเจ้าของบ้านจุดธูปเทียนปักไว้หน้าพระพุทธรูป ต่อจากนั้นจะขอ ให้พระให้ศีล 5 และสวดมนต์ หลังจากนั้นเจ้าของบ้านก็นำอาหารมาเลี้ยงพระ อาจถวายยา ดอกไม้ธูป เทียนหรือปัจจัยแก่พระสงฆ์ด้วย พระจะสวดให้พรอีกครั้งและประพรมน้ำมนต์จึงเสร็จพิธี 
  • ประเพณีบวชนาค
    คนไทยมีประเพณีประจำชาติอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือการบวชนาค ซึ่งมีความเชื่อกันว่า เมื่อผู้ชายอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว ควรเข้าบวชในพุทธศาสนาชั่วระยะหนึ่ง เป็นกี่วันกี่เดือนหรือกี่ปีก็ได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้ ถูกอบรมให้เป็นให้เป็นคนที่มีจิตใจดีงาม และรู้จักบาปบุญคุณโทษ โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองและผู้ที่จะ บวช จะต้องไปหาเจ้าอาวาสของวัดที่จะบวชเสียก่อน 1 หรือ 2 สัปดาห์ และแจ้งความประสงค์ให้ทราบ เจ้าอาวาสก็มอบให้พระรูปใดรูปหนึ่งในวัดเป็นผู้สอนให้ผู้บวชขานนาคอยู่ประมาณ 4 ถึง 5 วันจนขาน ได้ เมื่อก่อนจะถึงวันบวช 1 หรือ 2 วัน ผู้บวชก็จะไปหาพระที่จะนำบวชซึ่งเรียกว่า พระอุปัชฌาย์ เมื่อรับ ทราบเวลาที่จะทำพิธีต่าง ๆ ในวันก่อนถึงวันบวชนั้นส่วนมากจะมีพิธีทำขวัญนาค โดยมีญาติและมิตร สหายพร้อมหน้าโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ พอรุ่งขึ้นก็นำนาคไปที่วัด ซึ่งเจ้าของงานส่วนมากมักจะจัด ขบวนแห่จากบ้านไปวัด เมื่อถึงวัดก็จะแห่นาครอบโบสถ์ 3 รอบและนำเข้าโบสถ์ ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์อื่น ๆ ก็จะดำเนินการตามระเบียบของสงฆ์ต่อไป 
  • ประเพณีขึ้นปีใหม่
    คนไทยเราถือกันว่าปีหนึ่งมี 12 เดือน ซึ่งนับอย่างไทยก็เริ่มที่เดือนอ้ายเดือนยี่เดือนสามเรื่อยไปจนถึง เดือนสิบสอง เมื่อสมัยก่อนคนไทยเรานับวันขึ้นปีใหม่ในเดือนห้า (เมษายน) แต่ในปัจจุบันได้กำหนดวัน ขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เดือนมกราคมตามแบบสากล คนไทยเราถือว่าปีใหม่เป็นปีที่เราหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า เดิมในทุก ๆ ทาง ดังนั้นเมื่อถึงวันปีใหม่ เรานิยมทำบุญโดยการตักบาตร ไปอวยพรญาติและมิตรสหาย ขอพรจากผู้ใหญ่ และบางแห่งจัดงานเลี้ยงฉลองกัน 
  • ประเพณีตรุษสงกรานต์
    สงกรานต์กระทำกันในระหว่างวันที่ 13, 14, 15 ของเดือนเมษายน แต่เดิมประเพณีสงกรานต์มีขึ้น เพื่อต้อนรับพระอาทิตย์ ซึ่งส่องแสงและให้ความอบอุ่นแก่โลก ต่อมาชาวไทยถือว่าเป็นงานเพื่อระลึกถึงปู่ ย่าตายาย และเป็นงานรื่นเริงในฤดูร้อนพร้อมกันไปด้วย เมื่อถึงวันสงกรานต์ประชาชนชาวไทยทั้งหญิง และชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะพากันไปวัดในตอนเช้า พร้อมทั้งนำอาหารและดอกไม้ธูปเทียนไปถวายพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว หรือนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้าน ต่อจากนั้นจะมีการ สรงน้ำพระพุทธรูปประจำบ้านเรือนและที่วัด แล้วมีการนำน้ำหอมไปรดญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งอวยพร ให้ผู้รดมีความสุขความเจริญด้วย นอกจากนั้นก็มีการสาดน้ำกันด้วยความสนุกสนาน ในวันสงกรานต์เรา มักทำความสะอาดแท่นบูชาพระ บ้านเรือนที่อาศัย รวมทั้งคอกสัตว์เลี้ยง การปฏิบัติในประเพณี สงกรานต์เท่าที่กล่าวมานี้เป็นการปฏิบัติของส่วนรวมโดยทั่วไป แต่ที่จริงแล้วในแต่ละท้องถิ่นยังมีการ ปฏิบัติปลีกย่อยเพิ่มเติมอีกมาก 
 
 ประเพณีท้องถิ่น นอกจากประเพณีทั่วไปที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเพณีประจำภาคหรือประเพณีท้องถิ่นซึ่งมีอยู่มากมายอีกด้วย เช่น 
   
 
  • ภาคกลาง
    ประชาชนในภาคกลาง ซึ่งรวมถึง 4 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ตราด และ ระยอง ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามประเพณีทั่วไปเหมือนภาคอื่น ๆ แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติม ไปเป็นพิเศษ เช่น ประเพณีสงกรานต์ โดยทั่วไปแล้วมีการสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพ นับถือ และการเล่นสาดน้ำ แต่ในจังหวัดภาคกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ได้มีการ ปฏิบัติที่แตกต่าง เช่น มีการทำบุญใส่บาตรตอนเช้า กลางวันมีการเลี้ยงพระด้วยข้าวแช่ มีการจัดขบวน แห่ปลาไปปล่อยในแม่น้ำลำคลอง นอกจากนั้นยังมีการเล่นสะบ้า รำมอญซ่อนผ้า และแม่ศรีเรือน เป็นต้น บางแห่งจะมีการจัดขบวนแห่แข่งขันไปก่อพระเจดีย์ทรายในวัด ส่วนชาวไทยรามัญในจังหวัดปทุมธานี จะจัดตั้งศาลเพียงตาขึ้นทุกบ้าน และทำข้าวแช่ไปถวายวัด พร้อมกับการแบ่งไว้บนศาลเพียงตาด้วย เพื่อ เซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเรือนต่างๆ และที่จังหวัดตราดมีการทรงผีควาย ทรงผีกระด้ง และเล่น สะบ้ากัน 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    งานประเพณีของชาวอีสานยึดหลักของ "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" "ฮีตสิบสอง" หมายถึง จารีตประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติในรูปของงานบุญทั้ง 12 เดือน ได้แก่ เดือนเจียงหรือเดือนอ้าย จะมีงาน "บุญเข้า กรรม" เดือนยี่ "งานบุญคูนลาน" เดือนสาม "งานบุญข้าวจี่" เดือนสี่ "งานบุญพระเวส" เดือนห้า "งาน บุญสรงน้ำหรือสงกรานต์ " เดือนหก "งานบุญบั้งไฟ" เดือนเจ็ด "งานบุญซำฮะ" เดือนแปด "งานบุญ เข้าพรรษา" เดือนเก้า "งานบุญข้าวประดับดิน" เดือนสิบ "งานบุญข้าวสากหรือกระยาสารท" เดือนสิบ เอ็ด "งานบุญออกพรรษา" เดือนสิบสอง "งานบุญกฐิน" 
    ส่วนคำว่า "คองสิบสี่" และ "ฮีตบ้านคองเมือง" หมายถึงครรลองคลองธรรม หรือแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ 14 ประการ เช่น ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ตื่นแต่เช้ามาใส่บาตร ห้ามเดินเหยียบเงาพระ สงฆ์ ให้กราบไหว้บิดามารดา เก็บดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระและหมั่นฟังธรรมทุกวัน เป็นต้น ส่วน "คองเมือง" เป็นกฎที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องยึดถือ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการปกครอง 
    ประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสองที่เป็นงานสำคัญที่สุด คือ ประเพณีบุญพระเวส หรือการเทศน์มหาชาติซึ่งจัดทำขึ้นในเดือน 4 คือเดือนมีนาคม วัดใดจะทำบุญพระเวสก็จะมีการประชุมอุบาสกและอุบาสิกาเพื่อ ตกลงเรื่องการจัดงาน และตกแต่งศาลาโรงธรรมด้วยกระดาษสี และธงสีต่าง ๆ ใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยและ ทางมะพร้าวมาจัดแต่งเป็นซุ้ม ในวันรวม (คือวันก่อนเทศน์ 1 วัน) อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายจะไปรวมกัน ที่วัดเพื่อทำพิธีมนต์พระอุปคุต และแห่พระเวสสันดรกับนางมัทรีเข้าเมือง ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเทศน์ อุบาสกอุบาสิกาจะไปที่วัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไปจน ครบ 13 กัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เทศน์เป็นทำนองพื้นเมืองเมื่อจบกัณฑ์หนึ่ง ๆ จะมีการบรรเลงด้วยฆ้อง กลอง และระนาด พระภิกษุที่เทศน์กัณฑ์ใดก็รับปัจจัยที่จัดมาของกัณฑ์นั้น ที่พิเศษอีกอย่าง คือชาวบ้าน จะจัดอาหารซึ่งมีขนมจีนเป็นหลักเลี้ยงทุกคนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีที่น่าสนใจอีก หลายงานซึ่งได้รับการสนับสนุนจนเป็นงานที่มีชื่อเสียงของประเทศ 
  • ภาคใต้
    มีประเพณีที่เป็นที่โดยเด่นเป็นเอกลักษณ์เช่นกัน โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ได้แก่ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสารทเดือนสิบ ของ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางพุทธ ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมในอดีต งานแข่งโพนลากพระ จ.พัทลุง เทศกาลกินเจ จ.ภูเก็ตและตรัง งาน สมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี หรืองานประเพณีเล็ก ๆ อย่างประเพณีลอยเรือชาวเล ที่เกิดจาก ความเชื่อของชาวเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล และอีกหลายพื้นที่ในภูเก็ต พังงา และกระบี่ 
  • ภาคเหนือ
    ประเพณีที่สำคัญของภาคเหนือ คือ งานปอยหลวง คำว่า "ปอย" แปลว่า ฉลอง คำว่า "หลวง" แปลว่า ใหญ่โต งานปอยหลวงจึงแปล ว่า งานฉลองที่ยิ่งใหญ่ งานนี้จัดขึ้นเพื่อฉลองวัดวาอาราม เช่น สร้าง กุฏิใหม่ ศาลาการเปรียญใหม่ ซ่อมเจดีย์เสร็จ เป็นต้น กำหนดจัดงานขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน มิถุนายนเป็นเวลา 7 วัน โดยวัดที่มีงานปอยหลวงจะบอกบุญให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และวัด ต่าง ๆ ในจังหวัดทราบ (เรียกว่าแจกใบฎีกาแผ่หน้าบุญ) เมื่อวัดต่างๆ ทราบแล้วก็บอกให้ชาวบ้านในเขต ของตน ทำเครื่องไทยทานมารวมกัน แล้วจัดเป็นขบวน มีเครื่องดนตรี เช่น ฆ้อง กลองยาว ฉาบ ฉิ่ง ปี่ ทำการประโคมแห่แหนฟ้อนรำเป็นขบวนครัวทานไปยังวัดเจ้าของงาน พร้อมทั้งมีการประกวดขบวน ครัวทานของแต่ละวัดด้วย เครื่องครัวทานที่จัดมานั้นจะมอบไว้ให้วัดที่เป็นเจ้าของงาน 
 
   
 

เทศกาลและงานประเพณี
เทศกาล หมายถึง ช่วงเวลาที่กำหนดไว้เพื่อจัดงานบุญและงานรื่นเริงในท้องถิ่น เป็นการเน้นไปที่การกำหนดวัน เวลา และโอกาสที่สังคมแต่ละแห่งจะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโดยมีฤดูกาลและความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเทศกาลและงานประเพณี
ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา พิธีกรรมทางศาสนาจึงแทรกอยู่ในเทศกาลและงานประเพณีเป็นส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่พิธีกรรมในแต่ละขั้นตอนของชีวิต พิธีกรรมหรือกิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพทางเกษตรกรรมและอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทางการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
เทศกาลและงานประเพณีของไทยยังสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ได้รูปแบบที่มีความเป็น เอกลักษณ์ดั้งเดิม มากที่สุด รวมทั้งมีเนื้อหาที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวด้วย ได้แก่

  • เทศกาล หรือ ประเพณีที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
     ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับพืชผลทางเกษตรกรรม มีทั้งอาหารผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ เช่น งานวันลิ้นจี่ จ. เชียงราย งานวันลำไย จ.ลำพูน ลางสาด จ.อุตรดิตถ์ งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จ.เชียงใหม่ งานเทศกาล ไหม จ.ขอนแก่น เป็นต้น
  • เทศกาล หรือ ประเพณีที่ผสมผสานการละเล่นพื้นเมืองกับความเชื่อทางศาสนา
    เป็นงานที่เน้นกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ งานแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี งานวันสารทเดือนสิบ จ. นครศรีธรรมราช งานประเพณีกินเจ จ.ภูเก็ตและตรัง เป็นต้น สำหรับงานที่เน้นกิจกรรมการละเล่น ได้แก่ งาน ยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ งานแข่งเรือยาว จ.น่าน พิจิตร และพิษณุโลก งานเผาเทียนเล่นไฟ จ.สุโขทัย งานไหลเรือไฟ จ.นครพนม งานบุญบั้งไฟ จ.ยโสธร งานแสดงช้าง จ.สุรินทร์ งานว่าวสนามหลวง กรุงเทพฯ งานแข่งเรือกอ และ จ.นราธิวาส 
  • เทศกาล หรือ ประเพณีที่แสดงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
     ได้แก่ งานสัปดาห์สะพานแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี งานแสดงแสงเสียงอยุธยามรดกโลก จ.พระนครศรี อยุธยา งานนบพระเล่นเพลง จ.กำแพงเพชร เป็นต้น 
  • เทศกาล หรือ ประเพณีที่แสดงศิลปวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มชน
     ได้แก่ งานแห่ผีตาโขน จ.เลย งานประเพณีบุญกำฟ้า จ.นครสวรรค์ งานโยนบัว จ.ปทุมธานี และ สมุทรปราการ งานปล่อยเต่า จ.ภูเก็ต และพังงา

ที่มา https://thai.tourismthailand.org/about-thailand/about-thailand-43-1.html


อัพเดทล่าสุด