กระจกตาเทียม ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม


803 ผู้ชม


ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม

กระจกตาเทียม ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม

คำว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ถือเป็นคำที่ได้ยินกันมานานแล้ว
   
หลายคนก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เพราะแววตาที่ส่องประกายอยู่ในดวงตาของคนเรา สามารถบ่งบอกความหมาย และความรู้สึกนึกคิดได้
   
แต่ในอีกหลายคน ดวงตาอาจไม่ใช่หน้าต่างของหัวใจซะทีเดียว เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นของดวงตา ทำให้ภาวะการมองเห็นสูญเสียไป ที่ภาควิชาจักษุวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็ได้มีการผ่าตัดแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับตาหลากหลายประการ หนึ่งในปัญหาที่พบกับผู้ป่วยโรคตา และกลายเป็นปัญหาทางกายและจิตใจค่อนข้างมากก็คือ ปัญหาความผิดปกติของกระจกตา ซึ่งการแก้ไขด้วยวิธีการผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยการใส่ “กระจกตาเทียม” เข้าไปแทนที่
   
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “กระจกตาเทียม” คืออะไร
   
กระจกตาเทียม (Keratoprosthesis) คือ กระจกตาที่ทำจากวัสดุพลาสติกชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติใส คงทน และไม่ทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อร่างกายมนุษย์ เช่น polymethylmethacrylate (PMMA), poly (2-hydroxyethyl methacrylate) เป็นต้น
   
กระจกตาเทียมที่นิยมใช้กันในปัจจุบันอย่างกระจกตาเทียมบอสตัน (Boston Keratoprosthesis) ก็เป็นกระจกตาเทียมที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 แต่ยังไม่เป็นที่ได้รับความสนใจเนื่องจากมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลัง ผ่าตัด ต่อมาจึงได้มีการพัฒนารูปแบบของกระจกตาเทียม การผลิต เทคนิคการผ่าตัด เทคนิคการตรวจ และการติดตามรักษาผู้ป่วยหลังผ่าตัด ร่วมกับการวิจัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากกระจกตาเทียมรุ่นแรก ๆ ทำให้ได้กระจกตาเทียมที่มีลักษณะและคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การผ่าตัดกระจกตาเทียมบอสตันจึงถูกนำมาใช้รักษาในผู้ป่วยจริง และได้รับความสนใจอย่างสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา
   
กระจกตาเทียมบอสตัน ทำจากวัสดุพลาสติกที่เรียกว่า polymethylmethacrylate ชนิดสำหรับใช้ในมนุษย์ ประกอบด้วยพลาสติก 2 ส่วนคือ ส่วนหน้าและส่วนหลัง มีรูปร่างคล้ายหัวเห็ด เนื่องจากกระจกตาเทียมเป็นพลาสติก PMMA ทั้งหมด จึงไม่สามารถนำมาเย็บเข้ากับดวงตาผู้ป่วยได้โดยตรง ดังนั้น ในขั้นตอนการผ่าตัดส่วนประกอบทั้ง 2 ส่วนจึงถูกนำมาประกบกับกระจกตาของมนุษย์ที่ได้รับจากการบริจาค ได้เป็นกระจกตาเทียมที่สมบูรณ์ แล้วนำไปผ่าตัดใส่ให้กับผู้ป่วย
ประโยชน์ของกระจกตาเทียม
   
ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะการมองเห็นเสียไปเนื่องจากโรคของกระจกตาที่ไม่ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการเปลี่ยนกระจกตาแบบมาตรฐานซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มี อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสมองเห็นดีขึ้นส่งผลให้สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนี้ กระจกตาเทียมชนิดนี้ยังมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับกระจกตาธรรมชาติ ทำให้ผลการรักษาในด้านความสวยงามอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างมาก

ผู้ที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม
   
ผู้ป่วยที่เป็นโรคของกระจกตาทั้ง 2 ข้างซึ่งมีระดับสายตาเลือนรางและเคยผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบมาตรฐาน มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งแต่ล้มเหลว เนื่องจากร่างกายสร้างปฏิกิริยาต่อต้านกระจกตาที่นำมาเปลี่ยนหรือไม่สามารถ รักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแบบมาตรฐานทั่วไป
   
แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีระบบน้ำตาและระบบผิวหน้าดวงตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีการอักเสบเรื้อรัง มีประสาทตาปกติ ไม่เป็นโรคต้อหินระยะสุดท้าย และไม่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองในระดับรุนแรง

การดูแลหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม

   
การดูแลสำหรับผู้ที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียมจะเหมือนกับการดูแลผู้ ป่วยหลังผ่าตัดตาทั่ว ๆ ไป คือเน้นเรื่องการรักษาความสะอาดบริเวณดวงตาและใบหน้า ต้องหยอดยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ เพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อหรือการอักเสบรุนแรงหลังการผ่าตัด
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม
   
ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียมในปัจจุบัน คล้ายคลึงกับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาทั่ว ๆ ไป เช่น ภาวะเลือดออกในลูกตา การติดเชื้อในลูกตา ซึ่งมีอัตราการเกิดค่อนข้างต่ำหรือน้อยกว่า 1%
   
นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียมซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ
   
1. การเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อกระจกตาธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ กระจกตาเทียม อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงดังกล่าวในปัจจุบันพบได้น้อย เนื่องจากมีการพัฒนาของรูปลักษณ์และคุณสมบัติของกระจกตาเทียมให้เข้ากับ เนื้อเยื่อกระจกตาธรรมชาติได้มากขึ้นและมีการพัฒนายาหยอดตาที่ช่วยลดโอกาส การเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อกระจกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   
2. การมีเยื่อพังผืดหลังกระจกตาเทียม ในกรณีที่มีการอักเสบอย่างมากภายหลังการผ่าตัด อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดขึ้นที่ด้านหลังกระจกตาเทียมซึ่ง    อาจทำให้ระดับการมองเห็นที่ดีลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ยาแก้อักเสบหลังการผ่าตัด แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็สามารถรักษาได้โดยการยิงเลเซอร์เพิ่มเติม
   
3. การเกิดภาวะแทรกซ้อนในบริเวณด้านหลังของลูกตา เช่น ต้อหิน หรือจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งพบได้ไม่มากและภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยวิธีมาตรฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
   
ถึงแม้ว่าการผ่าตัดโรคตาในปัจจุบัน จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ค่อนข้างก้าวหน้าไปมาก แต่การดูแลตนเอง การดูแลดวงตาอันเป็นหน้าต่างของหัวใจให้ใช้งานได้ตราบนานเท่านาน ถือเป็นสิ่งสำคัญกว่ามาก ดังนั้น ควรหมั่นดูแลสุขภาพสายตาของตนเองให้มาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของดวงตาในอนาคต.
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
กระจกตาเทียม ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเทียม

อัพเดทล่าสุด