ที่มาของชื่อ มาเก๊า
มาเก๊า ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการพนันและคาสิโนนามระบือ แต่ ..จะ มีสักกี่คนที่รู้จักมาเก๊าในด้านอื่นๆ การท่องเที่ยวมาเก๊า (ประเทศไทย) ขอทำหน้าที่นำท่านไปรู้จักกับมาเก๊าในด้านอื่นๆ มาเก๊า มีภาพความงามแห่งศิลปะวัฒนธรรมของโลกตะวันออกและตะวันตกให้ได้ชื่นชม และยังมีมนต์เสน่ห์แห่งความเชื่อและศรัทธาทางศาสนา ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน กว่าจะเป็นชื่อ มาเก๊า มีที่มาจาก อาม่า องค์เทพธิดาแห่งท้องทะเลผู้ศักดิ์สิทธิ์ .ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า อาม่า มีพระนามเดิมว่า หลิงม่า หญิงสาวชาวฟูเจี้ยนที่วันหนึ่งเธอต้องการข้ามฝั่งมายังคาบสมุทรดอกลิลลี่ขาว หรือ เอ้าเหมิน ตามชื่อในภาษาจีน จึงขอโดยสารมากับเรือของชาวประมงชราคนหนึ่งซึ่งเป็นเพียงเรือลำเล็กๆ ที่ยอมให้หลิงม่า โดยสารมาด้วย ในระหว่างที่เรือล่องอยู่กลางทะเล เกิดมีพายุขึ้นอย่างรุนแรงทำให้เรือหลายลำต้องอับปาง แต่ด้วยปาฏิหาริย์ในคำสั่งฟ้าของหลิงม่าทำให้เรือที่เธอโดยสารมา เข้าถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัย ทันทีที่หลิงม่า ก้าวเท้าขึ้นสู่ฝั่ง เธอก็ลอยขึ้นไปบนฟ้าและหายลับไป ชาวประมงทั้งหลายต่างเชื่อกันว่าเธอ คือ องค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล นับตั้งแต่นั้นดินแดนแห่งนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า อ่าวของ อาม่า หรือ อา-หม่า-เกา ที่เพี้ยนเสียงมาเป็น มาเก๊า ในปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
มาเก๊าตั้งอยู่ในเขตมณฑลกวางตุ้ง บนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำเพิร์ล ทิศเหนือติดกับเมือง จูไห่ของมณฑลกวางตุ้ง มาเก๊าประกอบด้วยดินแดน 4 ส่วน คือ คาบสมุทรมาเก๊า, เกาะไทปา, เกาะโคโลอาน และพื้นที่ถมทะเลขึ้นมาใหม่ เรียกว่า โคไท ซึ่งจะเชื่อมต่อเกาะไทปาและเกาะโคโลอาน เข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน
ด้วยมาเก๊าเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 27.3 ตร.กม. (คาบสมุทรมาเก๊า 8.7 ตร.กม., ไทปา 6.3 ตร.กม., โคโลอาน 7.6 ตร.กม. และโคไท 4.7 ตร.กม.) ระหว่างมาเก๊าและไทปา เชื่อมถึงกันด้วย สะพาน 2 สะพาน คือ สะพานมาเก๊า-ไทปา ระยะทาง 2.5 ก.ม. และสะพานมิตรภาพ ระยะทาง 4.5 ก.ม. ซึ่งใช้เดินทางเข้าไปยังสนามบินมาเก๊าได้
สภาพภูมิอากาศและการแต่งกาย
มาเก๊า มีภูมิอากาศค่อนข้างอบอุ่น โดยเฉลี่ยอยู่ราว 20 องศาเซลเซียส (68 ฟาเรนไฮด์) มีความชื้นสัมพัทธ์สูงเฉลี่ย 75%-90% โดยแบ่งเป็นฤดูกาลต่างๆ ได้ดังนี้
การปกครอง
หลังจากโปรตุเกสได้ทำพิธีส่งมอบมาเก๊าคืนแก่จีน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1999 มาเก๊าก็ได้รับการขนานนามใหม่ว่า เขตปกครองพิเศษมาเก๊า หรือ Macau, The Special Administrative Region of the Peoples Republic of China ซึ่งหมายถึง มาเก๊ามี ระบอบการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ กล่าวคือ มาเก๊าสามารถมีรัฐบาลและ ปกครองตนเอง ต่อไปได้เป็นระยะเวลา 50 ปี ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีน
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ มิได้สร้างความหวาดวิตกกังวล แก่ชาวมาเก๊าแต่อย่างใด แต่เป็นไปด้วยความยินดีปรีดายิ่ง เนื่องจากในขณะที่มาเก๊ายังเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกส, มาเก๊า และจีน เป็นไปอย่างสมานฉันท์
ประชากร
ปัจจุบันมาเก๊า มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 450,000 คน เป็นชนเชื้อสายจีน 95% อีก 5% เป็นชาวโปรตุเกส และชนชาติอื่นๆ
ภาษา
ภาษาจีนและโปรตุเกส เป็นภาษาราชการ แต่ภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นภาษาที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ส่วนภาษาอังกฤษจะใช้กันทั่วไปตามร้านค้าและโรงแรม
ศาสนา
ชาวมาเก๊านับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ ศาสนาคริสต์ เห็นได้จากมาเก๊า มีวัดและโบสถ์อยู่มากมาย
ในอดีตกาล มาเก๊า เป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมและประมงเล็กๆ ชนชาติดั้งเดิม ที่เข้ามาตั้งรกรากคือ ชาวจีนกวางตุ้งและฟูเจี้ยน จนกระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 พ่อค้าชาวโปรตุเกสหลายคน ได้เข้ามาบุกเบิกในแถบทวีปเอเชีย อาทิ วาสโก ดา กามา ซึ่งได้เดินทางบุกเบิกมาถึงช่องแคบมะละกา และต่อมาในปี ค.ศ. 1513 จอร์จ อัลวาเรส เป็นชาวโปรตุเกสคนแรกที่ได้เดินเรือมาถึงดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และได้ติดต่อทำการค้ากับจีน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและโปรตุเกสจึงได้เริ่มต้นขึ้น
ตลอดระยะเวลากว่า 400 ปี แห่งการครอบครอง ผู้คนมักพูดถึงมาเก๊าในฐานะ อาณานิคมของโปรตุเกส แต่ในความเป็นจริงแล้ว โปรตุเกสปฏิบัติต่อมาเก๊าในฐานะ เป็นจังหวัดหนึ่งของโปรตุเกส แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เข้ามาปกครอง แต่ชาวมาเก๊าก็ได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ มาเก๊าได้รับเอาความเจริญรุ่งเรืองทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมของ ชาติตะวันตกเข้ามาอย่างมากมาย สังเกตได้จาก ตึกรามบ้านช่อง, โบสถ์, ถนนสายคดเคี้ยวที่ปูด้วยกระเบื้องและหิน และสถาปัตยกรรมอื่นๆ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมแบบจีน นี่เองที่ทำให้มาเก๊า เป็นเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้อย่างลงตัว ที่สุด มาเก๊า จึงนับว่าเป็นเมืองยุโรปใจกลางเอเชียอย่างแท้จริง
ที่มา www.macau-thai.com