การเลี้ยงลูก ระวังโรคปอดบวมในเด็ก มันมากับฝน


1,017 ผู้ชม


ปอดบวมในเด็ก มันมากับฝน

การเลี้ยงลูก


          ฝนตกบ่อยอากาศชื้น กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ เตือนพ่อแม่เตรียมพร้อมรับมือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจระบาดหนัก ทั้งไข้หวัด คออักเสบ และปอดบวม
          นายแพทย์สุชาติ เชิดชูพงศ์ล้ำ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็กเพิ่ม สูงขึ้น
          เนื่องจากในช่วงเปิดเทอมเด็กจากหลากหลายที่ไปอยู่รวมกันที่เนอร์สเซอรี่และ โรงเรียนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับช่วงนี้ฝนตกบ่อยอากาศชื้นเพราะอากาศที่เย็นและชื้นจะเอื้ออำนวยให้ เชื้อมีชีวิตอยู่ในอากาศและแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้น
          ฉะนั้น พ่อแม่และครูต้องระวังโรคติดเชื้อที่ติดจากเด็กด้วยกันเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากเชื้อต่างๆ ได้ และยังไม่มีภูมิต้านทานโรคที่สมบูรณ์ โดยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจถูกพบมากเป็นอันดับต้นๆ เช่น ไข้หวัด คออักเสบ
          ในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะเป็นการหูอักเสบ ไซนัสอักเสบ แต่ถ้ารุนแรงมากอาจจะเป็นหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้ ส่วนที่พบลงมาคือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น
          สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง จนบางครั้งอาจจะทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ได้แก่ โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เนื่องจากจะมีการติดเชื้อที่ปอด เมื่อเนื้อปอดโดนทำลายก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
          โรคปอดบวมเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่แล้วยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับทำลายหรือยับยั้ง โรคจะหายได้จากการที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานมากำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แต่โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอย่างทันท่วงที จะทำให้เชื้อลุกลามเป็นมากขึ้น หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่สมอง และกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น
          นพ.สุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในบรรดาโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น พบว่าโรค ปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสพบมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา  พบว่าอัตราการเป็นพาหะในเด็ก (มีเชื้อในโพรงจมูก แต่ไม่แสดงอาการใดๆ) เฉลี่ยแล้วสูงถึงร้อยละ 26 หรือคิดเป็นอัตรา 1 ใน 4 ของประชากร
          เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเยื่อบุดังกล่าวโดนทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งก่อทำให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก)
          โดยพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปอดบวมคือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม และโอกาสเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day Care) เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง
          อาการของโรคปอดบวมเด็กจะมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ หายใจถี่และหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม  ถ้าพบว่าเด็กมีอาการ ไข้  ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคปอดบวม ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง  หากพ่อแม่นิ่งนอนใจ  ปล่อยทิ้งไว้นานเด็กอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มีอาการรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่ทันการ
          แต่พ่อแม่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะเราสามารถลดการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาดของโรคปอดบวมได้โดยการสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย
          ซึ่งในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนไอพีดีซึ่งสามารถป้องกันโรคปอดบวมจาก เชื้อนิวโมคอคคัส และกลุ่มโรคไอพีดีได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
          นอกจากนี้หากลูกไม่สบายไม่ควรให้ไปโรงเรียน เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นๆ และต้องให้ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถลดการแพร่เชื้อได้ถึงร้อยละ 80 รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย และพาเด็กไปในสถานที่แออัดเช่นโรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก เป็นต้น ขณะที่คุณครูและพี่เลี้ยงที่โรงเรียนต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ โรค ตลอดจนแยกภาชนะ แก้วน้ำของเด็กที่ป่วยไม่ให้ใช้ปะปนกับเด็กคนอื่นๆ เพื่อลดการติดต่อ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.bangkokbiznews.com/

อัพเดทล่าสุด