แนะนำกิจกรรมการท่องเที่ยว |
|
| |||||
|
| |||||
|
|
อยคลื่น บนพื้นทราย เลียบฝั่งอันดามัน ฟื้นฝันวันวาร
ธรณี พิบัติภัย "สึนามิ" ในท้องทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สร้างความสูญเสียแก่มนุษยชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้อย่างรุนแรง แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกประเทศใส่ใจสร้างระบบการเตือนภัย และการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผาสุกและสมานฉันท์
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์สงบ นอกจากกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการรำลึกผู้ที่จากไป และการก่อรูปของ "อนุสรณ์สถาน" อันเป็นเครื่องเตือนสติให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จึงทำให้เกิด "เส้นทางแห่งความห่วงหาอาทร" ในเขตจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย "สึนามิ"
ภูเก็ต
1."นาราเพื่อนยาก" เป็นรูปปั้นสุนัขพันธุ์พลูโตตัวใหญ่ ตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินชาวญี่ปุ่นนาม "โยชิโตโม นารา" เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยสึนามิ โดยใช้สุนัขเป็นสื่อแสดงความห่วงหาอาทรในฐานะ "เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์" ประติมากรรมชิ้นนี้เคยร่วมแสดงในโครงการ "พลังศิลป์ พลังใจ พลังอันดามัน" ณ หน้าหาดป่าตองมาครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนส่งมอบให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 และนำมาติดตั้งเป็นการถาวร ณ หาดป่าตอง
2."จิตจักรวาล" ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิแห่งที่ 1 ผลงานศิลปินชาวไทยนาม "อุดร จิรักษา" มุ่งอธิบายพิบัติสึนามิด้วยปรัชญาพุทธศาสนาว่าด้วย "อิทัปปัจจยตา" คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัยให้เกิด อีกทั้งการสูญเสียของชีวิตและสรรพสิ่ง ย่อมทำให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นแทนควบคู่กันไป ประติมากรรมนี้ตั้งอยู่ ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี หาดกมลา (ตรงข้ามสถานีอนามัย) จัดสร้างโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
3."ศิลารำลึกหาดกมลา" สร้างโดยความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่น เพื่อเป็นสถานที่บวงสรวง วิญญาณผู้เสียชีวิต โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและสีผิว รวมทั้งให้ผู้ยังอยู่เคารพยำเกรงธรรมชาติ ตั้งอยู่ ณ หน้าชายหาดกมลา โดยต้องเดินข้ามสะพานเข้าแนวเขต sunwing resort จากบริเวรด้านหน้าหาด
พังงา
4. "ต.813" อนุสรณ์สถานเรือตรวจการ 813 รำลึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ถาโถมเข้าจู่โจมเรือตรวจการ น้ำหนักกว่า 60 ตัน ขึ้นมาเกยฝั่งห่างจากจุดที่เรือจอดกว่า 1 กิโลเมตร หลังเหตุการณ์สงบลงแล้ว กองทัพเรือตัดสินใจสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน เตือนใจว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ อันนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
5. "มั่นคงเป็นหนึ่งเดียว" ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่ ซ.นายเท่ง ถ.เพชรเกษม กม.ที่ 61 บ้านบางเนียง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สะท้อนความจริงที่ว่า "สึนามิ" ก่อให้เกิดบางสิ่งที่มั่นคงแข็งแรงเป็นหนึ่งเดียว คือความห่วงใยเอาใจใส่ทุกข์สุขของกันและกัน และการแสวงหามาตรฐานการเตือนภัยที่ดีร่วมกัน จากจินตนาการของศิลปินชาวสวีเดน นาม "ลาริส อิงกลูนด์" จัดสร้างโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
6. "สวนอนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม" ตั้งอยู่ ณ ม.2 บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จัดสร้างเป็นรูปคลื่นทาสีดำด้วยซีเมนต์ แล้วปิดแผ่นทองคำเปลวโดยบริษัทซิสเซ่นครุบบ์ ประเทศเยอรมันนี ร่วมกับกองทัพบก
กระบี่
7. "อนุสรณ์สึนามิใต้น้ำ" ตั้งอยู่ใต้น้ำ หน้าอ่าวโล๊ะดาลัม เกาะพีพี จ.กระบี่ จุดที่สึนามิคร่าชีวิตคนมากที่สุด รองจากเขาหลัก จัดสร้างโดยกระทรวงคมนาคม
8. "กอดฉันให้แน่น" ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิ แห่งที่ 3 ผลงานศิลปินชาวฝรั่งเศสนาม Louise Bourgeois เตือนใจให้มนุษยชาติระลึกถึงเหตุการณ์ คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ได้สร้างความบอบช้ำเสียหายทั้งชีวิต จิตใจ และทรัพย์สินมากมายประเมินค่าไม่ได้ ประติมากรรมนี้ ตั้งอยู่ ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา ฮ.เมือง จ.กระบี่ จัดสร้างโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
อันดามันวันนี้
ในขณะที่พระอุโบสถวัดกมลา หาดกมลา ถูกสึนามิถล่มถึงหลังคา ทว่า หอระฆัง ที่ตั้งอยู่ถัดไปกลับไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลยพื้นที่สะพานหินในตัวเมืองภูเก็ต เป็นจุดหนึ่งที่ระดับน้ำทะเลสูงจากผลของคลื่นสึนามิ แต่ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง บริเวณแหลมสะพานหิน กลับไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย ชาวบ้านเล่าว่า แม้แต่พื้นยังไม่เปียก ในขณะที่สิ่งก่อสร้ารอบข้างโดนถล่มจนต้องฟื้นฟู จนส่งผลดีให้สภาพภูมิทัศน์สะพานหินดีขึ้นในวันนี้
เชื่อหรือไม่
หลังเกิดสึนามิ หน้าหาดป่าตองพังราบตั้งแต่หัวหาดยันท้ายหาด ยกเว้น "ศาลพระพรหม" หน้าหาด ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย ในขณะที่ร้านขายอาหารซึ่งอยู่ถัดไปไม่ถึง 50 เมตร พังยับเยินจากคลื่นยักษ์สูงกว่าระดับเสาไฟฟ้า เล่าขานกันว่า แม้แต่ตุ๊กตาช้าง ม้า และแจกันบนศาลพระพรหม ไม่มีร่วงหล่นหรือตกแตกเลย สภาพที่มีคนเห็นหลังเหตุการณ์เสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากมีรอยเปียกเล็กน้อย แต่ทุกอย่างถูกวางไว้เหมือนเดิม
ติดต่อสอบถาม ททท.สำนักงานภูเก็ต โทร. 0 7621 1036 , 0 7621 2213 www.tourismthailand.org/phuket
ดาวน์โหลด เอกสารเผยแพร่ "รอยคลื่น บนพื้นทราย เลียบฝั่งอันดามัน ฟื้นฝันวันวาร"