sex ไวอากร้า อย. ปล่อยร้านยา จำหน่าย ไวอากร้า กระตุ้นเซ็กส์ ได้ไง


1,536 ผู้ชม


มองต่างมุม อย. ปล่อยร้านยา จำหน่าย ไวอากร้า กระตุ้นเซ็กส์

sex ไวอากร้า อย. ปล่อยร้านยา จำหน่าย ไวอากร้า กระตุ้นเซ็กส์  ได้ไง



          ในอนาคตอันใกล้ สำนักงานคณะกรรม การอาหารและยา (อย.) กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจำหน่าย "กลุ่มยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ" เพื่อให้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาคุณภาพ ในโครงการของอย.ได้ โดยกลุ่มตัวยาที่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่าย ประกอบด้วย
          1. Sildenafil (ซิลเดนาฟิล) มีชื่อทางการค้าจำนวน 3 ยี่ห้อ คือ Viagra (ไวอากร้า), Elonza (อีลอนซ่า) และ Tonafil (โทนาฟิล) 
          2. Tadalafil (ทาดาลาฟิล) โดยมีชื่อทางการค้า คือ Cialis (ซิอะลิส) 
          3. Vardenafil (วาเดนาฟิล) ชื่อทางการค้า คือ Levitra (เลวิตรา) และ อะโพสตาดีล (Alprostadil) 1 ตำรับ ซึ่งเป็นชนิดฉีด
          ที่มาแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะผู้บริหาร อย. เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายาปลอมซึ่งระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อดูจากสถิติพบว่า อย. ได้ดำเนินการในเรื่องการจับกุมยาปลอมมานานเป็น 10 ปี โดยในปี 2551 จับกุมของกลางจำนวน 18 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นยาในกลุ่มรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 
          นอกจากนั้น สถานการณ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2552 พบการลักลอบจำหน่ายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศปลอมกว่า 244,101 เม็ด
คิดเป็นมูลค่ากว่า 97 ล้านบาท 
          ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบัน มีตำรับยาเพื่อรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศถึง 11 ตำรับ ต่างจาก 10 ปีก่อนที่มียาเพียง 1-2 ตำรับเท่านั้น การเปิดช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้เป็นการผูกขาด หรือเอื้อประโยชน์แก่ใคร 
          ซึ่งร้านที่จะสามารถจำหน่ายได้ ต้องเป็นร้านที่เข้ามาตรฐานและมีข้อตกลงกับอย.เท่านั้น และต้องผ่านการรับรองโดยสภาเภสัชกรรม ขณะที่เภสัชกรในร้านยาต้องผ่านการฝึก/อบรม เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งเงื่อนไข กฎระเบียบ 
          "ปัจจุบันมีร้านขายยาคุณภาพรองรับกว่า 355 ร้านทั่วประเทศ โดย อย. จะมีการวางระบบการควบคุมกำกับการกระจายยาจากบริษัทยาไปยังร้านยาที่ อย. ประกาศกำหนด โดยมีประกาศให้ยากลุ่มนี้เป็นยาบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าต้องทำรายงานการขายยา ตามแบบ ขย. 8 ทุก 4 เดือน โดยผู้ป่วยที่จะซื้อยาได้ต้องมีใบรับรองจากแพทย์และได้รับการติดตามการใช้ยา อย่างต่อเนื่อง" ภญ.วีรวรรณ กล่าว
          ด้านภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายใหม่ของ อย. ว่า ยากลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด 
          การจ่ายยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่ถูกต้อง หรือจ่ายยาให้คนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ยาอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่แท้จริง หากทานยาไม่ถูกต้อง ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่มีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาก็มีอันตรายต่อชีวิตได้เช่น กัน เหตุเพราะกลุ่มยาชนิดนี้ เมื่อทานเข้าร่างกายแล้วจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง "โมเลกุลยา" ที่ตับ 
          จากนั้นจึงกระจายเข้าสู่เส้นเลือด โดยออกฤทธิ์ให้เส้นเลือดที่องคชาตขยายตัว จึงทำให้องคชาตแข็งตัวและสามารถอยู่ได้นานนับชั่วโมง เนื่องจากร่างกายสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปที่องคชาต และไม่ปล่อยให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจตามระบบการทำงานของร่างกายตามปกติ ส่งผลให้หลักการทำงานของยาชนิดนี้ อาจมีอันตรายต่อหัวใจ หากขาดเลือดนานจากการที่เลือดไม่ไหลเวียนตามปกติ!
          สําหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ทานยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถ ภาพทางเพศ ทั้งผู้ป่วยจริงๆ และผู้ที่ไม่ป่วย แต่ทานยาเพราะความเชื่อผิดๆ จะพบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาพร่ามัว หน้าบวม ตาแพ้แสง 
          ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้แม้ไม่บ่อย แต่อาการรุนแรงอันตรายต่อชีวิต คือ ภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกว่า "ตายคาอก!" 
          ดังนั้น กลุ่มยาชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือต้องทานยาต่อเนื่องไม่ควรทานยาชนิดนี้เด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคจอประสาทตา เนื่องจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะทานยารักษาโรคหลายชนิดร่วมกัน และยาบางชนิดต้องย่อยสลายที่ตับเช่นเดียวกับยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 
          หากทานยาไปพร้อมๆ กันหลายชนิด ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ตีกัน ทำให้ลดสมรรถภาพยา ผู้ป่วยไม่ได้ประโยชน์จากการทานยา 100 เปอร์เซ็นต์
          ภญ.นิยดา แนะนำว่ายาชนิดนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากผู้ชายคิดว่าตนเองมีปัญหาทางเพศจริงๆ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ที่ถูกต้อง 
          การรักษามีหลายวิธีทั้งการใช้ยาบำบัด ร่วมกับ "จิตบำบัด" จึงจะได้ผลดี ขั้นตอนการทานยาควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ ที่สำคัญ ไม่ควรไปซื้อยามาทานเอง เพราะผลข้างเคียงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้!

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.khaosod.co.th

อัพเดทล่าสุด