5 โรคร้าย ที่ควรระวังในเด็กแรกเกิด


808 ผู้ชม



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
5 โรคร้าย ที่ควรระวังในเด็กแรกเกิด

5 โรคร้ายที่ควรระวังในเด็กแรกเกิด

5 โรคร้าย ที่ควรระวังในเด็กแรกเกิด



โดย รศ.นพ.ประชา นันท์นฤมิต
หน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          สิ่งหนึ่งที่คู่รักหลายคู่ ได้ให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญก็คือ ปัญหาการมีบุตรยาก และปัญหาการติดเชื้อและเกิดโรคในเด็กแรกเกิด ซึ่งปัญหาดังกล่าว เป็นสิ่งที่พ่อแม่มือใหม่ควรศึกษาและหาวิธีแก้ไข รวมทั้งการป้องกันโรคร้ายที่จะมาเยือนตัวเด็ก ดังนั้น คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ จึงขอนำเสนอ “5 โรคร้ายที่ควรระวังในเด็กแรกเกิด”
          1.ภาวะตัวเหลืองในทารก   ตามปกติทารกแรกเกิดทุกคนจะมีตัวเหลืองมากบ้างน้อยบ้างเป็นปกติ โดยทั่วไปจะพบว่าตัวเหลืองมากที่สุดช่วง 3-4 วันหลังเกิด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทารกและมารดาออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งมารดาจะต้องสังเกตว่า ลูกตัวเหลืองมากจนต้องกลับมาพบแพทย์ เพื่อทำการประเมินและตรวจร่างกายซ้ำว่า ไม่เป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
          ทารกที่มาพบแพทย์เมื่อตัวเหลืองมากจนถึงขั้นเป็นพิษกับเนื้อสมอง อาจจะสายเกินไป เพราะภาวะดังกล่าวได้ส่งผลเสียหายกับสมองที่เรียกว่าเป็น “สมองพิการ” ทำให้ทารกมีอาการบิดเกร็งแขนขา หลังแอ่น ชัก และอาจเสียชีวิตได้ หรือถ้ารอดชีวิตก็อาจมีผลในระยะยาว เช่น ปัญญาอ่อน การได้ยินบกพร่อง แขนขาเกร็งผิดปกติ เป็นต้น
          ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตัวเหลืองมากในทารกจนอาจเป็นอันตราย ได้แก่ ทารกที่เกิดก่อนกำหนด, ทารกที่กรุ๊ปเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่มีเลือดกรุ๊ปโอ ลูกมีเลือดกรุ๊ปเอหรือบี, ภาวะหรือโรคที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ที่พบบ่อย เช่น ภาวะพร่อง จี 6 พีดี  (G-6PD deficiency) หรือมีประวัติเคยมีบุตรที่ต้องส่องไฟรักษาตัวเหลืองมาก่อน รวมทั้งลูกได้น้ำนมไม่เพียงพอและมีน้ำหนักตัวลดลงมาก
          ดังนั้น หากทารกที่เพิ่งเกิดและมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเหลืองในลูก หากไม่แน่ใจว่าตัวเหลืองมากผิดปกติหรือไม่ ควรนำทารกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมิน ทั้งนี้ในปัจจุบันการรักษาภาวะตัวเหลืองมากผิดปกติทำได้ง่ายๆ โดยการส่องไฟ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สามารถลดระดับตัวเหลืองได้ นอกจากนี้ หากตัวเหลืองมากจนอาจเป็นอันตราย ก็สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือดได้
          2. ภาวะติดเชื้อในทารก   เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือเกิดก่อน กำหนดทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมอง ปอดอักเสบ ทารกที่มีภาวะติดเชื้ออาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น ซึม ดูดนมน้อย นอนนิ่งๆ ไม่ค่อยขยับแขนขาหรือร้อง ตัวเย็น ตัวลาย หายใจเร็วผิดปกติ หยุดหายใจจนตัวเขียวหรือซีด บางรายอาจมีอาการเกร็งกระตุก หรือมีไข้ ทารกที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงอาจถึงกับช็อก ความดันเลือดต่ำ และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านสังเกตเห็นอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบนำทารกมาพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาตามความเหมาะสม
          3. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด   ทารกที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ หัวใจพิการชนิดมีภาวะตัวเขียว และชนิดไม่มีภาวะตัวเขียว อาการที่พบและทำให้สงสัยว่าอาจมีโรคหัวใจ เช่น ริมฝีปากเขียว หายใจแรงเร็ว ซี่โครงบาน หน้าอกบุ๋ม จมูกบาน ดูเหนื่อย ดูดนมไม่นานก็หยุดเป็นพักๆ หายใจแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ซีดแบบเฉียบพลัน ทารกบางรายแพทย์อาจตรวจพบว่ามีโรคหัวใจตั้งแต่ก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจตรวจไม่พบ และแสดงอาการชัดเจนในช่วงหลังก็ได้
          4. ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว   เนื่องจากการจัดเรียงตัวของลำไส้ผิดปกติแต่แรกเกิด(malrotation)เป็นภาวะที่ พบไม่บ่อย แต่ถ้าเป็นแล้วให้การวินิจฉัยและรักษาล่าช้า จะทำให้ทารกเสียชีวิตได้ สาเหตุเกิดจากลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่มีการจัดเรียงตัวผิดปกติตั้งแต่เกิด ทำให้เกิดการบิดขั้วของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงผนังลำไส้ ทำให้ลำไส้ขาดเลือด ทารกจะปกติดีทุกอย่างเมื่อแรกเกิด แต่ต่อมามีอาการอาเจียน ท้องอืด ถ่ายเป็นเลือดหรือสีน้ำหมาก หากปล่อยไว้ จะซึม ตัวซีด มีภาวะช็อก และเสียชีวิตได้ ทารกที่มีภาวะดังกล่าวต้องรีบให้การรักษาโดยการผ่าตัดอย่างรีบด่วน เพื่อไม่ให้ลำไส้ขาดเลือดจนไม่สามารถแก้ไขได้
          5. ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด   เป็นภาวะที่พบได้บ่อยพอสมควรในประเทศไทย โดยทั่วไปประมาณ 1 ต่อ 3,000-4,000 จะพบอุบัติการณ์ได้มากในบางพื้นที่ของประเทศไทยที่มีการบริโภคธาตุไอโอดีน น้อย เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง 1 ต่อ 1,900 ทารกเกิดมีชีพ  ภาวะนี้เป็นภาวะซ่อนเร้นอยู่ในตัวทารก เนื่องจากไม่สามารถบอกความผิดปกติได้จากการดูภายนอก เนื่องจากทารกจะดูเป็นปกติทุกอย่าง แต่หากไม่ให้การรักษาตั้งแต่ในระยะแรก (ภายใน 2 เดือน) จะส่งผลเสียรุนแรงต่อพัฒนาการเจริญเติบโตและสมองทำให้ปัญญาอ่อน 
          อันที่จริงเราสามารถตรวจได้ง่าย เพียงตรวจเลือดทารกก่อนออกจากโรงพยาบาล เช่น หยดเลือดบนกระดาษกรองส่งตรวจ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทำการตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าว ดังนั้น หากท่านได้รับการติดต่อจากทางโรงพยาบาล หรือจากกระทรวงสาธารณสุขว่า สงสัยทารกจะมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ต้องรีบนำทารกกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ และให้การรักษาในทันทีเพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน
          แม้ว่า 5 อันดับโรคร้ายที่มักพบในเด็กแรกเกิด จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แต่ก็เชื่อว่าความรัก ความเอาใจใส่ การเลี้ยงดูเด็กทารก ก็คงจะมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงเพื่อให้เด็กเติบโตมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม


อัพเดทล่าสุด