พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ที่มาของพจนานุกรม ความหมาย


1,583 ผู้ชม


เรื่องของพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม และ อนุกรมวิธาน

          ในแวดวงการศึกษาทุกระดับตลอดจนงานวิชาการซึ่งต้องการค้นคว้าวิจัย สิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งนอกจากการทดลองในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังต้องอาศัยตำราวิชาการเฉพาะสาขา คือ พวก textbook และหนังสืออ้างอิง คือ พวก reference book

          ราชบัณฑิตยสถานมีการจัดทำหนังสือทั้งพวก textbook และพวก reference book โดยพวกหลังยังแยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ คือ

          - พจนานุกรม
          - สารานุกรม
          - อักขรานุกรม
          - อนุกรมวิธาน และ
          - บัญญัติศัพท์

          ชื่อหนังสือทั้ง ๕ ประเภทมีลักษณะเป็นศัพท์ซึ่งผูกขึ้นจากคำบาลี-สันสกฤต และ ๔ ชื่อแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยมีคำว่า กรม ประกอบอยู่ด้วย ผู้ที่ไม่สันทัดในเรื่องของภาษาโดยเฉพาะภาษาบาลี-สันสกฤต และไม่ใช่นักศึกษาหรืออยู่ในวงวิชาการโดยตรงที่ต้องอาศัยหนังสืออ้างอิงในชีวิตการทำงานประจำวัน ก็คงจะไม่ทราบว่าหนังสือเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร นอกจากคำ พจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม  และอนุกรมวิธาน  แล้ว บางคนก็อาจจะเคยได้พบคำปทานุกรม  หรือ ศัพทานุกรม  อีกด้วย ซึ่งก็จะยิ่งสร้างความฉงนและสับสนมากขึ้น

          พจนานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษา พจนานุกรมภาษาใดก็ต้องรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษานั้น จัดเรียงตามลำดับของคำตามตัวอักษร ตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องของอักขรวิธี (คือ การเขียนและสะกดการันต์) บอกเสียงอ่าน ความหมายของคำแต่เพียงสั้น ๆ และบอกประวัติที่มาของคำ

          ความหมายของพจนานุกรมข้างต้นเป็นความหมายหลักของคำ dictionary เพราะความหมายรองของ dictionary ยังหมายถึงหนังสือที่รวบรวมคำเฉพาะที่ใช้ในวิชานั้น ๆ จัดเรียงตามลำดับอักษร โดยมีคำอธิบายสั้น ๆ เช่น พจนานุกรมภูมิศาสตร์ พจนานุกรมวิทยาศาสตร์

          พจนานุกรมจึงเป็นหนังสือที่ใช้สำหรับค้นคำและความหมายของคำซึ่งเรียงตามลำดับอักษร คำ พจนานุกรม มาจากคำว่า พจน (คำ, คำพูด, ถ้อยคำ) สนธิกับคำอนุกรม (ลำดับ) ความหมายตามตัวว่า ลำดับคำ

          ก่อนหน้าที่จะมีคำ พจนานุกรม ขึ้นใช้คือ ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ พวกมิชชันนารีซึ่งได้เข้ามาเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ได้เคยจัดทำหนังสือชนิดนี้มาแล้ว และใช้ชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ฉบับของหมอจันดเล (พ.ศ. ๒๓๘๘) ใช้ทับศัพท์ว่า ดิกชันนารี ฉบับของหมอบรัดเล เรียกว่า อักขราภิธานศรับท์ ฉบับของสังฆราชปาเลกัว เรียกว่า สัพพะพจนะภาสาไทย ฉบับของบาทหลวงเวย์ ซึ่งนำฉบับของสังฆราชปาเลกัวมาแก้ไขเพิ่มเติมใช้ชื่อว่า "ศิรพจนะภาษาไทย" (พ.ศ. ๒๔๓๙) ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ) จึงได้ตีพิมพ์หนังสือ ปทานุกรม ออกเผยแพร่และใช้ในราชการ คำ "ปทานุกรม" จึงใช้เป็นชื่อเรียกหนังสือประเภทนี้

          พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงธรรมการได้ตั้งคณะกรรมการชำระปทานุกรม เพื่อชำระข้อบกพร่องและแก้ไขหนังสือปทานุกรมให้ดีขึ้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงชื่อหนังสือที่เรียกว่า "ปทานุกรม" แล้ว มีความเห็นควรให้ใช้คำ พจนานุกรม แทน เพราะมีความหมายตรงกับคำ dictionary มากกว่า "ปทานุกรม" ที่ว่า ปทานุกรม ไม่ตรงกับคำ dictionary เพราะคำปทานุกรม เกิดจากคำ "ปท" (บท) สนธิกับคำ อนุกรม แปลตามตัวว่า "ลำดับบท" คำ "บท" ในภาษาบาลี-สันสกฤต หมายถึงคำที่แต่งรูปโดยมีการประกอบวิภัตติปัจจัยแล้ว เช่น คำ มนุสฺโส (= มนุษย์คนเดียว ใช้เป็นประธานของประโยค), มนุสฺสํ (= มนุษย์คนเดียว ใช้เป็นกรรมของประโยค) นับเป็น "บท" เพราะประกอบวิภัตติแล้ว โดยมาจากคำ (พจน) มนุสฺส พจนานุกรมจะไม่เก็บคำที่เป็น "บท" คือ มนุสฺโส ฯลฯ แต่จะเก็บ "คำ" คือ มนุสฺส หรือที่เขียนในรูปที่นิยมใช้ในภาษาไทย คือ มนุษย์ เท่านั้น เหตุนี้จึงได้ใช้คำ พจนานุกรม แทน

          พจนานุกรมเป็นหนังสือที่มีความสำคัญยิ่งของแต่ละชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง สำหรับประเทศไทยก็มีผู้จัดทำพจนานุกรมขึ้นเผยแพร่หลายเล่ม แต่พจนานุกรมฉบับที่รัฐบาลกำหนดให้หน่วยราชการและโรงเรียนใช้เป็นมาตรฐาน คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๔ การจัดทำพจนานุกรมนี้ราชบัณฑิตยสถานได้รับโอนงานชำระปทานุกรม ของกระทรวงธรรมการมาดำเนินการต่อตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗

          สารานุกรม มาจากการนำคำ สาร (หนังสือส่วนสำคัญ, เรื่องที่เป็นสาระ) สนธิกับคำ อนุกรม แปลตามตัวพยัญชนะ คือ ลำดับเรื่อง คำ สารานุกรม ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า encyclopaedia

          สารานุกรม เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกสาขาวิชา และจัดเรียงตามลำดับอักษร หรืออาจใช้วิธีอื่นใดที่จะค้นหาได้สะดวกรวดเร็ว มีคำอธิบายเรื่องราวนั้น ๆ อย่างละเอียดสมบูรณ์ สารานุกรมก็เช่นเดียวกับพจนานุกรมคือ อาจจะเป็นเรื่องเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้ เช่น สารานุกรมดนตรี

          สารานุกรมจึงเป็นหนังสือที่เป็นเครื่องมือใช้ย่นระยะเวลาศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่ต้องการโดยไม่ต้องเสียเวลาค้นหาหนังสือหลาย ๆ เล่ม เพราะได้บรรจุความรู้ทุกแขนงวิชาอย่างละเอียดไว้

          การจัดทำสารานุกรมของราชบัณฑิตยสถานได้เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากมีอุปสรรคบางประการ ต่อมาได้มีการรื้อฟื้นงานจัดทำสารานุกรมขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ปัจจุบันได้จัดทำไปถึงอักษร ม รวมเป็นหนังสือเล่มใหญ่ได้ ๒๑ เล่ม

          อักขรานุกรม เป็นหนังสืออ้างอิงอีกประเภทหนึ่ง คล้ายคลึงกับพจนานุกรมหรือสารานุกรม เรียกเต็มว่า อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ มาจากการประกอบคำ อักขร (ตัวหนังสือ) + อนุกรม (ลำดับ) + ภูมิศาสตร์ (วิชาที่ว่าด้วยลักษณะ สภาพ ที่ตั้ง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ฯลฯ ของโลก) ความหมายตามตัวอักษร คือ เรื่องภูมิศาสตร์ที่ลำดับตามตัวอักษร คำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ตรงกับคำ gazetteer พจนานุกรม Webster ให้นิยามว่า a book containing geographical names and descriptions, alphabetically aranged; a geographical index or dictionary.

          ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ของโลกแทรกเป็นภาคผนวกไว้ โดยเก็บชื่อบ้านเมือง ทะเล ภูเขา ฯลฯ แล้วบอกที่ตั้ง จำนวนประชากร อาชีพ เส้นทางคมนาคม ตำนานของภูมิภาคนั้น ๆ ฯลฯ โดยอาจจะบอกย่อ ๆ พอให้ทราบก็มี ที่บอกละเอียดและแยกเป็นเล่มต่างหากก็มี หรือที่เป็นของเฉพาะประเทศก็มี หรือที่เป็นของเฉพาะประเทศก็มี  อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไม่ใช่หนังสือตำราภูมิศาสตร์ แต่เป็นหนังสือคู่มือประเภทพจนานุกรมที่จะสอบค้นว่า สถานที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ คืออะไร อยู่ที่ใด มีเส้นทางที่จะไปถึงที่นั้น ๆ โดยวิธีใด ฯลฯ โดยไม่ต้องเสียเวลาสอบหาจากหนังสือภูมิศาสตร์หลาย ๆ เล่ม หรือสอบถามผู้อื่น ซึ่งก็อาจจะไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือหาผู้ชี้แจงได้เพราะบางทีก็ไม่ทราบและไม่เคยไป

          รัฐบาลได้มีโครงการจัดทำหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้ว โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการชำระปทานุกรม และเมื่อมีการโอนงานชำระปทานุกรมและงานทำอักขรานุกรมมาเป็นงานของราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ได้ดำเนินการจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องหยุดลงจนกระทั่งรื้อฟื้นงานนี้ขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ และสามารถจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยเสร็จสมบูรณ์ออกเผยแพร่ ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ปัจจุบันหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ มีจำนวนชุดละ ๖ เล่ม

          อนุกรมวิธาน มาจากคำ อนุกรม  สมาสกับคำ วิธาน  (การจัดแจง, การทำ; กฎ, เกณฑ์) ความหมายตามตัวอักษรแปลว่า การจัดแบ่งตามลำดับ  เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ตรงกับคำอังกฤษว่า taxonomy พจนานุกรม Webster ให้นิยามไว้ว่า

          1. the sciences of classification the law and principles covering the classifying of objects.
          2. classification, expecially of animals and plants into phyla, species etc.

          หนังสืออนุกรมวิธาน จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสัตว์ และพืชออกเป็นหมวด (phylum) ชั้น (class) อันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) ชนิด species) ฯลฯ ตามกฎและเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพรรณนาลักษณะของสัตว์และพืชนั้น ๆ ด้วย

          ราชบัณฑิตยสถานเพิ่งได้ริเริ่มงานจัดทำอนุกรมวิธานขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยแยกเป็นการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ และอนุกรมวิธานพืช ปัจจุบันงานนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก่อนหน้านั้นคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ ราชบัณฑิตยสถานได้เคยจัดพิมพ์หนังสือ Flora of Thailand และ Fishes of Thailand ของ ศ.โชติ สุวัตถิ ราชบัณฑิต ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้นำวิชาอนุกรมวิธานเข้ามาสอนในประเทศไทย หนังสือทั้ง ๒ เล่มเป็นหนังสือประเภทอนุกรมวิธาน

          บทความนี้คงจะช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจชื่อประเภทหนังสือต่าง ๆ ที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำเผยแพร่ได้มีความเข้าใจกระจ่างขึ้นได้บ้าง

                                   เลือกหนังสือดีมีคุณค่าเพื่อค้นคว้าอ้างอิง
          ค้นความหมายและการเขียนคำภาษาไทย           ใช้ พจนานุกรม
          ค้นความรู้ทุกแขนง                                           ใช้ สารานุกรม
          ค้นชื่อทางภูมิศาสตร์ของไทย                             
ใช้ อักขรานุกรม
          ค้นศัพท์ภาษาไทยที่มาจากภาษาต่างประเทศ      
ใช้ ศัพท์บัญญัติ


ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖, เมษายน ๒๕๓๓

ห้องสมุดความรู้ : พจนานุกรม

 แปลภาษา อังกฤษ-ไทยตัวอย่างคำศัพท์
พจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย อ. สอ เสถบุตรegg   slave driver   tubing   ring down the curtain   yet
พจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย LEXiTRONabase   slave driver   Achilles' hell   A.M.    A.B.  
 แปลภาษา ไทย-อังกฤษตัวอย่างคำศัพท์
พจนานุกรมแปลภาษาไทย-อังกฤษ อ. สอ เสถบุตรตกปลา   ดวงตราไปรษณีย์   บทเพลง   ทฎษฎีแห่งความสัมพันธ์ 
พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ LEXiTRONคำรับสารภาพ   ภาสกร   ทุกราย   อาเชี่ยน   ระเบียบวาระการประชุม  
 แปลภาษา ไทย-ไทยตัวอย่างคำศัพท์
พจนานุกรม ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถานสบายอารมณ์   พังกา   น้ำหมึก   ยุแยงตะแคงแส่   มโนทุจริต  
พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นครขุน   ดุลการค้า   ตะกรวย   วันอุบาทว์   ดินสำลี  
พจนานุกรม ศัพท์แสลงฟั่น   แดนซ์ดับ   หูดำ   กิ๊บกั๊บ   ฮะเมี้ยว
พจนานุกรม คำราชาศัพท์เส้นเลือด   พระสุวรรณภิงคาร   พระบังคนเบา   เครื่องลาด   คำสั่งสอน  
 ศัพท์บัญญัติวิชาการตัวอย่างคำศัพท์
คำศัพท์คอมพิวเตอร์capture   เครื่องอ่านอักขระหมึกแม่เหล็ก   โอเล   ส่วนอุปกรณ์   database management system  
ภาพปลาและสัตว์น้ำไทย กรมประมงCOMMON SHEATFISH   หอยขม   PAINTED BATAGUR TERRAPIN   ปูหิน  
ตารางธาตุซิลิกอน   At   Iridium   Cd   ทังสเตน  
 พจนานุกรม อื่น ๆ ตัวอย่างคำศัพท์
ข้อมูลประเทศบรัสเซลส์   ฮาวาน่า   โดฮา   เม็กซิโก   CASTRUES  
ข้อมูลจังหวัดประเทศไทยลย   พง   สพ   สงขลา   ระยอง

อัพเดทล่าสุด