จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 564 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 11,730 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 7,331,438.75 ไร่) และยังมีแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภูมิภาค มีสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายอีกด้วย
[แก้] ประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี จากหลักฐานการค้นพบที่บ้านเชียงอำเภอหนองหานและภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่อำเภอบ้านผือ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ และโบราณคดีระหว่างประเทศว่าชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดอุดรธานี มีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง และอาจถ่ายทอดความเจริญนี้ไปสู่ประเทศจีนก็อาจเป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่บ้านเชียงนั้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่เก่าที่สุดของโลก
หลังจากยุคความเจริญที่บ้านเชียงแล้ว พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานี ก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สืบต่อมาอีกจนกระทั่งสมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พ.ศ. 1200-1600) สมัยลพบุรี (พ.ศ. 1200-1800 และสมัยสุโขทัย(พ.ศ. 1800 - 2000) จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวาราวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบกอำเภอบ้านผือ แต่ทั้งนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานชื่อ จังหวัดอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีพื้นที่ที่จังหวัดอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์ เมื่อราวปีจอ พ.ศ. 2117 พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษจึงยกทัพกลับไม่ต้องรบพุ่งกับเวียงจันทน์และที่เมืองหนองบัวลำภูนี่เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น จังหวัดอุดรธานีได้เกี่ยวข้องกับการศึกสงครามกล่าวคือในระหว่าง พ.ศ. 2369 - 2371 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้นำคือ คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) กองทัพเจ้าอนุวงศ์ได้ถอยทัพมาตั้งรับที่เมืองหนองบัวลำภู และได้ต่อสู้กับกองทัพไทยและชาวเมืองหนองบัวลำภูจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป กระทั่งในปลายสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประมาณ พ.ศ. 2411 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมณฑลลาวพวน เนื่องมาจากพวกฮ่อซึ่งกองทัพไทยได้ยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบได้ชั่วคราว
ในปี พ.ศ. 2428 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกฮ่อได้รวมตัวก่อการร้าย กำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีท่าทีจะรุนแรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ ในเวลานั้นเมืองอุดรธานียังไม่ปรากฏชื่อเพียงแต่ปรากฏชื่อบ้านหมากแข้งหรือบ้านเดื่อหมากแข้ง สังกัดเมืองหนองคายขึ้นการปกครองกับมณฑลลาวพวน และกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ได้เดินทัพผ่านบ้านหมากแข้ง ไปทำการปราบปรามพวกฮ่อจนสงบ
ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้วไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศลต้องการลาว เขมร ญวน เป็นอาณานิคม เรียกว่า "กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)" ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ มีเงื่อนไขห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตร ของฝั่งแม่น้ำโขง
ดังนั้น หน่วยทหารไทยที่ตั้งประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย อันเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมือง หรือมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายลึกเข้ามาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อบ้านเดื่อหมากแข้ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงกว่า 50 กิโลเมตร เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำดี เช่น หนองนาเกลือ (หนองประจักษ์ ปัจจุบัน) และหนองน้ำอีกหลายแห่ง รวมทั้งห้วยหมากแข้ง ซึ่งเป็นลำห้วยน้ำใสไหลเย็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงบัญชาให้ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวน และตั้งกองทหารขึ้น ณ หมู่บ้านเดื่อหมากแข้ง จึงพอเห็นได้ว่าเมืองอุดรธานีได้อุบัติขึ้นโดยบังเอิญ เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งกว่าเหตุผลทางการค้า การคมนาคมหรือเหตุผลอื่น ดังเช่นหัวเมืองสำคัญต่างๆ ในอดีต อย่างไรก็ตามคำว่า "อุดร" มาปรากฏชื่อเมือง พ.ศ 2450 (พิธีตั้งเมืองอุดรธานี 1 เมษายน ร.ศ. 127 พ.ศ. 2450 โดยพระยาศรีสุริยราช วรานุวัตร โพธิ์ เนติโพธิ์) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้งอยู่ในการปกครองของมณฑลอุดร
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาคยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่านั้น มณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียงจังหวัด "อุดรธานี"เท่านั้น
[แก้] อาณาเขตติดต่อ
อุดรธานีมีอาณาเขตติดกับจังหวัดอื่นๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ จรดจังหวัดหนองคาย
- ทิศตะวันออก จรดจังหวัดสกลนครและจังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศใต้ จรดจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศตะวันตก จรดจังหวัดเลยและจังหวัดหนองบัวลำภู
[แก้] ภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยประมาณ 187 ฟุต หรือ 200-700 เมตร พื้นที่เอียงลาดลงสู่แม่น้ำโขงทางจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้และภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทรายปนดินลูกรัง ไม่เก็บน้ำหรืออุ้มน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่บางแห่งเป็นดินเค็ม ประกอบกสิกรรมไม่ค่อยได้ผลดี พื้นที่บางส่วนเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีพื้นที่ราบผืนเล็ก ๆ แทรกอยู่กระจัดกระจาย พื้นที่ทางทิศตะวันตกมีภูเขาและป่าติดต่อกันเป็นแนวยาว มีทิวเขาสำคัญคือ ทิวเขาภูพาน ทอดเป็นแนวยาวตั้งแต่เขตเหนือสุดไปจนจรดทางใต้สุดเหมือนกับแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็นสองส่วน
[แก้] ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทิวเขาล้อมรอบทางด้านตะวันออกและด้านใต้ ได้แก่ ทิวเขาเพชรบูรณ์และทิวเขาดงพญาเย็นอยู่ทางตะวันตก ทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาพนมดงรักอยู่ทางด้านใต้ ทำให้ฝนที่เกิดจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีน้อย ส่วนมากเป็นฝนที่เกิดจากพายุดีเปรสชันที่เคลื่อนผ่านเข้ามาระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ค่าปานกลางของปริมาณน้ำฝนจังหวัดอุดรธานี ประมาณปีละ 1,400-1,600 มิลลิเมตร สภาพอากาศค่อนข้างรุนแรง โดยจะร้อนจัดในฤดูร้อนและอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งในฤดูร้อนเคยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 43.9 องศาเซลเซียส และในช่วงฤดูหนาวเคยมีอุณหภูมิต่ำสุดถึง 2.5 องศาเซลเซียส ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปี พ.ศ. 2539 มีอุณหภูมิสูงสุด 39.2 องศาเซลเซียส ในเดือนมีนาคม 2539 อุณหภูมิต่ำสุด 7.0 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม 2539 ปริมาณน้ำฝนรวมวัดได้ 1,844.8 มิลลิเมตร
[แก้] การเดินทาง
เส้นทางคมนาคมและการเดินทางที่สำคัญของอุดรธานี คือ
- ทางรถยนต์ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และทางหลวงหมายเลข 22 จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น ถึงอุดรธานี รวมระยะทางประมาณ 546 กิโลเมตร
- ทางรถโดยสารประจำทาง ได้แก่ บริการรถโดยสารทั้งธรรมดาและรถปรับอากาศวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานีทุกวัน รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (จตุจักร) ถนนกำแพงเพชร 2
- ทางรถไฟ ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดบริการรถไฟวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานีทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย
- ทางอากาศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ซึ่งมีสายการบินทั้งในและระหว่างประเทศที่เปิดให้บริการ
- นอกจากนี้ ยังมีรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดต่าง ๆ คือ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร พิษณุโลก นครพนม เชียงใหม่ เชียงราย ระยอง และอุตรดิตถ์ เป็นต้น
[แก้] หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 20 อำเภอ 155 ตำบล 1,682 หมู่บ้าน อำเภอหมายเลข 12-16 ตามรหัสเขตการปกครองคือจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
[แก้] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ธงประจำจังหวัดอุดรธานี
เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแสด มีรูปท้าวเวสสุวัณซึ่งเป็นดวงตราประจำจังหวัดอยู่กลางผืนธง
- ความหมายของตราประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นรูปท้าวเวสสุวัณหรือท้าวกุเวร เป็นพญายักษ์ถือกระบองซึ่งเป็นท้าวโลกบาล ผู้คุ้มครองรักษาโลกประจำอยู่ทิศเหนือหรือทิศอุดร จังหวัดอุดรธานีจึงได้ใช้รูปท้าวเวสุวัณเป็นตราประจำจังหวัด โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบเมื่อ พ.ศ. 2483
[แก้] สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ
- อำเภอเมืองอุดรธานี
- อนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรธานี ถนนทหาร อนุสาวรีย์พระองค์ท่านมีความสำคัญต่อชาวอุดรเป็นอย่างยิ่ง พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งจังหวัดอุดรธานีขึ้น นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชาวอุดรธานี
- สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม
อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี หนองประจักษ์เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า"หนองนาเกลือ" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "หนองประจักษ์" เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานี ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อมปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะมีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น แต่ละวันจะมีประชาชนเข้าไปพักผ่อนและออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก
- ศาลเจ้าปู่-ย่า
ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟใกล้ตลาดหนองบัว ถนนนิตโย เป็นศาลเจ้าของชาวอุดรธานีเชื้อสายจีนที่ใหญ่โต และสวยงาม มีสวนหน่อมริมหนองบัว บริเวณโดยรอบมีศาลาชมวิวกลางน้ำ 2 หลัง บรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อน และในศาลเจ้าปู่-ย่าแห่งนี้ ยังมีมังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในวันที่ 1-15 ธันวาคม ของทุกปี
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตาด เดินทางออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพอุดร-ขอนแก่น) ถึงบริเวณสี่แยกบ้านคงเค็ง แล้วแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดที่อยู่เลยจากชุมชนหมู่บ้านตาดไม่ไกลเท่าใดนัก สภาพโดยทั่วไปของวัดนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคก มีพื้นที่ทั้งหมดราว 163 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพง เป็นที่พำนักของ พระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และวัดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรม วัดนี้ยังมีบุคคลสำคัญเดินทางมาวัดเพื่อนมัสการพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ด้วย อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นต้น
- วัดโพธิสมภรณ์
ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งสร้างวัด ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหม่ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงประทานนามว่า "วัดโพธิสมภรณ์" ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้
- วัดมัชฌิมาวาส
ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดเดิมหรือวัดเก่า ในวิหารเล็กๆ ภายในวัดมีพระพุทธรูปหินสีขาวปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อนาค" เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุดรธานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นที่วัดร้างโนนหมากแข้ง และให้ชื่อว่า "วัดมัชฌิมาวาส"
- สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์
ตั้งอยู่ที่ซอยกมลวัฒนา ถนนรอบอุดร-หนองสำโรง จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เลยแยกถนนเลี่ยงเมืองไปเล็กน้อย ทางซ้ายมือจะมีทางแยกเข้าหนองสำโรงประมาณ 500 เมตร และเห็นป้ายบอกทางเข้าสวนกล้วยไม้ทางด้านซ้ายมือสวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ เป็นสวนกล้วยไม้ที่ผลิตกล้วยไม้กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยซึ่งใช้เวลาในการค้นคว้าและผสมพันธุ์ระหว่างแวนดา (Vanda) กับโจเซฟิน แวน เบอร์โรว์ (Josephine Van Berrow) ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สมาคมกล้วยไม้โลก สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2531 ชื่อพันธุ์ Udon Sunshine Orchid หรือพันธุ์นางสาวอุดรซันไฌน์ ซึ่งมีการนำไปสกัดทำน้ำหอมในชื่อเดียวกันติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0 4224 2475
- หมู่บ้านนาข่าและศูนย์หัตถกรรมบ้านเม่น
อยู่ในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพอุดร-หนองคาย) หมู่บ้านอยู่ทางขวามือ ตรงข้ามโรงเรียนชุมชนนาข่า เป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าขิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าขิตในราคาย่อมเยา การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางสายอุดรธานี-นาข่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นได้ที่หน้าสถาบันราชภัฎอุดรธานีและตลาดรังษิณา
- อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง
อยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ตรงกิโลเมตรที่ 15 แล้วแยกเข้าไปอีก 10 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 20,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้จำนวน 86,000 ไร่ เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร การประมง การจ่ายน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะสำหรับการล่องแพ ตกปลา และนั่งเรือชมทิวทัศน์ ปัจจุบันทางราชการได้สร้างพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระองค์ท่านเคยเสด็จประทับเกือบทุกปี
- อำเภอหนองหาน
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะเผาที่ฝังรวมกับศพ
- ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้า เป็นอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียงในอดีต ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณ รวมทั้งโบราณวัตถุและนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่าง ๆ
การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงนั้นสะดวกมาก เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 55 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลขหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร) ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลู จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 30 บาท
[แก้] เทศกาลประเพณีประจำปี
- งานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก
จัดในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ภายในงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ พื้นเมือง ประชาชนจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงต่างมาร่วมงานอย่างหนาแน่น
- งานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี
ประมาณวันที่1-15ของเดือนธันวาคมของทุกปี ภายในงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์พื้นเมืองเช่น ผ้าไหม ผ้าทอลายขิด ผ้าทอมือ ผ้าหมี่ขิด และยังมีการแสดงโชว์มังกรทองจากศาลาเจ้าปู่-ย่าด้วย
- งานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เทศบาลตำบลกุมภวาปี วันที่ 10-11 ตุลาคม 2552 ( หลังออกพรรษา 1สัปดาห์ของทุกปี ) ณ บริเวณลำน้ำปาว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
กิจกรรม ชมการแข่งขันออกเรือเป็นเรือโบราณ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศและเรือแต่งแบบภาคกลาง มีมหรสพสมโภชตลอดงาน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ [1]
สำนักงานเทศบาลตำบลกุมภวาปี (กองการศึกษา) โทรศัพท์: 0 4233 1366 โทรสาร : 0 4233 2175 www.kumpawapi.go.th/index.php
[แก้] ศูนย์การค้าและแหล่งธุรกิจที่สำคัญ
- เซ็นทรัล พลาซา อุดรธานี Robinson & Tops Supermarket & Major Cineplex & Major Bowl Hits & Sport World
- เทสโก้ โลตัส [ไฮเปอร์มาร์เก็ต] ถนนรอบเมืองอุดร-หนองคาย
- เทสโก้ โลตัส [ไฮเปอร์มาร์เก็ต] ถนนรอบเมืองอุดร-หนองบัวลำภู สาขา นาดี
- เทสโก้ โลตัส [โลตัสเอ็กซ์เพลส] สาขา ตลาดบ้านห้วย
- เทสโก้ โลตัส [โลตัสเอ็กซ์เพลส] สาขา หนองขอนกว้าง (หน้า ร.พ.ค่ายประจักษ์ฯ)
- เทสโก้ โลตัส [ตลาด โลตัส] หนองหาน
- เทสโก้ โลตัส [ตลาด โลตัส] บ้านผือ
- คาร์ฟูร์ อุดรธานี สาขา 1
- คาร์ฟูร์ อุดรธานี สาขา 2 (UD Town) (กำลังก่อสร้าง)
- บิ๊กซี บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด สาขาอุดรธานี
- แม็คโคร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด สาขาอุดรธานี
- Tool Pro Plus
- Home Pro
- Index Living Mall
- Global House
- St.Mall Ceramic Kitchen Bathroom
- โบ๊เบ๊อุดร
- ตั้งงี่สุน บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ สาขา 1
- ตั้งงี่สุน บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ สาขา 2 บ้านนาดี
- The Metropolis
- เซฟ มาร์ท ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งเซงเฮง สาขา 1 ถ.โพธิ์ศรี
- เซพ มาร์ท ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งเซงเฮง สาขา 2 ถ.วงแหวนรอบใน (ถ.มิตรภาพ)
- Top World บริษัท อุดรท๊อปเวิลด์ จำกัด
- ศูนย์การค้า ห้าแยกสแควร์
- ศูนย์การค้าพระยาอุดร
- เซ็นเตอร์ พอยต์
- ตลาดปรีชา
- ตลาดเริ่มอุดม
- UD Bazaar
- UD Town (กำลังก่อสร้าง)
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งจิ้นเซง ซุปเปอร์มาร์เก็ต
- Premium Outlet Udonthani (กำลังก่อสร้าง)
- Down town plaza (กำลังก่อสร้าง)
[แก้] สถานพยาบาลในจังหวัด
- 1. โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี
- 2. โรงพยาบาลวัฒนา อุดร
- 3. โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล
- 4. โรงพยาบาลเอกอุดร
- 5. โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม
- 6. โรงพยาบาลชัยเกษมการแพทย์
- 7. โรงพยาบาลรัตนแพทย์
[แก้] ต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี
ต้นทองกวาวหรือต้นจาน เป็นไม้ยืนต้นผลีดใบสูง 8-15 เมตรดอกใหญ่รูปดอกถั่ว สีแสด จะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกทองกวาว (Butea monosperma)
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: เต็ง (Shorea obtusa)
[แก้] พรรณไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด
ต้นรังหรือต้นฮัง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15-20 เมตร ใบรูปไข่ ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
[แก้] คำขวัญประจำจังหวัด
- คำขวัญประจำจังหวัด: น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด แดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไชฌ์
- อักษรย่อ: อด.
[แก้] การศึกษา
ระดับอุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุดรธานี
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อุดรธานี
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง อุดรธานี
- วิทยาลัยสันตพล อุดรธานี
- สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์อุดรธานี
- มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี
อาชีวศึกษา
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
- วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
- โรงเรียนเทคนิพาณิชยการสันตพล
- โรงเรียนพาณิชยการบ้านจั่น
- โรงเรียนช่างกลอุดรธานี
- วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี
- วิทยาลัยเกษตรอุดรธานี
- โรงเรียนโปลีเทคนิคอุดรธานี
- วิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ
- วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวอุดรธานี
- โรงเรียนเทคโนโลยีอีสานเหนือ
- วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน
- วิทยาลัยการอาชีพกุมภวาปี
- วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเกษ อุดรธานี
โรงเรียน
[แก้] ชาวอุดรธานีที่มีชื่อเสียง
- พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี และทรงพัฒนาจังหวัดอุดรธานี
- ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง นักแสดง-พิธีกรชื่อดัง
- สัญญา คุณากร นักแสดง-พิธีกรชื่อดัง
- ต้องตา เกียรติวายุภักษ์
- นำชัย ทักษิณอีสาน
- วันดี สิงห์วังชา
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการด้านสื่อโทรคมนาคม
- หลวงปู่ขาว อนาลโย
- หลวงตามหาบัว
- ฝน ธนสุนทร นักร้อง
- อาณัตพล ศิริชุมแสง เดอะสตาร์ 3
- โกสินทร์ ราชกรม นักแสดง
- จามจุรี เฉิดโฉม นักแสดง
- อนุสรา วันทองทักษ์ ผู้เข้าแข่งขันในปฏิบัติการคนล่าฝัน (Academy Fantasia)ปีที่ 2
- กิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือ เกลือ ผู้กำกับละคร บ้านนี้มีรัก นักแสดงเรื่อง เป็นต่อ
- รุจินันท์ พันธ์ศรีทุม รอง มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส อันดับ 1 ประจำปี 2552
- สุดารัตน์ บุตรพรหม ""หรือ ตุ๊กกี้ สามช่า"" ชิงร้อยชิงล้าน
- ไมค์ ภิรมย์พร
- จอมพลประภาส จารุเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี