|
จริงๆ แล้วเด็กค่อยๆเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวมาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว โดยอ้างอิงตามทฤษฎี
ของเพียเจต์ ที่สรุปว่า ในช่วง 2 ปีแรก จะอยู่ในช่วง Sensory Motor Period คือเรียนรู้
โดยใช้ระบบประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ
ตา-ดู
หู-ฟัง
จมูก-รับกลิ่น
ปากลิ้น-ดูด อม เลีย รับรส
ผิวหนัง-รับสัมผัสสิ่งต่างๆ
ร่วมกับ กล้ามเนื้อ ( Motor) ในการทรงตัวและเคลื่อนไหวที่ช่วยในการเรียนรู้
เพื่อพัฒนาระบบความคิดของเด็ก ซึ่งจะพัฒนาเป็นไปตามขั้นตอนที่เหมือนกัน แต่เร็วช้าไม่เท่ากัน
คุณพ่อคุณแม่จะช่วยได้โดยจัดสภาพแวดล้อมและจัดประสบการณ์ที่หลากหลายให้ลูก
เพียเจต์ได้แบ่งการเรียนรู้ของลูกน้อยวัย 0-2 ปี ออกเป็น 6ช่วงอย่างคร่าวๆ ค่ะ
แต่ในวันนี้จะคุยกันเฉพาะขวบปีแรกนะคะ
ช่วงที่ 1 คือ อายุ 0-1 เดือนแรก เป็นช่วงของปฏิกิริยาสะท้อนกลับอัตโนมัติ
(Primitive Reflex)
เด็กทุกคนจะมี Primitive Reflex ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่น ถ้าแม่ใช้หัวนมเขี่ยข้างแก้ม
เด็กก็จะหันหาหัวนม ปฏิกิริยานี้เรียกว่า Rooting reflex และก็จะอ้าปากดูด (Sucking reflex)
เด็กจะดูดทุกอย่างที่มาถึงปาก โดยไม่รู้ว่าดูดอะไร พอดูดไปแล้วก็จะเรียนรู้เองว่า
ดูดแบบนี้ได้นม ดูดแบบนี้รู้สึกลื่นๆ หรือเวลานำของไปใส่ที่มือของเด็ก เด็กจะกำมือ
โดยอัตโนมัติ ( grasping reflex) โดยไม่รู้ว่ากำมือแล้วจะเจออะไร แต่เด็กทำตามปฏิกิริยา
สะท้อนกลับอัตโนมัติ หรือเราทำเสียงดัง เด็กตกใจและผวาทันที (Morrow Reflex)
เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เด็กไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดเพราะเด็กยังคิดไม่ได้ว่า
ฉันจะดูด หรือฉันจะกำมือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็น Reflex ที่ติดตัวเด็กมาค่ะ
ช่วงที่ 2 คือช่วงอายุ 1-4 เดือน ในช่วงนี้เด็กจะค่อยๆได้เรียนรู้จาก Primitive Reflex
ที่มีฝึกฝน ทำซ้ำ พอทำมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำได้ดีขึ้น เรียนรู้ว่าดูดจุกได้นมท้องอิ่ม
ดูดนิ้วไม่ได้นม พอมีจุกนมอยู่ในปากก็จะดูดซ้ำอีก
ช่วงที่ 3 คือช่วงอายุ 4-8 เดือน ในช่วงอายุนี้เด็กจะเริ่มสนใจสิ่งต่างๆนอกตัวเองแล้ว เช่น
นอนอยู่ในเปล บังเอิญขาไปเตะเปล โมบายที่แขวนอยู่แกว่ง พอเด็กเห็นว่าโมบายแกว่งก็เอา
ขาไปเตะเปลอีก ทำเหมือนเดิมซ้ำๆ เพราะทำแล้วโมบายแกว่ง เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเอง
เจอโดยบังเอิญ
ช่วงที่ 4 คือช่วงอายุ 8-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงของการฝึกฝน เอาประสบการณ์ที่ได้จาก
ช่วงก่อนหน้านี้ มาต่อยอด เช่น ปาของเล่นลงพื้น แล้วเกิดเสียงดัง คราวนี้ก็อยากลองปา
ของหล่นชิ้นอื่นว่าจะเกิดเสียงดังหรือไม่ เริ่มเป็นการเรียนรู้โดยมีวัตถุประสงค์และ เด็กเริ่มรู้
แล้วว่าของต่างๆ ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน หรือเรียกว่า Object Permanence เพราะฉะนั้น
ถ้าเราให้เด็กเห็นว่าของเล่นวางไว้ตรงนี้ แล้วเอาผ้ามาปิดไว้ เด็กวัยนี้ก็เข้าใจว่าของยังอยู่นะ
เขาจำได้ว่าของยังอยู่ แต่ในตอนแรกเขาอาจยังไม่รู้หรอกว่าจะทำยังไง ถ้าคุณแม่สอนเขา
เขาก็จะเปิดผ้า แล้วหยิบของเล่นได้ ช่วงแรกๆ เด็กยังทำไม่ได้หรอกค่ะ แม่ต้องทำซ้ำๆ
ลูกก็จะจำพฤติกรรมของแม่ และเลียนแบบ แต่อาจจะยังไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาของ
จนกว่าระบบความคิดของเขาจะพัฒนามาได้ในระดับหนึ่งแล้ว เขาจึงจะรู้ว่าต้องเอาผ้าผืนนี้
ออกก่อน ถึงจะได้ของเล่น นี่คือที่มาของผลการวิจัย 2 Step Means End Problem Solving
(MEPS) Test ค่ะ
จริงๆ แล้วกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรียนรู้ผ่านการรับรู้
จากประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งห้า ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมอง
หากเราจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย (Experience) การเชื่อมโยงเครือข่าย
ใยประสาทในสมองจะยิ่งเกิดมาก และเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมคือถึงวุฒิภาวะ (Maturation)
หรือเมื่อเด็กพร้อม เด็กจะทำได้ เช่น ถ้าลูกยังไม่พร้อม คอยังไม่แข็ง อยากกระตุ้นให้นั่ง
จับลูกนั่งก็ยังนั่งไม่ได้ หรือเอาสีเทียนให้ลูกอายุน้อยกว่า 1 ปีเขียน ลูกก็ได้แต่กำหรือไม่ก็เอา
เข้าปาก เพราะเขายังไม่สามารถหมุนมือเขียนได้ แต่แม่ก็ยังอยากให้ลูกเขียน ก็จับมือลูกเขียน
ถ้าลูกอายุยังน้อยเช่น9-10 เดือน ยังไงก็เขียนไม่ได้เพราะการสั่งการของสมองของเขายังไม่พร้อม
เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะคะ ช่วงอายุที่บอกไป เป็นแค่ช่วงอายุที่ประมาณไว้เท่านั้น
เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่เร็ว หรือช้ากว่านั้นได้ เช่น ถ้าพ่อแม่รู้ว่าลูกช่วงอายุ 8-12 เดือน
กำลังชอบเล่นเสียง มา มา มา ปา ปา ปา คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเล่นเสียงกับลูกด้วย ในส่วนนี้
จะช่วยเสริมให้ลูกอยากที่จะออกเสียงมากขึ้น และนานขึ้น เหมือนกับเด็กที่กำลังหัดยืน เราก็ต้อง
เอาของเล่นไปวางล่อ ลูกก็จะยืนได้นานขึ้น หรือขยับของเล่นออกไป ลูกก็จะค่อยๆ เกาะเดิน
ขยับตามของเล่นไป พอเขาสนุก เขาก็ลืมเมื่อย กล้ามเนื้อก็จะแข็งแรงขึ้น เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
แต่ถ้าลูกเรายังยืนไม่ได้ แต่เราจับเขามายืน เขาก็อาจจะพอลงน้ำหนักได้ แต่ยังจับ และเหนี่ยว
ไม่เป็น อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์ เราควรต่อยอดพัฒนาการของลูกเมื่อถึงเวลาค่ะ
เด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่นที่สนุกสนาน และการเล่นซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญค่ะ
พ่อแม่จึงต้องสร้างสรรค์วิธีการเล่นกับลูกด้วยตัวเอง เล่นตามความสนใจของเด็ก เช่นช่วงนี้
ลูกชอบเล่นจ๊ะเอ๋ ลูกรู้แล้วว่าแม่ยังอยู่ไม่หายไปไหน คราวนี้เราก็ลองหลบหลังกระดาษ
หลังผ้าม่าน ใต้ผ้าห่ม ฯลฯ ลูกก็จะมองหาด้วยวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป
ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของลูกได้เป็นอย่างดี
เราเชื่อว่ายอดคุณแม่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างสุดความสามารถกันอยู่
และเราก็เชื่อว่า เทคนิคที่รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ ได้สละเวลามาอธิบาย ก็จะเป็น
ประโยชน์สำหรับยอดคุณแม่ เพื่อที่จะนำไปพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้ลูกน้อยได้
อย่างเต็มศักยภาพค่ะ
ชมวีดีโอสาธิตกิจกรรมเสริมพัฒนาการสำหรับลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย คลิกที่นี่ค่ะ
Reference: Drover JR, et al Child Development. 2009; 80:1376-84.