Facebook ต้นเหตุอาจเสี่ยงโรคร้าย


1,029 ผู้ชม


Facebook อาจเสี่ยงโรคร้าย

เล่น Facebook
 


          นักจิตวิทยาบอกว่า เว็บไซต์หาเพื่อนอย่าง Facebook อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่คนเราจะเป็นโรคร้ายได้สารพัด เพราะทำให้เราไม่ได้เจอหน้าญาติสนิทมิตรสหาย
          ดร.เอริก ซิกแมน รายงานในวารสาร  Biologist ของสมาคมชีววิทยาว่า การส่งอีเมลแทนที่จะได้พบปะพูดจากันตัวต่อตัว ทำให้คนเราโดดเดี่ยว
          การอยู่คนเดียวจะส่งผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารพันธุกรรมหรือยีน รบกวนระบบภูมิคุ้มกัน ระดับฮอร์โมน และการทำงานของเส้นเลือด รวมทั้งบั่นทอนความรู้สึกนึกคิด
          ทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก โรคหัวใจ  และความจำเสื่อม
          พวกเว็บไซต์หาเพื่อน เช่น  MySpace และ Facebook เปิดทางให้ผู้คนสามารถติดต่อกับเพื่อนผ่านทางเว็บ หรือแลกรูปถ่าย เล่นเกม หรือบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ สู่กันอ่านได้
          แต่ถึงแม้เว็บพวกนี้มีไว้เพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสาร แต่ ดร.ซิกแมนบอกว่า ของเหล่านี้จะยิ่งทำให้เราอยู่ตามลำพังมากขึ้น โดยผลวิจัยระบุว่า  นับแต่ผู้คนเริ่มหันมาใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2530 ใครต่อใครต่างก็ใช้เวลาพบหน้าค่าตากับคนอื่นน้อยชั่วโมงลงอย่างมาก
          ดร.ซิกแมนบอกว่า การพบปะพูดจากันโดยเห็นหน้าเห็นตัวกันนั้น ส่งผลต่อร่างกายของเราในแบบที่ไม่ปรากฏในกรณีการใช้อีเมล เช่น ระดับฮอร์โมนออกซีท็อกซิน ซึ่งส่งผลสร้างความรู้สึกผูกพัน ฉะนั้นการเจอตัวเป็น ๆ ของกันและกันจะให้ผลแตกต่างกับการติดต่อแบบเสมือนจริงมาก
          หรือยีนบางตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และตอบสนองต่อความเครียด ก็จะทำงานผิดแผกกันไปตามระดับของการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ
          ดร.ซิกแมน บอกว่า เว็บไซต์สร้างเครือข่ายทางสังคม เป็นพวกที่ขยายตัวเร็วที่สุดบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในหมู่เด็กและวัยรุ่น เด็กอังกฤษมีโน้ตบุ๊คหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องนอนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และมีไซต์หาเพื่อนของตัวเอง เช่น myCBBC ของ  BBC เป็นต้น
          ผลวิจัยพบว่า เด็กที่เรียนด้วยวิดีโอหรือดีวีดี ไม่ได้เรียนรู้อย่างดีเมื่อเทียบกับการได้เรียนกับครูจริง ๆ
          ดร.ซิกแมนบอกว่า มีการค้นพบยีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเข้าสังคมแล้ว 209 ตัว  ซึ่งบางตัวยังทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน การแพร่กระจายเซลล์ และการตอบสนองต่อความเครียดด้วย การทำหน้าที่ของยีนพวกนี้จึงมีผลต่อโรคติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับสภาพการอยู่โดดเดี่ยวของคนเรา
          สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังบั่นทอนความสามารถของเด็กและวัยรุ่น ที่จะเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมและการอ่านภาษากายด้วย
          ดร.ซิกแมนบอกว่า ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีใครที่จะพูดคุยหารือเรื่องสำคัญได้นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว พ่อแม่ก็มีเวลาให้ลูกน้อยลง  ผู้ปกครองชาวอังกฤษที่ร่วมโต๊ะอาหารกับลูกหลาน มีสัดส่วนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับในประเทศยุโรปอื่น ๆ และจำนวนคนที่ทำงานอยู่กับบ้านคนเดียวก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.thaipost.net/x-cite/010309/1022

อัพเดทล่าสุด