ภัยขนม ถุงทำลาย สุขภาพลูกรัก


816 ผู้ชม


ภัยขนมถุงทำลายสุขภาพลูกรัก

ภัยขนม ถุงทำลาย สุขภาพลูกรัก




          สารพัดขนมถุงที่มีขายในบ้านเรามีให้เลือกมากมาย แล้วก็ยังมีสารพัดโฆษณาที่ล่อตาล่อใจให้เด็ก ๆ อยากลิ้มลองขนมนั้น ๆ โดยหารู้ไม่ว่าเจ้าขนมถุงสีสวย รสชาติถูกปากเด็ก ๆ เป็นต้น เหตุของสารพัดโรค เริ่มตั้งแต่ฟันไปถึงระบบขับถ่ายกันเลย แต่ที่แย่ไปกว่านั้นบางครอบครัวผู้ใหญ่เป็นผู้หยิบยื่นขนมที่ไม่มีประโยชน์ เหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ เอง ฉบับนี้เรามาดูถึงผลที่เด็กได้รับเมื่อขนมถุงเหล่านี้อยู่ในใจเด็ก
          ขนมที่มีอยู่ในท้องตลาดบ้านเรามีมาก หลายยี่ห้อ หลากชนิด แต่ถ้าแบ่งเป็นประเภทอาจจะแบ่งได้ 4 รูปแบบคือ
          1. ขนมที่ไม่เคลือบน้ำตาล
          2. ขนมเคลือบน้ำตาลหรือรสชาติต่างๆ
          3. ลูกอม หมากฝรั่ง เยลลี่
          4. เนื้อสัตว์อบแห้ง
          ส่วนผสมหลักของขนมส่วนใหญ่ คือ คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก รองลงมาก็เป็นน้ำตาล จะมีโปรตีนอยู่บ้างก็น้อยนิด แล้วที่สำคัญกว่านั้น คือ เครื่องปรุงรสที่อยู่ในขนมนั่นเองที่ทำให้ขนมถุงเหล่านี้หาประโยชน์ได้น้อย นิด เพราะขนมนั้นถ้าไม่มีรสหวานมาก ก็เค็มมาก แป้ง ไขมัน และน้ำตาลที่มีอยู่ในขนม ก็ให้แต่พลังงานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ
เมื่อเด็กกินเข้าไปมาก ๆ เกิดอาการติดขนม ด้วยรสชาติที่ถูกปากเด็ก ๆ ทำให้กินอย่างอื่นไม่อร่อย หรือกินขนมจนอิ่มไม่ยอมกินข้าว บวกกับสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สารปรุงแต่งรสชาติ ที่ถึงแม้ว่าจะมีอยู่ในขนมเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าร่างกายได้รับมากๆ สารพิษ เหล่านี้ก็สะสมในร่างกาย ซึ่งมันคงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด แต่จะมีโทษมากน้อยเพียงไรนั้น ก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน
          อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ารสชาติของขนมถุงนั้นมักถูกปากเด็ก ๆ ด้วยความหวานหรือไม่ก็เค็ม เรามาดูกันว่าอันตรายจากรสชาติอร่อย เหล่านี้มีอะไรบ้าง
           เกลือ...เค็ม แต่ดี (น้อย)
          ถ้าร่างกายเราได้รับเกลือ (ซึ่งทางเคมีจะใช้ชื่อว่า โซเดียมคลอไรด์ คือ มีทั้งโซเดียมและคลอไรด์) พอเข้าสู่ร่างกาย ก็จะแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง
เช่น ไปรักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยควบคุมความเป็นกรดด่างของเลือด และเป็นวัตถุดิบในการสร้างน้ำย่อย  ซึ่งร่างกายคนเราไม่ควรได้รับเกลือเกินวันละ 1 ช้อนชา (มีโซเดียมอยู่ 2.4 กรัม)
          ตามขนมถุง และอาหารสำเร็จรูปมีเกลือผสมอยู่มาก ดังนั้น ก่อนกินอาหารพวกนี้ควรพลิกดูฉลากอาหาร ถ้าระบุว่า มีเกลือไม่เกิน 0.25 กรัม หรือโซเดียมไม่เกิน 0.1 กรัม แสดงว่ามีไม่มาก แต่ถ้าระบุว่า มีเกลือเกิน 1.25 กรัม หรือมีโซเดียม 0.5 กรัมขึ้นไป (คิดจากอาหาร 100 กรัม) แสดงว่าอาหารถุงนี้มีเกลือมากเกินไป เพราะในแต่ละวัน เรายังรับประทานอาหารอื่นๆ ที่มีเกลือผสมอยู่ด้วย เช่น จากซีอิ๊ว น้ำปลา และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ
           การที่ร่างกายได้รับเกลือมากเกินไป
           ทำให้ไตเสื่อมสุขภาพ
ซึ่งไตมีหน้าที่ขจัดของเสีย สารพิษที่ละลายในน้ำออกทางปัสสาวะ และดูดซึมเก็บส่วนที่เป็นประโยชน์กับร่างกายไว้ รักษาปริมาณโซเดียมยามที่ร่างกายขาด และระบายโซเดียมเมื่อมีมากเกินไปออกมาทางปัสสาวะ ดังนั้น เมื่อไตเสื่อมสภาพ ก็จะไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ การที่มีปริมาณโซเดียมส่วนเกินอยู่ในเลือดมาก ยิ่งทำให้ไตถูกทำลายมากขึ้น
           เสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดสูง ทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ ไตวาย
           น้ำตาล...หวาน แต่ร้าย 
          นอกจากเกลือที่กล่าวมาแล้ว ยังมีน้ำตาลอีกที่เคลือบขนม เป็นที่ถูกปากของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นของขบเคี้ยวซึ่งมีทั้ง แป้งและน้ำตาล ลูกอม เยลลี่ รวมไปถึงน้ำอัดลม น้ำหวานต่าง ๆ ภัยร้ายอย่างแรกจากน้ำตาลที่ใกล้ตัวเด็ก และเด็กไทยเป็นกันมากเริ่มจาก
          ฟันผุ ซึ่งพบว่าเด็กไทยอายุไม่เกิน 3 ขวบ มีปัญหาฟันผุสูงขึ้น เริ่มพบว่าเด็กฟันผุตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน (ฟันเริ่มขึ้น ก็เริ่มผุกันเลย) บางบ้านอาจจะบอกว่าแปรงฟันให้ลูกดีไม่มีปัญหา แต่การกินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก ก็มีผลทำให้ฟันเป็นคราบเหลืองติดได้ ถึงแม้จะแปรงฟันสะอาดก็ตาม
          อ้วน ความอ้วน เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอีกสารพัดชนิดตามมา รวมถึงทำให้เด็กมีปมด้อยด้านจิตใจอีกด้วย (หากถูกเพื่อน ๆ ล้อ) รวมถึงมีบุคลิกภาพไม่ดี
เติบโตไม่สมวัย เมื่อเด็กได้กินขนมมาก จึงไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์เข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารร่างกายเติบโตไม่สมวัย
          ฉลาดน้อย อย่าลืมว่าต้นทุนของสมองมาจากสารอาหารที่เป็นประโยชน์ที่เข้าไปช่วยเสริม สร้างการทำงานของสมองให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเด็กได้กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็เท่ากับได้รับต้นทุนสมองน้อยสมองเฉื่อยชา การเรียนรู้ไม่ดี
          ถึงแม้ว่าโรคร้ายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ก็เกิดจากอุปนิสัยการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน เราก็คงไม่อยากให้อนาคตของลูก มีโรคภัยเหล่านี้แฝงอยู่ในตัวเอง พิษภัยของขนมไม่ได้เกิดขึ้นให้คุณพ่อคุณแม่เห็นทันที แต่จะสะสมไปเรื่อยๆ
          นอกจากผลเสียในเรื่องของสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องพฤติกรรม ลักษณะนิสัยของลูกที่เป็นไปในด้านลบ ที่สืบเนื่องมาจากการกินขนมถุงด้วย
           กินไม่รู้จักพอ ขนม กินแล้วอร่อยถูกปาก เด็กๆ ที่ได้กินติดใจก็อยากกินอีก ก็อ้อนเอากับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน เมื่อผู้ใหญ่เกิดความรำคาญและตัดปัญหาจึงซื้อให้ เด็ก ๆ ก็จะเรียกร้องที่จะกินอยู่บ่อย ๆ ทำให้ไม่อยากกินข้าว และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ไม่เป็น และกลายเป็นเด็กไม่มีวินัยในการกิน
           ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อย่าคิดว่าขนมถุงราคาถูก เพราะจากการวิจัยพบว่าเด็กไทยเสียค่าขนมเฉลี่ยคนละ 9,800 บาทต่อปี แต่กลับเสียในเรื่องการเล่าเรียนเพียง 3,024 บาทต่อปี แสดงให้เห็นว่า เราเสียเงินกับสิ่งที่เป็นพิษมากมายเพียงไร และเด็กที่ซื้อขนมเองได้แล้วนั้น ก็จะอดใจไม่ได้กับขนมทำให้ไม่รู้จักการเก็บออม
          ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการรณรงค์ หรือภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตขนมให้ลดปริมาณขนม และโซเดียมในขนมลง แต่เมื่อเด็กกินอาจจะไม่ได้กินแค่วันละถุงเล็ก ๆ แต่กิน 2 ถุง หรือถุงใหญ่ ก็ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียม และน้ำตาลมากเกินไปอยู่นั่นเอง
           ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดขนมถุง
          1. ฝึกวินัยการกินให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก
ไม่ซื้อขนมถุงให้ลูกกิน และคอยปลูกฝังว่าอาหารชนิดใดมีประโยชน์ และโทษของขนมถุงเป็นอย่างไร เพราะถึงแม้ลูกจะเข้าวัยที่สามารถซื้อขนมกินเองได้ ก็จะรู้จักเลือก
          2. เลือกขนมที่มีประโยชน์ให้ลูกแทน เช่น ผลไม้ ถั่ว ข้าวโพด ขนมหวานต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวแต่เรามองข้าม เช่น วุ้น(ทำเอง) ถั่วเขียวต้ม ถั่วคั่ว สาคู และอีกสารพัดขนมที่ไม่ได้อยู่ในถุงสำเร็จรูป
          3. ฝึกให้ลูกกินเป็นมื้อ เช่น ต้องกินอาหารมื้อหลักก่อน จึงกินขนมหวานได้ และพ่วงด้วยการสอนลูกให้รู้จักดูแลฟันของตัวเอง
          จะว่าไปแล้ว ปัญหาขนมถุง ก็เกิดมาจากผู้ใหญ่ที่ขาดความระมัดระวังในการเลือกของกินให้เด็ก หรือไม่ใส่ใจเพียงพอต่อมื้ออาหารเพราะคิดว่าเด็ก ๆ ก็ต้องกินขนม แต่ขนมที่พ่อแม่เป็นผู้หยิบยื่นให้ก็สามารถเลือกให้ลูกได้ ดีกว่าปล่อยให้ลูกติดขนมแล้วมาหาทางแก้ไขทีหลัง เป็นเรื่องที่ทำยากกว่าการป้องกันมากมาย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.motherandcare.in.th/index.php
ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552

อัพเดทล่าสุด