โรคหืด โรคหอบ ภัยร้ายทำลายหนูน้อยลูกรัก


940 ผู้ชม



โรคหืดภัยร้ายทำลายหนู

เด็ก
 


โดย: พ.ญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ
          โรคหืด อาจจะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีความเข้าใจต่อโรคนี้ดีพอ ว่ามีผลกระทบในระยะยาวทั้งต่อสุขภาพทางกาย สุขภาพทางใจ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตในอนาคตของหนูๆ ได้ “เจ็บไข้วัยเด็ก” ในครั้งนี้ พ.ญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และหอบหืด จะพาเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันอย่างถ่องแท้เลยครับ 
           รู้จักโรคหืด 
          โรคหืด เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังในเยื่อบุทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มักมาจากภูมิแพ้ มีผลทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากผิดปกติ การไหลเวียนของอากาศในทางเดินหายใจลดลง เพราะหลอดลมหดตัว, มีเสมหะอุดตันในหลอดลม, เยื่อบุในหลอดลมบวม และหากทิ้งไว้ไม่รักษาให้ถูกทางนานๆ เข้า เยื่อบุหลอดลมจะเสื่อมสภาพไป ปัจจุบันพบเด็กไทยเป็นโรคหืดประมาณ 13% (ประมาณ 1.8 ล้านคน) 
           อาการของโรคหืดในเด็ก 
          ไอ : ไอบ่อยและไอนาน มักไอมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด บางรายวิ่งเล่นเหนื่อยก็จะไอ แต่บางรายอาจพบแค่อาการไอเรื้อรัง ถ้าอาการมากขึ้นอาจมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หายใจเร็วและแรง อาจมีอาการกำเริบภายหลังการออกกำลังกาย, ภายหลังได้รับสารที่แพ้เข้าไป และเมื่อเป็นหวัดมักมีอาการมากกว่าคนทั่วไปและป่วยนานกว่า
          อาจพบอาการของโรคภูมิแพ้อื่นๆ ที่มักเป็นร่วมกัน เช่น แพ้อากาศ แพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้นม 
           เด็กกลุ่มที่มีโอกาสเป็นโรคหืดสูง 
          เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง, แพ้อาหร, แพ้อากาศ, ตรวจพบว่าแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ, เด็กที่หอบบ่อยๆ, บางครั้งหอบโดยไม่ได้เป็นหวัด, มีประวัติบิดามารดาเป็นโรคหืด, ทารกที่คลอดก่อนกำหนด, เด็กที่ได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
          ประเมินความรุนแรงของโรค พ่อแม่ช่วยได้นะ

          หากผู้ปกครองพบอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กไปพบแพทย์

          หายใจเป็นเสียงแหลมคล้ายนกหวีด เกิดจากลมหายใจผ่านหลอดลมที่หดแคบลง ช่วงแรกจะได้ยินเสียงวี้ดเฉพาะตอนหายใจออก อาจฟังได้จากหูฟัง หรือเอาหูเราแนบหน้าอกผู้ป่วย เมื่อมีอาการมากขึ้น เสียงจะดังชัดขึ้น แต่เมื่อทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เสียงวี้ดจะลดลงจนอาจไม่ได้ยิน และเสียงหายใจก็จะเบาลงมาก (เด็กที่หายใจมีเสียงวี้ดไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหืดทุกคน ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี จะตรวจพบเสียงวี้ดได้จากภาวะอื่นด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิดในหลอดลม, หลอดลมอ่อนนิ่ม, ความพิการของปอดและหลอดลมแต่กำเนิด, หูรูดหลอดอาหารหย่อน, มีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม, หัวใจซีกซ้ายวาย, เนื้องอกในปอด)

          การใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ จะหายใจแรงและลำบาก หน้าอกบุ๋ม เพราะต้องใช้แรงในการสูดลมเข้าปอด ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกซี่โครง, บริเวณเหนือกระดูกกลางห้าอกและบริเวณลิ้นปี่บุ๋มลง

          อัตราการหายใจเร็วขึ้นจากปกติ ควรนับอัตราการหายใจของเด็กในช่วงที่อาการสงบไว้

          อัตราการหายใจปกติ ณ อายุต่างๆ เป็นดังนี้
          อายุแรกเกิด – 2 เดือน
          < 60 ครั้ง/นาที หากเกิน 60 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ
          อายุ 2 เดือน – 1 ปี
          < 50 ครั้ง/นาที หากเกิน 50 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ
          อายุ 1 – 5 ปี
          < 40 ครั้ง/นาที หากเกิน 40 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ
          อายุ 5 – 15 ปี
          15-25 ครั้ง/นาที หากเกิน 30 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ 
           โอกาสหายจากโรค  
          พบว่า 80% ของผู้ป่วยอาการหายไปหรือสงบลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยส่วนมากอาการมักเริ่มดีขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6 ปี เนื่องจากหลอดลมมีขนาดโตขึ้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจกลับมีอาการใหม่เมื่ออายุมากกว่า 45 ปี ได้ประมาณ 20%
          รายที่มักไม่หายขาด ได้แก่
          เด็กที่มีโอกาสเป็นโรคหืดจนโตมักจะเป็นเด็กกลุ่มที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แพ้อากาศ ผื่นผิวหนังจากการแพ้ ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคภูมิแพ้ บิดามารดาเป็นโรคหืด ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา และควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกับความรุนแรงของโรคโดยต่อเนื่อง 
           การรักษาโรคหืด  
          การรักษาโรคหืดประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
          1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่ เป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะทราบจากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เมื่อพบว่าแพ้สิ่งใด ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ตามคำแนะนำนของแพทย์
          2. การใช้ยา ใช้แตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของโรค โดยยาที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
          2.1 ยาที่ใช้เฉพาะเมื่ออาการกำเริบ โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไอ เช่น 
           ยาขยายหลอดลมชนิด Beta 2 agonists ที่ออกฤทธิ์สั้น มีทั้งแบบสูด พ่น แบบกิน (เม็ดและน้ำ) และแบบฉีด ซึ่งยาสูดพ่นจะออกฤทธิ์เร็ว และมีฤทธิ์ข้างเคียงต่ำกว่ายาชนิดอื่น มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้แม้ในเด็กเล็ก ยาจะออกฤทธิ์อยู่ครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง 
           ยากลุ่ม anticholinergic เป็นยาสูดพ่นออกฤทธิ์ขยายหลอดลม มักใช้ร่วมกับยา Beta 2 agoniats ที่ออกฤทธิ์สั้น ในรายที่อาการรุนแรง
          2.2 ยาที่ใช้ประจำเพื่อควบคุมโรคให้สงบ เพื่อป้องกันและลดอัตราความรุนแรงของการกำเริบของโรค ยากลุ่มนี้ เช่น 
           สเตียรอยด์ (steroid) เป็นยาในกลุ่มควบคุมโรคที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด นำมาใช้ในรายที่มีอาการต่อเนื่องทุกระดับความรุนแรงของโรค มีทั้งแบบพ่นสูด กิน ฉีด โดยยาจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบและลดความไวต่อสิ่งกระตุ้นของหลอดลม ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดเพิ่มขึ้น ลดอาการความถี่ และความรุนแรงของโรค ซึ่ง การใช้สเตียรอยด์นี้ในรูปแบบของยาพ่น จะให้ความปลอดภัยสูงกว่าชนิดกินและชนิดฉีด เนื่องจากปริมาณยาที่ใช้ในยาพ่นมีน้อยมาก แม้ในเด็กเล็กก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในขนาดยาที่แพทย์สั่ง
          ส่วนการใช้สเตียรอยด์ชนิดกินและฉีดจะใช้เมื่อเป็นมากเท่านั้น เพราะหากใช้ต่อเนื่องจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น กดการเจริญเติบโต เป็นเบาหวาน, กระดูกผุ, แผลในกระเพาะอาหาร, ต้อกระจก, ต้อหิน, ความดันโลหิตสูง, บวมน้ำ, กดภูมิต้านทาน
          ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว 12 ชั่วโมง โดยใช้ร่วมกับยาพ่นสเตียรอยด์ พบว่าทำให้อาการของโรคดีขึ้น, ลดการกำเริบของโรค, สมรรถภาพการทำงานของปอดเพิ่มขึ้น, ทำให้ไต้องเพิ่มยาพ่นสเตียรอยด์ให้สูงขึ้น, ปัจจุบันจึงมีการรวมยาทั้งสองชนิดไว้ในกระบอกยาสูดเดียวกัน เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย, และทำให้ค่ายาถูกลงกว่าการแยกยาทั้งสองออกเป็นสองกระบอก โดยผลต่อผู้ป่วยคงเดิม
          ยานี้ยังมีในรูปแบบยาเดี่ยวที่ไม่ผสมกับสเตียรอยด์ มีทั้งยาพ่น ยาเม็ดและยาน้ำ ไว้ใช้ในการป้องกันการหอบหลังออกกำลังกาย เหมาะกับเด็กที่ต้องไปออกกำลังกายที่โรงเรียน โดยสามารถพ่นยาจากบ้านตอนเช้า ยาจะออกฤทธิ์ได้จนถึงช่วงเย็น, และใช้ควบคุมอาการของโรคในรายที่มักมีอาการหอบกำเริบช่วงกลางคืน 
           ยากลุ่ม leukotriene modifier ยากลุ่มนี้สามารถขยายหลอดลมได้เล็กน้อย ช่วยลดอาการของโรค ทำให้สมรรถภาพปอดเพิ่มขึ้น และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างอ่อนๆ นิยมนำมาใช้ในการควบคุมโรคหืดในเด็ก โดยเฉพาะรายที่ไม่สะดวกเรื่องการพ่นยาและมีอาการไม่รุนแรงนัก ข้อดีของยากลุ่มนี้คือมีความปลอดภัยสูงและใช้สะดวก เนื่องจากเป็นยากิน ข้อเสีย คือราคาแพง
          Sodium cromoglycate เป็นยาพ่นที่อ่อนกว่ายาพ่นสเตียรอยด์ ทั้งในแง่การควบคุมอาการ, การลดความไวผิดปกติของหลอดลม, การเพิ่มสมรรถภาพของปอด แต่ยานี้มีข้อดีในแง่ความปลอดภัยสูง ข้อเสียคือต้องใช้ยาวันละหลายครั้ง
          Methylxanthines เป็นยากินโดยมักใช้ชนิดออกฤทธิ์ยาวที่กินวันละ 2 เวลา มักใช้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง หรือใช้ร่วมกับยาสูดพ่นสเตียรอยด์ ข้อดีคือ มีราคาถูก ข้อเสียคือ การดูดซึมยาไม่ค่อยแน่นอน หากได้ยาเกินขนาดอาจเกิดผลเสีย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ในสั่น ชัก
          การเลือกใช้ยาชนิดต่างๆ จะขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค และความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ปัจจุบันแพทย์นิยมใช้ยาชนิดพ่นมากกว่ายาชนิดกิน เนื่องจากปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายน้อยกว่า และเข้าถึงอวัยวะที่ต้องการได้โดยตรงทันที ยาพ่นจึงมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงกว่ายากินชนิดเดียวกันเสมอ
          3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) เป็น การปรับเปลี่ยนสภาวะภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่เคยแพ้ต่อสารใดๆ ให้แพ้ลดลงจนถึงไม่มีอาการเมื่อสูดหายใจ เอาสารนั้นเข้าไปอีกในภายหลัง ทำให้โรคดีขึ้น ลดการใช้ยาต่างๆ ลงได้ ส่วนใหญ่มักเริ่มในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป
          นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพทั่วไปด้วย เช่น หลีกเลี่ยงจากมลพิษต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันธูป ก๊าซโอโซน, ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายตามความเหมาะสม โดยอาจใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นพ่นก่อนออกกำลัง 15 นาที หากไม่สบาย เช่น เป็นหวัด ควรรีบรักษาอย่าปล่อยให้เป็นนาน 
           โรคหืด ผลกระทบมากกว่าที่คิด  
          หากผู้ป่วยโรคหืด ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะเกิดผลกระทบหลายด้านตามมา เช่น 
           อาการของโรคอาจรบกวนการทำงาน การเล่นกีฬา การเรียน ทำให้ขาดเรียน ขาดสมาธิในการเรียน รบกวนกิจวัตรประจำวัน งานอดิเรก การนอน หากป่วยเรื้อรังมาตลอด จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการ พฤติกรรม การใช้ชีวิต 
           ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลต่อโรค กลัวว่าอาการจะกำเริบ เนื่องจากเคยประสบมาก่อน และทราบว่าเมื่ออาการกำเริบขึ้นมานั้น ตนทนทุกข์ทรมานเพียงใด ในผู้ป่วยที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น อาจทำให้ขาดความมั่นใจ อายเวลาอาการกำเริบ รู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนวัยเดียวกัน 
           ผลกระทบต่อครอบครัว มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันในครอบครัว เช่น การเล่นกีฬา สันทนาการ การท่องเที่ยว อาจพบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ผู้ป่วยมากกว่าพี่น้อง ทำให้พี่น้องไม่พอใจหรือพ่อแม่อาจกังวลใจกับอาการของผู้ป่วยจนทำให้บรรยากาศ ในครอบครัวไม่มีความสุข 
           ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่ควบคุมโรคให้สงบ อาการจะกำเริบบ่อย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลขณะอาการกำเริบ จะสูงกว่าการควบคุมตอนโรคสงบ ทั้งยังอาจทำให้พ่อแม่ขาดงาน ขาดรายได้ระหว่างที่ต้องอยู่ดูแลผู้ป่วยด้วย 
           ปัญหาที่พบในการรักษาโรคหอบหืด  
          การขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการเกิดโรค ไม่เห็นความสำคัญของการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุของโรค และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ไม่เห็นความสำคัญของการใช้ยาเพื่อรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มักใช้เพียงยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ทำให้สภาพภายในหลอดลมเสื่อมลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเกิดเป็นแผลเป็นขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ไม่มีวิธีใดที่จะแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้
          นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา โดยเฉพาะยาพ่น โดยส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า ผู้ที่ต้องใช้ยาพ่นแปลว่าอาการเป็นมากแล้ว ทำให้ปฏิเสธการใช้ยาตั้งแต่โรคอยู่ในระยะไม่รุนแรงมาก จริงๆ แล้วสามารถรักษาได้ผลดีกว่ารอใช้ยาเมื่ออาการเป็นมากเกินกว่ายาจะควบคุมได้ เสียอีก และบางรายยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าการใช้ยาพ่นจะทำให้เกิดการติดยาได้ จึงปฏิเสธ ไม่ยอมใช้ยาพ่น ทำให้เด็กบางรายที่เป็นโรคหืด มีอาการกำเริบบ่อยและรุนแรงขึ้น บางรายถึงกับเป็นโรคหืดไปจนโต 
           ทำไมต้องรักษาโรคหืด 
          เพื่อควบคุมให้อาการกำเริบน้อยที่สุด ผู้ป่วยสามารถร่วมกิจกรรมประจำวันและการออกกำลังกายได้ปกติที่สุดเท่าที่จะ ทำได้, ใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น, ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด
          ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำให้เป็นจริงได้ ถ้ามีความร่วมมืออันดีระหว่างแพทย์ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย
         
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่

อัพเดทล่าสุด