เกร็ดความรู้ ระวังภัยในบ้าน ของลูกวัยซน
ช่วงที่ลูกมีพัฒนาการตามลำดับ เปลี่ยนแปลงตามวัย สิ่งที่คุณต้องคอยระวังเป็นพิเศษคือเรื่องอุบัติเหตุ เพราะลูกน้อยเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้มากขึ้น ไม่อยู่นิ่งอีกต่อไป เรามีข้อมูลการดูแลเรื่องความปลอดภัย ที่พ่อแม่ทำได้มาฝากค่ะ
ห้องนอน
เวลาส่วนใหญ่ของเด็กแรกเกิด เป็นเรื่องกินและนอน กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายยังมีไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังต้องเฝ้าดู ระวังเป็นพิเศษกับพื้นที่ภายในห้องนอนค่ะ
ปลอดภัยไว้ก่อน
อย่าปล่อยให้ลูกนอนเล่นหรืออยู่บนเตียงตามลำพัง เพราะผ้าห่ม หมอน หรือของเล่นโมบายแขวนชวนให้ลูกมอง อาจหล่นลงมาทับ ปิดบังทางเดินหายใจ ทำให้ลูกหายใจไม่ออก
ที่นอนของลูกควรพอดีกับเตียงนอน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ทำให้ศีรษะลูกเข้าไปติดค้างอยู่ตรงช่องว่างนั้น
ไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนที่มีน้ำหนัก เพราะอาจล้มมาทับลูกน้อย หรือมีขอบเป็นเหลี่ยมคม เป็นอันตรายในห้องนอน
ห้องนั่งเล่น
เมื่อคอและหลังของลูกเริ่มแข็งแรง ควบคุมศีรษะได้ตั้งตรง หรือประคองลำตัวนั่งได้ คุณแม่อาจชวนลูกสนุกอยู่กับมุมนั่งเล่นภายในบ้านอย่างปลอดภัย จากวิธีต่อไปนี้
ปลอดภัยไว้ก่อน
หากลูกนั่งได้ไม่นาน ขณะนั่งเล่นหรืออุ้มลูก คุณแม่ต้องระวังเรื่องศีรษะให้ดี ไม่ให้โงนเงนหรือหงายหลังศีรษะกระแทกพื้น
พรมหรือยางปูพื้นพื้นที่ที่ลูกนั่งเล่นคุณแม่ต้องมั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยกับลูกน้อย
ดูแลและจัดเก็บสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจเป็นอันตราย ลูกเผลอไปหยิบเล่นได้ เช่น กระติกน้ำร้อน ของมีคม เป็นต้น
ห้องโถงและบันได
หลังจากพลิกคว่ำสักระยะ จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยของคุณแม่เริ่มเรียนรู้โลกกว้าง ด้วยการคลานไปมาทั่วบ้าน ปัญหาเรื่องวุ่นอาจตามมาด้วย ทางที่ดีคุณแม่ควรจัดเตรียมพื้นที่ภายในบ้านให้ปลอดภัยดีกว่าค่ะ
ปลอดภัยไว้ก่อน
ไม่ควรวางสิ่งของไว้ตามทางเดินหรือขั้นบันได ถ้าเป็นไปได้เพื่อป้องกัน การบาดเจ็บพลัดหล่นตกจากบันได คุณแม่ควรหาที่กั้นมากันไว้
ควรเอาเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อเคลื่อนที่ได้ออกพ้นบริเวณที่ลูกคลานเล่น หรือเกาะยืน
ไม่วางของมีคม ของร้อน ทิ้งเอาไว้ กระดุม เศษกระดาษ หรือของชิ้นเล็ก ๆ ที่หยิบจับเข้าปากได้ ก็เป็นอันตรายกับลูก
ห้องครัว
ช่วงที่ลูกมีทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี เริ่มเกาะยืน ปีนป่ายไปทั่วบ้าน นอกจากบ่งบอกถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน-ขาแล้ว ยังส่งสัญญาณด้วยว่า ลูกเป็นนักสำรวจตัวน้อยแล้วค่ะ
ปลอดภัยไว้ก่อน
ควรเก็บสิ่งของเครื่องใช้ในครัว เช่น มีด ส้อม กรรไกร เป็นต้น ให้ห่างต่อการเอื้อมคว้าหรือหยิบจับได้ง่าย
ตู้หรือลิ้นชักต่าง ๆ ล็อกหรือปิดให้สนิท เพื่อไม่ให้ลูกดึงเล่นหรือสอดนิ้วมือ จนเกิดอุบัติเหตุ
สายไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในครัว ควรเก็บให้ห่างจากมือลูกน้อย และถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จแล้ว เพื่อป้องกัน การดึงสายไฟไปเล่นได้
ห้องน้ำ
เป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น มักจะคว้าตัวลูกไว้ไม่ทัน ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บ จงระวังลูกน้อยวัยซนให้ดี
ปลอดภัยไว้ก่อน
ควรเก็บสารเคมีที่เป็นอันตรายให้มิดชิดและพ้นมือลูก ป้องกันไม่ให้ลูกสูดดมหรือกลืนกินใส่ปาก
ต้องคอยระวังสิ่งของเครื่องใช้ในห้องน้ำให้ดี เช่น กะละมัง อ่างน้ำ ถังน้ำ ก็เป็นตัวก่ออุบัติเหตุการจมน้ำได้
วิธีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรปล่อยลูกไว้ตามลำพังค่ะ