มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยน่าค้นคว้าใคว่คว้าหาความรู้


1,864 ผู้ชม


มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ภายหลังจากการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยชื่อ "มหาวิทยาลัยนเรศวร" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลกและทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย[1] โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมครบทุกสาขาวิชาทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทุกระดับการศึกษาทั้งสิ้น 208 หลักสูตร[2] มีนิสิตศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 คน[3] และมีอาจารย์ประจำกว่า 1,400 คน[4] มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับในด้านการวิจัยให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 9 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2549[5]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร

เนื้อหา

[ซ่อน]

[แก้] ประวัติ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาโดยแบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย คือ ยุคที่ 1 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ยุคที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และยุคปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร[6][7]

ในปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เป็นสถาบันหลักในการผลิตครูของประเทศ ซึ่งการจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษานั้นเริ่มขึ้นที่ประสานมิตรเป็นแห่งแรก ต่อมาจึงดำเนินการจัดตั้งเพิ่มเติมในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 มีที่ตั้ง ณ เลขที่ 1 ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมา เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 แล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่น ๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ และ 1 วิทยาลัย คือ คณะพลศึกษา (ถูกยุบเลิกในปี พ.ศ. 2535)[8] คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย[9] โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2524) ที่กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลักของภาคเหนือตอนล่าง ทางวิทยาเขตจึงขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุญาตในปี พ.ศ. 2527 โดยเป็นช่วงเดียวกับที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นประกาศโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของรัฐในส่วนภูมิภาคอีก 5 แห่ง โดยที่ดินที่ได้รับการจัดสรรใหม่นี้อยู่บริเวณทุ่งหนองอ้อ – ปากคลองจิก ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ช่วงปี พ.ศ. 2527 - 2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร" ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย[7]

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University)[10] ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยได้มีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา[11] ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา" และมีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. 2548[12]

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

  • ตราสัญลักษณ์พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคาร หลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ภายในป้ายชายธง[13]
  • ตราสัญลักษณ์รูปช้างศึก อยู่ภายในโล่กลมแบบโบราณ ตอนล่างรูปช้างศึก มีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง[13]
  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกเสลา[14]
  • สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเทา-แสด[14]

[แก้] ทำเนียบผู้บริหารและอธิการบดี

รายนามผู้บริหารและอธิการบดีตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้[7]

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก
รายนามรองอธิการวาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์กันยายน พ.ศ. 2510 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก
รายนามรองอธิการบดีวาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2526
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์9 ตุลาคม พ.ศ. 2526 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
3. รองศาสตราจารย์ฉัตรชัย อรณนันท์6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรง ศิริเจริญ3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 - 23 เมษายน พ.ศ. 2533
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทองเมษายน พ.ศ. 2533 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 (รักษาการ)
มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามอธิการบดีวาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 - 24 มกราคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ)
2. ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ25 มกราคม พ.ศ. 2534 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ)
25 มีนาคม พ.ศ. 2534 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535
3. ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน1 เมษายน พ.ศ. 2535 - 19 มกราคม พ.ศ. 2536 (รักษาการ)
20 มกราคม พ.ศ. 2536 - 19 มกราคม พ.ศ. 2544
20 มกราคม พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน
4. รองศาสตราจารย์ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี20 มกราคม พ.ศ. 2544 - 19 มกราคม พ.ศ. 2552

[แก้] การศึกษา

[แก้] คณะและวิทยาลัย

อาคารเรียนรวมและโรงละครเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ตึก QS)

มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติรวมทั้งสิ้น 208 หลักสูตร แบ่งเป็นระดับประกาศนียบัตร 5 หลักสูตร, ปริญญาตรี 85 หลักสูตร, ปริญญาโท 88 หลักสูตร และปริญญาเอก 30 หลักสูตร[2]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวรมีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 16 คณะ 2 วิทยาลัย[15] ดังต่อไปนี้

นอกจากนี้ยังมีบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด

[แก้] วิทยาเขต

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายโอกาสและการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่จังหวัดพะเยาขึ้น โดยให้ชื่อว่า "วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา" ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 และเริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2542[11]

ต่อมาคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้มีมติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา" เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550[16] เพื่อเตรียมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคตต่อไป ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ.... เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552[17]

มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่[18] ปัจจุบัน ประกอบไปด้วยสำนักวิชา 12 สำนักวิชา[19] ดังนี้

[แก้] ศูนย์วิทยบริการ

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิทยบริการ เพื่อขยายเครือข่ายการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้สนใจศึกษาต่อที่ไม่สามารถมาเรียนโดยตรงที่มหาวิทยาลัยได้ โดยมีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวรกำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนของศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยทั้งหมด[20] ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เปิดทำการเรียนการสอน ณ ศูนย์วิทยบริการ 10 แห่งดังต่อไปนี้[21][22]

อาคารเวฟเพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน

โรงเรียนวัชรวิทยา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร

สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 1 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่

โรงเรียนตากพิทยาคม ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก

โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมืองนครสวรรค์

โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร

โรงเรียนวิทยานุกูลนารี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่

โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์

โรงเรียนอุทัยวิทยาคม ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี

[แก้] การวิจัย

จากการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้วางเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) "[10] จึงได้มีการจัดตั้งกองบริหารการวิจัย เพื่อบริหารจัดการ ประสานงานและรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ ของคณาจารย์และนิสิตของมหาวิทยาลัย

ในแต่ละปี สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนเรศวรมีการจัด "การประชุมวิชาการ นเรศวรวิจัย (Naresuan Research Conference)" ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจนำเสนอผลงานวิจัยและการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2552 นี้ การประชุมวิชาการ นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ณ อาคารเรียนรวมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีหัวข้อการประชุม เรื่อง "งานวิจัยกับการพัฒนาพื้นที่"

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2548 มีทั้งสิ้น 112 เรื่อง[23] ส่วนในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนวิจัยรวมทั้งสิ้น 721 โครงการ[24] โดยแบ่งตามสาขาดังนี้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากหน่วยงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ กองบริหารการวิจัย สถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สำนักหอสมุด และสำนักงานอธิการบดีที่ได้รับทุนวิจัยรวมอีก 65 โครงการ

ดูเพิ่มเติม ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร

[แก้] การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

[แก้] ระดับปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[25]

ป้ายมหาวิทยาลัยนเรศวร

  • ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • ระบบรับตรง (โควต้า) มหาวิทยาลัยดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และเขตพิ้นที่ภาคเหนือตอนบนเฉพาะจังหวัดพะเยา
  • ระบบรับตรง (โควต้า) โครงการพิเศษต่าง ๆ ดังนี้
    • โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนเป็นเลิศ
    • โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน
    • โครงการนักเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ที่สนใจภาษาฝรั่งเศส
    • โครงการสำหรับบุตรเกษตรกร
    • โครงการทายาทธุรกิจ
    • โครงการสำหรับผู้มีความสามารถทางด้านทัศนศิลป์
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษด้านนาฏศิลป์ ดนตรี
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม (โครงการพระฆเนศ)
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษด้านผู้นำเชียร์กีฬา
    • โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬา
  • โครงการภาคพิเศษ โดยเป็นการเรียนในช่วงภาคค่ำ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบคัดเลือก 2 วิธี ดังต่อไปนี้
    • คัดเลือกโดยใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
    • คัดเลือกโดยการสอบของทางมหาวิทยาลัยเอง โดยจะดำเนินการภายหลังการประกาศผลการสอบคัดเลือกเข้าระดับมหาวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว
ดูเพิ่มเติม การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

[แก้] ระดับปริญญาโท

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท[22] ดังนี้

  • การสอบคัดเลือก เป็นการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
  • การคัดเลือก เป็นการคัดเลือกครูประจำการที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อน

[แก้] ระดับปริญญาเอก

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่าง ๆ โดยการพิจารณาของมหาวิทยาลัย หรือสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้[22]

[แก้] อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

ดูบทความหลักที่ อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[26] โดยในภาพรวมด้านการวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 9 ของประเทศไทย[5]

นอกจากนี้แล้ว การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ในอันดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค โดยเป็นอันดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และอันดับ 1,042 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก[27]

[แก้] พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้] พื้นที่การศึกษา

มหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

[แก้] มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน

หรือที่เรียกว่า "มน.ใน" ส่วนนี้เป็นสถานที่ตั้งแรกเดิมของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ณ เลขที่ 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบันคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 คงเหลือแต่เพียงหอศิลป์ สถาบันอารยธรรมศึกษาโขงสาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน "ไภษัชยศาลา" คณะเภสัชศาสตร์ และศูนย์สุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร (สนามบิน) คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

[แก้] มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ

หรือที่เรียกว่า "มน.นอก" ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ประมาณ 10 กม. โดยตั้งอยู่ ณ เลขที่ 99 หมู่ 9 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินสาธารณะโดยชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งหนองอ้อ - ปากคลองจิก" เนื่องจากเคยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นอ้อ และมีต้นจิกปกคลุมไปทั่ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าใช้พื้นที่และทำการปรับรูปที่ดินและถมหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นอาศัยแผนแม่บท (Master Plan) ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี พ.ศ. 2527[7]

ภาพถ่ายทางอากาศของมหาวิทยาลัยนเรศวร

การก่อสร้างอาคารของแต่ละคณะและแต่ละหน่วยงานนั้นคำนึงถึงกลุ่มสาขาวิชาเป็นหลัก โดยมีถนนนเรศวร และถนนเอกาทศรถเป็นถนนสายหลักล้อมรอบมหาวิทยาลัย และมีถนนเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่าง ๆ มีประตูเข้า - ออกโดยรอบมหาวิทยาลัย 6 ประตู ซึ่งอาคารในมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 6 กลุ่มอาคารดังต่อไปนี้

  • กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย อาคารสิรินธร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลทันตกรรม กลุ่มอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร - อาคารศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ - อาคารที่จอดรถ) (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลุ่มอาคารคณะเภสัชศาสตร์ กลุ่มอาคารคณะทันตแพทยศาสตร์ - คณะพยาบาลศาสตร์ - คณะสหเวชศาสตร์ - คณะสาธารณสุขศาสตร์ และอาคารสถานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีและวิศวกรรมชีวภาพทางการแพทย์ (กำลังดำเนินการก่อสร้าง)
  • กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วยกลุ่มอาคารคณะวิทยาศาสตร์ กลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน กลุ่มอาคารคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วยอาคารคณะศึกษาศาสตร์ อาคารวิทยาลัยนานาชาติ (อาคารสำนักหอสมุดเดิม) และกลุ่มอาคารคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ - คณะนิติศาสตร์ - คณะศึกษาศาสตร์ - คณะสังคมศาสตร์ - คณะมนุษยศาสตร์
  • อาคารส่วนกลาง ประกอบด้วย อาคารมิ่งขวัญ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ (สำนักงานอธิการบดี) อาคารอเนกประสงค์ อาคารสำนักหอสมุด อาคารสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ (อาคารเรียนรวมและโรงละคร) อาคารบัณฑิตวิทยาลัย กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต และอาคารสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • อาคารหอพักอาจารย์และนิสิต หอพักอาจารย์มีทั้งหมด 8 หลัง โดยมน.นิเวศ 1 - 4 และ มน.นิเวศ 5,6 อยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8 จะอยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักนิสิตซึ่งประกอบด้วยอาคารขวัญเมือง และหอพักนิสิต 1 - 16 อยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหอพักนิสิตแพทย์ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณข้าง มน.นิเวศ 6 อีกด้วย
  • ศูนย์กีฬา ประกอบด้วย สนามกีฬากลาง สนามเทนนิส สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามตะกร้อ สนามเปตอง สนามฟุตบอล สนามซอฟต์บอล สนามกีฬาในร่ม โรงละครศิลป์ศาลา (โรงละครกลางแจ้ง) อาคารกิจกรรม และสระว่ายน้ำสุพรรณกัลยา
ดูเพิ่มเติม แผนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร

[แก้] สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย

อาคารและสถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีดังนี้

  • อาคารมิ่งขวัญ

เป็นที่ตั้งของหน่วยงานส่วนใหญ่ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี แต่ตัวสำนักงานอธิการบดีอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับอาคารมิ่งขวัญ

  • ลานสมเด็จฯ

คือลานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย

อาคารมิ่งขวัญ (บน) และอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ (สำนักงานอธิการบดี)

  • หอพระเทพรัตน์

หอประดิษฐานพระพุทธรูป ภปร. ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย โดยได้รับพระราชานุญาตให้เป็นศิลปสถานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "หอพระเทพรัตน์" ซึ่งรูปแบบของหอพระเทพรัตน์นี้ออกแบบโดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ โดยมีเอกลักษณ์ให้สะท้อนรูปลักษณะศิลปสถานเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะร่วมกันของสถาปัตยกรรมสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา การจัดวางอาคารนั้นอยู่กลางสระน้ำระหว่างลานสมเด็จฯ สำนักงานอธิการบดี และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีสะพานเชื่อมต่อกับลานสมเด็จฯ และถนนหน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร[28]

  • โดม

เป็นชื่อเรียกของอาคารอเนกประสงค์โดยมีหลังคาคล้ายโดม ซึ่งภายในเป็นห้องอเนกประสงค์และลานกีฬาในร่มสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้อาคารอเนกประสงค์ยังเป็นที่ตั้งของห้องพระราชทานปริญญาบัตร พิพิธภัณฑ์ผ้า กองกิจการนิสิต รวมทั้งชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย

โครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก[29] โดยประกอบด้วย 2 หน่วยงานคือ

พิพิธภัณฑ์ผ้า

ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารอเนกประสงค์ โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผ้าจากชนชาติต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนุ่งห่มและการแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมและนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและของประดับเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าชนิดต่าง ๆ และของที่ระลึกของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ชีวิต

ประกอบด้วยกลุ่มอาคารทรงไทยที่อยู่ข้างสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในจะให้ความรู้ในด้านความเป็นมาของผ้าและการทอผ้า

เป็นโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ โดยเป็นศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super tertiary care) ในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง นอกจากเป็นสถานพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรยังเป็นศูนย์ประชุม ศูนย์การวิจัยและสถานที่ทำการเรียนการสอนนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น ศูนย์วิจัย หรือสถาบันวิจัย

หอพระเทพรัตน์

  • ตึก CITCOMS

เป็นชื่อเรียกของอาคารสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง สถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา และกองบริหารการวิจัย

  • ตึก QS

เป็นชื่อเรียกของอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบไปด้วยอาคารเรียนรวมและอาคารโรงละคร นอกจากนี้ สำนักงานกองบริการการศึกษาและสำนักงานไปรษณีย์ยังตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารเรียนรวมอีกด้วย

  • สวนเทเลทับบี้

เป็นสวนสาธารณะกลางมหาวิทยาลัยโดยตั้งอยู่ระหว่างอาคารสำนักหอสมุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ โดยชื่ออย่างเป็นทางการของสวนนี้คือ "กรีน แอเรีย" (Green Area) หรือ "โอเอซิส" (Oasis) จนกระทั่งมีภาพยนตร์สำหรับเด็กเรื่อง "เทเลทับบี้" เข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งลักษณะของสวนมีความคล้ายคลึงกับสวนในภาพยนตร์ นิสิตจึงเรียกกันเล่น ๆ ว่าสวนเทเลทับบี้จนติดปาก

  • สวนพลังงาน

ตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยพลังงานทดแทน โดยเป็นสวนตัวอย่างที่เป็นแหล่งสาธิตการใช้งานจริงของระบบพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และมีศูนย์ธุรกิจที่เป็นแหล่งของความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการดำเนินการส่งเสริมธุรกิจทางด้านพลังงานทดแทน[30]

[แก้] ชีวิตในมหาวิทยาลัย

การเรียนในมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นจะใช้เวลาในการเรียนต่างกันตามแต่ละหลักสูตรในแต่ละคณะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการเรียน 4 ปี แต่สำหรับคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และหลักสูตรคู่ขนานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี[25] นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อที่จะได้พบปะและทำความรู้จักนิสิตในคณะอื่น ซึ่งมีการจัดหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี

[แก้] กิจกรรมและประเพณีของมหาวิทยาลัย

สวนเทเลทับบี้

รับน้องเฟรชชี่และบีกินนิ่งแคมป์ (Beginning Camp) 
กิจกรรมรับน้องใหม่ก่อนเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 สำหรับนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อให้นิสิตใหม่รู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้นและให้ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้อง-พี่
กิจกรรมประชุมเชียร์ 
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของนิสิตชั้นปีที่ 1 และเป็นการสอนร้องเพลงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งภายหลังกิจกรรมประชุมเชียร์แล้ว แต่ละคณะมักจะให้มีการซ้อมการแสดงสแตนเชียร์ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ก่อนการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมประชุมเชียร์นี้จะจัดขึ้นในห้องเชียร์ ของแต่ละคณะ
หนองอ้อเกมส์ 
กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตคณะต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์ของแต่ละคณะ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
งานเปิดโลกกิจกรรมและเฟรชชี่ ไนท์ (Freshy Night) 
กิจกรรมที่ให้นิสิตชั้นปีที่ 1 เลือกเข้าชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการแสดงดนตรี การแสดงของนิสิตแต่ละคณะ และการประกวดดาวและเดือนของมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้น ณ อาคารเอนกประสงค์
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 
จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ของทุกปีในคณะต่าง ๆ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายในงานจะมีนิทรรศการความรู้และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้มากมาย
งานลอยกระทง เทิดไท้องค์ราชันย์ มิ่งขวัญนเรศวร 
งานประเพณีลอยกระทงของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกปีในวันลอยกระทง โดยภายในงานจะมีขบวนแห่กระทงยักษ์ของแต่ละคณะ งานจัดร้านขายของและซุ้มเกมส์ของนิสิตแต่ละคณะ รวมทั้งงานแสดงมหรสพอีกมากมาย

อาคารอเนกประสงค์ (โดม)

งานเทา-งามสัมพันธ์ 

งานสานความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยที่เคยเป็นวิทยาลัยวิชาการการศึกษาในอดีต ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ[31]

งานกีฬาเฮลธ์ไซนซ์ (Health Sciences Games) 

เป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 7 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปี

เอ็นยู วอยซ์ มิวสิก คอนเทสต์ (NU. Voice Music Contest) 

งานประกวดการขับร้องเพลงไทยสากลและเพลงสากลประจำปีของมหาวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมหรือมกราคม ของทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภายในของแต่ละคณะ และกิจกรรมระหว่างคณะของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย

ดูเพิ่มเติม กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

[แก้] การพักอาศัยของนิสิต

อาคารขวัญเมืองและหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

เนื่องจากมหาวิทยาลัยตั้งอยู่นอกเขตตัวเมือง ทำให้นิสิตส่วนใหญ่ทั้งที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพิษณุโลก และนิสิตที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ มีความจำเป็นในการพักอาศัยในหอพักบริเวณมหาวิทยาลัย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างหอพักนิสิตภายในมหาวิทยาลัย โดยมีนโยบายให้นิสิตชั้นปี 1 ทุกคณะ พักอาศัยอยู่ภายในหอพักนิสิตของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนนิสิตคณะอื่น ๆ ซึ่งหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบริเวณข้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นอาคาร 4 ชั้น มีทั้งสิ้น 15 อาคาร โดยมี "อาคารขวัญเมือง" เป็นอาคารบริการและอาคารอเนกประสงค์ของหอพักนิสิต การพักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายรายเทอม[32] และในส่วนของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ทางคณะมีหอพักให้สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 - 6 โดยเก็บค่าใช้จ่ายรายปี

สำหรับนิสิตชั้นปีอื่น ๆ สามารถเช่าหอพักเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย[33]

[แก้] พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประจำทุกปีนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ณ ห้องพระราชทานปริญญาบัตร ภายในอาคารอเนกประสงค์

[แก้] งานเทา-งามสัมพันธ์

กิจกรรมเทา-งามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี "เทา" ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า "งาม" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น "เทา-งามสัมพันธ์" ซึ่ง " มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ " เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 อธิการบดีทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้านคือด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการร่วมกัน

[แก้] การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (นครสวรรค์ - พิษณุโลก) มหาวิทยาลัยนเรศวรจะตั้งอยู่ทางขวามือช่วงกิโลเมตรที่ 117 - 118 สำหรับการเดินทางจากภายในตัวเมืองพิษณุโลกมาที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น สามารถทำได้โดย

  • รถโดยสารประจำทาง ปอ.12 ซึ่งจะมีจุดจอดอยู่ที่ สถานีรถไฟและสถานีขนส่งพิษณุโลก
  • รถสามล้อรับจ้าง
  • รถแท๊กซี่รับจ้าง

ส่วนจุดจอดรถโดยสารประจำทาง ปอ.12 ในมหาวิทยาลัยนั้นจะจอดที่ป้ายรถโดยสารประจำทางเยื้องหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8

สำหรับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยจะมี "โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร (ขสมน.)" ซึ่งเป็นรถประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าบริการรอบมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เวลา 6.30 น. ถึง 24.00 น.

ดูเพิ่มเติม แผนที่เส้นทางเดินรถไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร

[แก้] บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

บุคคลสำคัญที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก จนกระทั่งถึงสมัยมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งคณาจารย์ปัจจุบัน และบุคคลที่มีชื่อเสียง มีหลากหลายตั้งแต่บุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง, นักวิชาการ, ศิลปิน, ข้าราชการและคณาจารย์ เช่น

[แก้] การออกนอกระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล

การออกนอกระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลของมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น มีที่มาตั้งแต่การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ต่อสภามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2542 และผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2547[34] ต่อมาคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้มีมติเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[35]

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ฉบับออกไป แต่ต่อมาภายหลังจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียบร้อยแล้ว ทางศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้เสนอนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เพื่อพิจารณาให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับข้างต้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[35] จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สอบถามมายังสภามหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันการเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้ทำการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีมติเห็นชอบและให้การสนับสนุนด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 7[36][37]

รัฐบาลจึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าบรรจุเป็นวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฉบับ ส่วนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ให้ชะลอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[34]

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้มีกลุ่มนิสิตของมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์แสดงความเคลือบแคลงสงสัยในขั้นตอนการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยน้อยเกินไป ทำให้นิสิตไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังขาดกระบวนการทำประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง โดยนิสิตที่เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของนิสิตในการประชุมเสนอความเห็น เพียงแต่บอกข้อดี ข้อเสีย และความไม่โปร่งใสเนื่องจากมีการเข้าวาระการพิจารณาอย่างเร่งด่วน[38] และในวันเดียวกันนั้นได้มีนิสิตประมาณ 500 คนเดินขบวนประท้วงรอบมหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย[39]

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วาระประชุมในสภา เพื่อขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้นิสิตมีส่วนร่วมในร่างนี้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมาทำความเข้าใจตกลงร่วมกันกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อน[37] ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้งในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550[40] แต่ต่อมาได้ยกเลิกโดยให้เหตุผลว่าการทำความเข้าใจกับบุคลากรและนิสิตอย่างทั่วถึง จะต้องใช้เวลาพอสมควรหากจะดำเนินการในระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาขึ้นอีกได้ จึงเห็นควรชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ไปจนกว่าจะทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายจึงจะดำเนินการนำเสนอต่อไป[41][42]

ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากได้เลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง[43]

อัพเดทล่าสุด