น้ำตกทีลอซู ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ห่างจากที่ทำการเขตฯ 3 กิโลเมตร ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ มีลักษณะเป็นน้ำตกภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อท้อ ลำน้ำทั้งสายตกลงสู่หน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลแรงตลอดปี ความกว้างของตัวน้ำตกประมาณ 500 เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความสูงประมาณ 300 เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของเอเชีย[ต้องการแหล่งอ้างอิง]
ตามความจริงต้องออกเสียงว่า "ทีลอชู" และเป็นคำนามในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "น้ำตก" ชื่อ "ทีลอซู" เป็นความพยายามแปลความหมายทีละคำ โดย "ที" หรือ "ทิ" แปลว่า "น้ำ" "ลอ" หรือ "ล่อ" แปลว่า "ตก" แต่ "ชู" ไม่มีความหมายใกล้เคียง ดังนั้น จึงมีความพยายามทำให้เป็นคำที่มีความหมาย เนื่องจาก "ซู" แปลว่า "ดำ" จึงนำไปสู่การเรียกว่า "ทีลอซู" และแปลว่า "น้ำตกดำ"
ทีลอซู ได้รับคำกล่าวขานถึงว่าเป็นน้ำตกที่สวยงาม และมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน ระหว่าง 1 มิ.ย. - 31 พ.ย. ปริมาณน้ำฝนที่มากจะเพิ่มปริมาณน้ำในลำธารทำให้สายน้ำตกกว้างใหญ่กว่าฤดูอื่น แต่เป็นช่วงที่ทางรถเข้าน้ำตกปิด เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทางและถนอมสภาพทางไม่ให้เสียหาย นักท่องเที่ยวอาจเลี่ยงใช้เส้นทางนี้ได้ โดยการซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวซึ่งจะเดินทางด้วยเรือยางและเดินป่าอีกราว 12 กม.แต่หากมาท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว - ฤดูร้อนระหว่าง 1 ธ.ค. - 31 พ.ค. ก็สามารถใช้ทางรถยนต์เข้าน้ำตกได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เที่ยวได้สะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเที่ยวแบบไปกลับหรือพักค้างแรม
เนื้อหา[ซ่อน] |
[แก้] ประวัติ น้ำตกทีลอซู
ทีลอซู ได้รับการค้นพบโดยพรานชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาล่าสัตว์ ก่อนที่ ตชด.ได้บินเข้ามาสำรวจในพื้นที่และได้พบน้ำตกทีลอชู ต่อมากรมป่าไม้จะประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ อ. ปรีชา อินทวงศ์ พาบุคลากรของนิตยสารท่องเที่ยวแคมปิง เข้าไปสำรวจ น้ำตกทีลอซู ก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่ท้าทายของนักเดินทาง "ทีลอซู" หรือออกเสียงตามภาษาภาษาปะก่าหญอว่า "ที-หล่อ-ชู" ที แปลว่า น้ำ, หล่อ แปลว่า ไหล และ ชู แปลว่า ทิ้มแทง (หล่อ-ชู เป็น กิริยา หมายถึง การไหลลงมาอย่างแรงของน้ำปะทะกับพื้นเบื้องล่าง) ดังนั้นจึงแปลว่าน้ำตก (บางท่านบอกว่าแปลว่า น้ำตกดำ คำว่า "ดำ" ไม่ได้ออกเสียงว่า ซู แต่ออกเสียงคล้ายๆกัน ไม่รู้จะเขียนเป็นอักษรไทยอย่างไร เพราะเสียงนี้ไม่ในภาษาไทย ต้องออกเสียงให้ฟังนะครับ ถึงจะแยกความแตกต่างได้) น้ำตกนี้ซ่อนอยู่ในหลืบผาอันกว้างใหญ่ สายน้ำเกิดจากห้วยกล้อทอซึ่งมีแดนกำเนิดอยู่บนดอยผะวี แล้วไหลลงแม่น้ำแม่กลองที่ ต. แม่ละมุ้ง อ. อุ้มผาง
การค้นพบที่กล่าวถึงเป็นการพบของคนไทย จากงานของ ประชา แม่จัน ในหนังสือ "อุ้มผาง เบื้องหลังธรรมชาติ" [1] เขียนถึง บริเวณที่ตั้งแคมป์ทีลอชู เป็นบ้านเก่าชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เรียกว่า "ว่าชื่อคี" บริเวณที่จอดรถเป็นที่นาเก่าของชาวบ้านที่นี่ การที่เป็นบ้านร้างเพราะชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านโขะทะเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ชาวปกากะญอที่นี่รู้จักน้ำตกทีลอชูมาช้านานแล้ว
[แก้] สิ่งที่น่าสนใจ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กม.ก่อนถึงน้ำตกจะผ่านป่าไผ่และป่าเบญจพรรณ มีดอกกระเจียวขึ้นตามพื้นป่าระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติและพืชพันธุ์ตามจุดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา เมื่อถึงบริเวณน้ำตก จะเห็นละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่วโขดหินเบื้องล่าง มองเห็นธารน้ำตกลงมาจากผาหินปูนซึ่งอยู่สูงประมาณ 200 ม. ตามแนวกว้างกว่า 400 ม. ท่ามกลางป่าครึ้ม อาจแบ่งธารน้ำตกได้เป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มด้านซ้ายมือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาน้ำตก) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดสูงที่สุด และเป็นด้านที่สวยที่สุด มีธารน้ำตกหลายสายไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเชิง ส่วนกลุ่มตรงกลาง สายน้ำไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันใกล้เคียงกบกลุ่มซ้ายมือแต่ไม่เป็นชั้นและแคบกว่า ส่วนหลุ่มทางขวามือ มีสายน้ำตกมากและหน้าผาเตี้ยกว่าสองกลุ่มแรก เมื่อมองทั้งสามกลุ่มรวมกันจะเห็น น้ำตกทีลอซู ที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม บริเวณด้านล่างมีทางเดินไปยังจุดชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขาฝั่งตรงกันข้าม เป็นจุดที่มองเห็น น้ำตกทีลอซู ได้สวยงามและชัดเจนขึ้น ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ 2 ชม.
[แก้] การเดินทาง
การเดินทาง รถยนต์ จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่สอด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 มีทางแยกซ้ายที่บ้านแม่กลองใหม่ไปด่านเดลอ หรือจุดตรวจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขับรถเข้าน้ำตกทีลอซูต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตเข้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (สป. ๗) ได้ที่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์อุ้มผางก่อนทุกครั้ง นักท่องเที่ยวต้องยื่น สป. 7 ที่ด่านเดลอ) จากนั้นเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางช่วงนี้เป็นทางดิน ควรใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ช่วงล่างมีความสูงมากพอสมควร ในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ และจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จึงถึงตัวน้ำตกทีลอซู
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
พิกัดภูมิศาสตร์: 15°55′39″N 98°45′14″E / 15.9274°N 98.75375°E / 15.9274; 98.75375
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ น้ำตกทีลอซู
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแมปส์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย