จังหวัดชัยภูมิ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 8 ของประเทศ โดยมีเนื้อที่ประมาณ 12,778 ตารางกิโลเมตร นับเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม กระทั่งสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง
ชัยภูมิมีเขตติดต่อกับจังหวัดเพื่อนบ้านหลายจังหวัด ได้แก่ ทางเหนือ ติดกับเพชรบูรณ์และขอนแก่น ทางตะวันออกติดกับขอนแก่นและนครราชสีมา ทางตะวันตกติดกับเพชรบูรณ์และจังหวัดลพบุรี และทางใต้ติดกับจังหวัดนครราชสีมา
เนื้อหา[ซ่อน] |
[แก้ไข] ประวัติศาสตร์
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และเมื่อปี พ.ศ. 2360 "นายแล" ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็น เมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก
ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพมหานคร โดยหลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพมหานครรบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาเมื่อความแตก เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทน์
เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป ฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพล (แล) เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร
[แก้ไข] หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 16 อำเภอ 124 ตำบล 1393 หมู่บ้าน
[แก้ไข] อุทยานแห่งชาติ
- อุทยานแห่งชาติตาดโตน (อำเภอเมืองชัยภูมิ)
- อุทยานแห่งชาติไทรทอง (อำเภอหนองบัวระเหว)
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม (อำเภอเทพสถิต)
- อุทยานแห่งชาติภูแลนคา (อำเภอหนองบัวแดง)
[แก้ไข] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ดอกกระเจียว (Curcuma alismatifolia) ดอกไม้ประจำจังหวัด |
- สัญลักษณ์ประจำจังหวัด คือ รูปธงสามชาย หมายถึงธงแห่งชัยชนะสงคราม เดิมผู้ครองนครได้เลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งเป็นเมือง พบว่าตรงจังหวัดนี้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลเหมาะแก่การสู้รบป้องกันตัว จึงตั้งเมืองขึ้นและให้สัญลักษณ์เป็นรูปธงสามแฉก
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: ขี้เหล็ก (Cassia siamea)
- คำขวัญประจำจังหวัด: ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี