อัมพวา ตลาดนำยามเย็น ที่น่าเที่ยวมากๆ


1,008 ผู้ชม


อัมพวา ตลาดน้ำยามเย็น

อัมพวา ตลาดน้ำยามเย็น

ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในช่วงเวลาเย็น ไม่จำเป็นต้องตื่นเช้า ของอร่อยไม่น้อยชมหิงห้อยยามค่ำคืน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย...ข้อมูล
นุ บางบ่อ
... ภาพ

 

     อำเภออัมพวามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยก่อนเรียกกันว่า “แขวงบางช้าง”  เป็นชุมชนเล็ก ๆ  ที่มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตร และการพาณิชย์ มีหลักฐานเชื่อได้ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก  นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชินิกุล “ณ บางช้าง” 
     พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)  เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ภายหลังหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีบางช้าง และย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี 
ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม ปี พ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า “บุญรอด” (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ในรัชกาลที่ 2) 
    ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี พระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมด และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เองคุณนาคภรรยาก็ได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชายชื่อ ฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) 
หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และได้ดำรงตำแหน่งจนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ต้นราชวงศ์จักรีเริ่มเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คุณนาคภรรยาจึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้นมารดาคุณนาค ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี 
    แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติต่างๆ ที่สนิทประกอบอาชีพทำสวนอยู่ที่บางช้าง เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงนับเป็นราชินิกุล “บางช้าง” พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ 
จึงมีคำกล่าวเรียกว่า “สวนนอก” หมายถึง สวนบ้านนอก ที่เป็นของวงศ์ราชินิกุลบางช้าง ส่วนบางกอก ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า “สวนใน” มีคำกล่าวว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” จนถึงใน สมัยรัชกาลที่ 4 จึงยกเลิกไป  อัมเภออัมพวาจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน 
ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา 
     เป็นตลาดริมคลอง ตั้งอยู่ใกล้วัดอัมพวันเจติยาราม (จอดรถที่วัดอัมพวันเจติยารามได้) ทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00 - 21.00 น. ในคลองอัมพวาจะมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือขายอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ โอเลี้ยง ขนมหวานต่างๆ 
และมีรถเข็นขายของบนบกด้วย บรรยากาศสบายๆ มีเพลงฟัง จากเสียงตามสายของชาวชุมชน  ประชาชนสามารถเดินเที่ยวชมตลาดหาซื้ออาหารรับประทาน และเช่าเรือไปเที่ยวชมดูหิงห้อยในยามค่ำคืนได้
ล่องเรือชมหิ่งห้อย 
    
การล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาพักมาเที่ยวสมุทรสงครามมักไม่พลาดที่จะไปชมดยปกติแล้วหิ่งห้อยจะมีมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ควรเลือกชมในช่วงเวลาที่เป็นข้างแรมหรือคืนเดือนมืด เพราะเห็นแสงของหิ่งห้อยได้ชัดเจนกว่าเวลาข้างขึ้น 
นอกจากนี้ควรเลือกช่วงเวลาที่น้ำขึ้นมากเนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลน้ำจะขึ้น-ลง อยู่ตลอดเวลา ในช่วงน้ำขึ้นเรือสามารถเข้าไปใกล้กับต้นลำพูซึ่งหิ่งห้อยเกาะอยู่ ทำให้สามารถเห็นแสงของหิ่งห้อยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 
     นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะนั่งเรือชมหิ่งห้อยประกายความงามยามค่ำคืน สามารถติดต่อเรือได้ ซึ่งทางชุมชนตลาดอัมพวาได้จัดบริการไว้ให้ที่ตลาดน้ำอัมพวา (ราคา 50-60 บาท/ท่าน)  หรือจะติดต่อกับที่พักหรือโฮมสเตย์ต่าง ๆ ในอัมพวาก็ได้ โดยเรือจะล่องไปตามลำน้ำแม่กลองหรือคลองย่อยต่าง ๆ ที่มีต้นลำพูริมฝั่ง 

      ก่อนเช่าเรือ นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบระยะทางการล่องเรือชมหิ่งห้อยกับผู้ให้บริการเสียก่อน เรือจะวิ่งไปตามแม่น้ำและลำคลองที่มืดหิ่งห้อยจะมีอยู่เป็นจุดๆ ในบริเวณที่แตกต่างกัน ถ้าหากผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญในเส้นทาง และรู้แหล่งที่อยู่หรือให้บริการในเส้นทางที่สั้นเกินไปย่อมทำให้นักท่องเที่ยวเห็นหิ่งห้อยได้น้อย และควรใส่ชูชีพตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย สำหรับข้อปฎิบัติในการชมหิ่งห้อย คือ ไม่ควรส่งเสียงดัง และไม่จับหรือทำสิ่งใดที่รบกวนหิ่งห้อยโดยเด็ดขาด เพื่อให้ธรรมชาติถูกรบกวนน้อยที่สุดและมีหิ่งห้อยให้ชมไปนาน ๆ 

อัพเดทล่าสุด