กระบี่-กระบอง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระบี่ - กระบอง - หมายถึง การแสดง การเล่น การฝึก การต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธโบราณของไทยเราที่ใช้ต่อสู้ป้องกันตัว ป้องกันประเทศในสมัยก่อน โดยทำเลียนแบบอาวุธจริง เป็นไม้ โลหะ หนังสัตว์ เช่น ดาบ หอก ง้าว ดั้ง เขน โล่ ไม้ศอกสั้น เป็นต้น
ความเป็นมาของ กระบี่ - กระบอง
ชาติไทยเป็นชนชาติที่มีการต่อสู้ ศึกสงครามเพื่อป้องกันประเทศ รักษาความเป็นเอกราชของแผ่นดินที่ยาวนานชนชาติหนึ่ง คนไทยในยุคแรก ๆ ที่เริ่มก่อตั้งแผ่นดินสุวรรณภูมิแหลมทองมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษในยุคดังกล่าวได้อาศัยสติปัญญา ความกล้าหาญ และใช้อาวุธนานาชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่นและกองทัพเข้าต่อสู้ป้องกันมาโดยตลอด เริ่มจากกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์ กระบี่กระบอง ชาติไทยเป็นชาติที่รักสงบมากกว่าที่จะคิดเบียดเบียนใคร ความที่เป็นชาติที่รักสงบจึงมักถูกรังแกอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้คนในชาติสมัยก่อนต้องดิ้นรนช่วยตัวเองทั้งชายและหญิง บรรดาทหารกล้าตลอดจนชาวบ้านต่างฝึกฝน เสาะหาเรียนวิชาฟันดาบ และการต่อสู้ด้วยอาวุธนานาชนิด จึงเกิดมีการฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ จนถึงขั้นประลองฝีมือ
ในสมัยก่อน การประลองแบบแรกเป็นเรื่องจริงจังอาศัยหลักวิชาการต่อสู้เป็นหลัก จึงมีคนนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าประลองกับชาวต่างชาติ หรือชาวตะวันตกที่ใช้อาวุธของเขาเป็นหลักก็ยิ่งทำให้เป็นที่สนใจมากขึ้น (ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังมีการประลองมวย และการต่อสู้ด้วยอาวุธหน้าพระที่นั่งเหมือนกัน)
ผู้เรียบเรียงคิดว่าการประลองทั้งสองแบบส่วนใหญ่คงจะมีปะปนกัน เพราะแบบที่สองให้ความสนุกสนานในการชมควบคู่กันไป และแบบที่สอง นี้คงจะพัฒนาการเล่นการแสดง ทำเลียนแบบ นัดแนะลูกไม้ แต่ไม่มีอันตรายใด ๆ นอกจากบาดเจ็บเมื่อพลาดพลั้งบางครั้ง และมีคนนิยมดูมากขึ้น เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1 - 2 มักจะเรียกว่า การประลองดาบ การประลองหอก การประลองยิงธนู เป็นต้น และเรียกบรรดาผู้คนที่มีวิชาความรู้เรื่องฟันดาบว่า นักดาบ นำหน้าสำนักหรือหมู่บ้านชุมชนนั้น ๆ เช่น นักดาบจากบ้านบางระจัน นักดาบจากกรุงศรีอยุธยา นักดาบจากพุกาม ทหารจากพม่า ลาว เขมร แต่จะไม่มีใคร เรียกว่า นักกระบี่กระบอง เพราะคำว่า กระบี่ กระบอง เกิดหลังรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คำว่า กระบี่ กระบอง มีคำกล่าวถึงที่มาของคำนี้อยู่หลายประการ แต่ยังมีเหตุผลที่น่าคิดและน่าเชื่อถือได้อีก ประการหนึ่ง กล่าวคือ
เรื่องรามเกียรติ์ กระบี่ หมายถึง หัวหน้าฝ่ายลิง(หนุมาน) ถือตรีหรือสามง่ามสั้น ๆ เป็นอาวุธ ลิงรูปร่างเล็กเคลื่อนไหวเร็ว แคล่วคล่องว่องไว ลูกน้องพลลิงทั้งหลายบางตัวก็ใช้พระขรรค์เป็นอาวุธ
กระบอง หมายถึง พวกยักษ์ที่พกกระบองเป็นอาวุธ ยักษ์มีรูปร่างใหญ่โต เคลื่อนไหวช้า เพราะฉะนั้นการจัดระเบียบเรียกแยกประเภท อาวุธที่ใช้แสดงต่อสู้ป้องกันตัวน่าจะมาจากการแยกฝ่ายยักษ์และลิง โดย ถือว่าลิงรูปร่างเล็กและผู้พากย์โขนมักเรียกขนานนามว่า ขุนกระบี่ ซึ่งหมายถึง หนุมานหัวหน้าลิง ซึ่งมีตรีหรือสามง่ามสั้นพกเป็นอาวุธประจำกาย และพลลิงตัวอื่น ๆ พกอาวุธสั้น เช่น พระขรรค์ เป็นต้น
ฉะนั้นคำว่า "กระบี่" จึงถูกนำมาเป็นคำเรียกแยกให้รู้ว่าอาวุธสั้นทั้ง หลายจะรวมเรียกว่า กระบี่ ซึ่งมี ดาบ โล่ ดั้ง เขน ไม้ศอกสั้น มีดสั้น พระขรรค์ เคียว ขวาน ตรี สามง่ามสั้น และ สีโหล่
กระบอง" มาจาก ยักษ์ ที่ถือกระบองเป็นอาวุธยักษ์รูปร่างใหญ่โตและ การเคลื่อนไหวไม่ไวเท่าลิง อาวุธนี้จึงถูกจัดเรียกว่า กระบอง ไม่ว่าสั้นหรือยาวเป็นหัวหน้า ให้ความหมายรวมเป็นของยาวทั้งมวล ถ้าพูดตามความ จริงแล้วการเคลื่อนไหวการต่อสู้จะทำได้ดีซึ่งส่วนมากจะเป็นวงนอก ส่วนของสั้นจะทำได้ทั้งวงนอกและวงใน
ฉะนั้นคำว่า กระบอง จึงถูกแยกเรียกเป็นที่รวมของอาวุธยาวที่ใช้แสดงทั้งหมด เช่น พลอง กระบอง ง้าวทุกชนิด โตมร ทวน หอก เป็นต้น
การเรียก กระบี่กระบอ งยังมีหลักฐานให้เห็นชัดในเรื่องอาวุธ กระบี่กระบอง ที่นิยมใช้แสดงและเล่นกัน คือ คู่ของไม้ศอกสั้นกับพลอง นั่นคือความหมาย กระบี่กระบอง ที่ถูกจัดให้เห็นว่า อาวุธสั้นคือลิง ผู้แสดงจะแสดงถึงหลักวิชาความคล่องแคล่วว่องไว ส่วนพลองหรือ กระบอง คือตัวแทนของยักษ์เป็นประเภทอาวุธยาว
ประโยชน์ของการฝึก
1. เพื่อให้จิตใจฮึกเหิม มีความกล้า
2. เพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
3. เพื่อให้จิตใจแข็งแกร่ง กล้าตัดสินใจ
4. เพื่อทดสอบฝีมือเข้าอาสารับใช้ประเทศชาติ โดยการประลองฝีมือกัน
กระบี่กระบอง
กระบี่กระบอง จัดเป็นการเล่นแบบกีฬาประเภทหนึ่ง กระบี่กระบอง ที่มักจัดให้แสดงเป็นการมหรสพในงานต่างๆ และยังเป็นการเล่นของไทยโดยแท้จริง เพราะไม่เคยปรากฏมีในประเทศใดในโลก เป็นกีฬามหรสพที่นิยมกันมาตังแต่โบราณ เป็นการฝึกหัดใช้อาวุธในยามสงบไปในตัว กระบี่กระบอง นับว่าเป็นการแสดงที่ทำให้ตื่นเต้น เร้าใจ มักแสดงในบริเวณที่กว้างๆ เช่น สนามหรือลานใหญ่ๆ ในวัด
เครื่องกระบี่กระบอง มีอยู่ ๒ ชนิด คือ เครื่องไม้รำ กับเครื่องไม้ตี ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นอาวุธจำลอง ส่วนมากทำมาจากหวาย มีความเหนียวและเบามือ เครื่องไม้รำนั้นลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างสวยงาม ส่วนเครื่องไม้ตีไม่ได้ตกแต่งอะไร
กระบี่ เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือเอ็นสัตว์ถักเป็นปลอก สวมแกนโลหะที่ยาวตลอดลงไปถึงด้ามด้วย ตอนปลายเป็นหวายหรือเอ็นถึกคล้ายหางกระเบน มักจะลงรักให้แข็ง บางทีทาสีแดงตลอด ด้ามมีโกร่งกันมือ ส่วนเครื่องไม้ตีนั้นทำอย่างเดียวกันแต่ไม่ตกแต่งอะไร
กระบอง หรือพลอง เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือไม้จริงลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำหรือทาสีแดงตลอด ไม่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยเลย บางทีก็ประดับกระจกอย่างกระบองของเจ้าเงาะในละครรำ เครื่องไม้ตีทำด้วยไม้รากไทรหรือหวายขนาดใหญ่ ลงรักดำหรือทาสีแดงตลอด ตอนปลายทั้งสองข้างใช้เชือกขนาดเล็กพันไว้
ดาบ เช่นเดียวกับ กระบี่ แต่ไม่มีโกร่งกันมือ เครื่องไม้รำทำสวยงามมากดูคล้ายมีฝักอยู่ด้วย ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวายเพื่อให้สามารถตีได้ไม่หัก การใช้ดาบนั้น มีทั้งดาบเดี่ยว ดาบคู่ ดาบกับดั้ง ดาบกับเขน ดาบกับโล่ แล้วแต่จะกำหนด
ง้าว เครื่องไม้รำประดิษฐ์ตกแต่งสวยงามมาก ทำด้วยไม้จริง มีลักษณะใกล้เคียงกับง้าวของจริงมาก ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวาย ไม่มีการตกแต่งอย่างใด
วิธีแสดง การเล่นกระบี่ กระบอง มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ประเภทแสดง กับประเภทแข่งขัน
ประเภทแสดง - เป็นการเล่นของนักกระบี่กระบองในคณะเดียวกัน จึงเป็นไปอย่างรู้เชิงกันหรือนัดหมายกันไว้อย่างดี ตามภาษากระบี่กระบอง เรียกว่า "รู้ไม้" กันอยู่แล้ว
ประเภทแข่งขัน - ต่างคณะจะลงประอาวุธกัน มีรสชาติขึ้นมาก เพราะสุดแต่ว่า ใครที่มาจากคณะใดจะมีความสามารถมากกว่ากัน
การเล่ นกระบี่กระบอง ที่ครบกระบวนการ จะต้องมีวงปี่ชวาและกลองแขก เสียงปี่เสียงกลองทำให้เกิดความคึกคักขึ้นทั้งผู้แสดงและผู้ดู ในวงปี่ชวา ๑ เลา กลองแขก ๒ ลูก ฉิ่ง ๑ คู่
สถานที่แสดง กระบี่กระบอง ได้แก่ ลานกว้างๆ พอที่จะให้ผู้แสดงได้ต่อสู้กันได้ไม่คับแคบนัก ก่อนจะลงมือแสดง กระบี่กระบอง จะต้องไหว้ครูกันก่อน จากนั้นก็ถึงการต่อสู้ ปี่ชวาจะขึ้นเพลงเร่งเร้าฟังคึกคัก แตกต่างออกไปจากเพลงไหว้ครู โดยคู่ต่อสู้จะต้องรำอาวุธก่อน ซึ่งเป็นการรำที่ผสมกันระหว่างแบบนาฏศิลป์ กับแบบเฉพาะของแต่ละคณะหรือแต่ละสำนัก เป็นการอวดความสวยงามกัน ตอนรำอาวุธนี้ จะใช้ไม้รำซึ่งขัดทำอย่างประณีตงดงามมาก ท่ารำที่ถือว่าเป็นแบบอย่างของ กระบี่กระบอง มี "ขึ้นพรหม" เป็นการรำโดยหันไปสี่ทิศ แล้วก็ถึงท่า "คุม" ตามแบบฉบับคือ รำลองเชิงกันโดยต่างฝ่ายต่างรุกล้ำเข้าไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นก็เป็นท่า "เดินแปลง" โดยการสังเกตดูเชิงกันและกัน แล้วจำไว้ว่าใครมีจุดอ่อนที่ใดบ้าง แล้วจึงคุกเข่า "ถวายบังคม" คือ กราบ ๓ ครั้ง จากนั้น จึงเปลี่ยนเครื่องไม้รำมาเป็นเครื่องไม้ตี
นัก กระบี่กระบอง จะต้องสวมมงคลที่ทำด้วยด้ายดิบพันเป็นเกลียว มีขนาดใหญ่เท่าเชือกมนิลา ใช้ผ้าเย็บหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ปล่อยปลายทั้งสองยื่นออก ส่วนเครื่องแต่งกาย กระบี่กระบอง นั้นขึ้นอยู่กับความนิยม สมัยโบราณแต่งกายอย่างทหาร หรือนุ่งโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คาดผ้าประเจียด ตะกรุด หรือนุ่งกางเกงขาสั้น การแสดงก็จะเริ่มจากการจับอาวุธต่อสู้กันเป็นคู่ๆ เช่น กระบี่กับกระบี่ พลองกับพลอง ง้าวกับง้าว พลองกับไม้สั้น จากนั้นก็สุดแต่จะยักเยื้องใช้อาวุธต่างๆ ในที่สุดก็เป็นการตะลุมบอนหรือหลายคู่ หรือการต่อสู้แบบ "สามบาน" คือ คนหนึ่งต่อสู้กับอีก ๒ คน
เพลงที่ใช้ กระบี่กระบอง นั้น เพื่อความเหมาะสมกับการร่ายรำอาวุธแต่ละอย่าง ก็มักจัดเพลงขึ้นตามความเหมาะสม เช่น กระบี่ ใช้เพลงกระบี่ลีลา ดาบสองมือ ใช้เพลงจำปาเทศหรือขอมทรงเครื่อง ง้าวใช้เพลงขึ้นม้า พลองใช้เพลงลงสรงหรือขึ้นพลับพลา การต่อสู้สามบาน ใช้เพลงกราวนอกหรือเพลงฝรั่งรำเท้า
ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/
https://www.banramthai.com