แล่งใต้สู่แดนศรีตรัง
โดย Tigger
ไม้พุ่มสูงใหญ่ใบฝอยที่ผลิดอกออกช่อสีน้ำเงินอมม่วงช่วงหน้าแล้งประมาณธันวาคมถึงเมษายนนามว่า ศรีตรัง นี้ยืนต้นสลอนทั่ว ตรัง ด้วยเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด ชื่อของเมืองนี้มีที่มาจากหลายกระแส บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ตรังค ซึ่งแปลว่าลูกคลื่น เพราะสภาพเมืองมีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่น บ้างก็ว่ามาจากภาษามลายู ตรังเล ซึ่งแปลว่ารุ่งอรุณ เนื่องจากพ่อค้าชาวมาเลย์ล่องเรือมาถึงปากแม่น้ำตรังยามอรุณรุ่งพอดี
เมืองปักษ์ใต้เล็ก ๆ แห่งนี้มีชายหาดทอดยาวเลียบฝั่งอันดามันกว่า 100 กม. ทิศเหนือจรดกระบี่และเมืองคอน (นครศรีธรรมราช) ทิศตะวันออกติดพัทลุง ตบท้ายด้วยสตูลทางทิศใต้ หากย้อนอดีตไปในสมัยกรุงเก่าเมื่อกว่า 500 ปีมาแล้ว ตรังมีฐานะเป็นเมืองท่าของเมืองคอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองตอนล่าง ต่อมาได้กลายเป็นท่าเรือพาณิชย์สำคัญในการค้าขายกับมลายูช่วงแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง จวบจนยุคปัจจุบันที่นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันเงียบสงบและงดงามตามแบบ unseen ใต้สมุทรแล้ว ตรังยังเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของอดีตผู้นำประเทศที่มีวาทะคมเฉียบเปรียบประดุจ มีดโกนอาบน้ำผึ้ง
จุดหมายของการแล่งใต้ครั้งนี้ก็เพื่อเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีร่วมเรียงเคียงหมอนของญาติโกโหติกา แรกเริ่มเดิมทีพวกเราวาดฝันกันว่าจะขับรถกินลมชมสวน (ยางพารา) ชวนชิม (อาหารทะเล) ไปตามด้ามขวานทอง แต่ด้วยหนทางที่ยาวไกล ประกอบกับสมาชิกร่อยหรอ สองพ่อลูกเลยเปลี่ยนใจไปแบบเบิร์ด ๆ กับนกแอร์ บรรยากาศปักษ์ใต้เริ่มขึ้นด้วยเสียงทักทายสำเนียงใต้ของแอร์โฮสเตส เพียงชม.เศษก็ถึงสนามบินตรังที่สุดแสนวิเวกวังเวงท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวชะอุ่ม เพราะมีแต่สายการบินเจ้าจิ๊บ ๆ บินขึ้นลงเพียงวันละเที่ยว
ลองลิ้มแต้เตี้ยม..ชิมรสหมูย่าง
เราเข้าเมืองโดยอาศัยรถบริการรับส่งของโรงแรมธรรมรินทร์ธนา เพียงไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงที่พัก หลังเก็บสัมภาระเข้าที่เข้าทางแล้วก็ถึงเวลาสืบเสาะแสวงหาของอร่อยประจำถิ่นด้วย ตุ๊กตุ๊กหัวกบ พาหนะแรงดีที่เหมาะกับสภาพเนินของเมือง ว่ากันว่าคนเมืองนี้ช่างกินเพราะมีร้านโกปี้เปิดบริการบนถนนเกือบทุกสาย บางแห่งเปิดเป็นเพื่อนคลายเหงาให้ซดโกปี้กันได้ตลอด 24 ชม...in trend ซะจริง ๆ แต่ความพิเศษอยู่ที่การต้อนรับด้วยเครื่องเคียงนานาชนิดที่ส่วนใหญ่นิยมกินกันช่วงเช้าถึงเที่ยง เช่น จาก๊วย (ปาท่องโก๋นุ่มละไม) แต้เตี้ยม (ติ๋มซำ) บ๊ะจ่างสไตล์ฮกเกี้ยน (ลูกเล็ก ๆ ใส่แต่หมูคละเคล้าเครื่องยาจีน) แถมบางร้านยังมี หมูย่าง สูตรลับเฉพาะของชาวตรังไว้บริการด้วย บริเวณถนนห้วยยอดที่โรงแรมตั้งอยู่มีร้านอาหารหลายหลาก ซึ่งเพียงแค่โฉบผ่านก็ล้วนยั่วน้ำลายเรียกน้ำย่อย บ้านโกหลั่นเสิร์ฟแต้เตี้ยมสารพัดสารพันพร้อมหมูย่างหนังกรอบเนื้อนุ่ม นอกจากนี้ ยังมีผักสดให้แกล้มแก้เลี่ยนและเพิ่มความสบายใจไร้กังวลว่าได้รับคุณค่าทางอาหารครบหมู่ พร้อมด้วยโกปี้รสกลมกล่อมกลิ่นหอมกรุ่นร่อยจังฮู้...ติด ๆ กันเป็นร้านเครือเดียวกัน หมูย่างเมืองตรังที่เราหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาหอบหิ้วไปให้บรรดาคณาญาติได้ชิมรสกัน..ฟันธง จากนั้นก็ได้เวลาเตรียมแปลงโฉมเข้าร่วมภารกิจช่วงเย็น ขอเก็บตกนิดหนึ่งว่างานเลี้ยงที่นี่เริ่มและเลิกเร็ว คงเป็นเพราะการจราจรไม่ติดขัดดังเช่นในเมืองกรุง แถมแขกเหรื่ออาจมาจากต่างอำเภอเลยต้องรีบกินรีบจรลีจำลา
คารวะอดีตท่านเจ้าเมืองนักพัฒนา
หลังตะวันทอแสงการตระเวนแดนศรีตรังเริ่มเปิดฉากด้วยรถเช่าเก่าบุโรทั่งที่โรงแรมช่วยจัดหาให้ เรามุ่งหน้าไปทางตะวันออกสู่พัทลุง พอออกนอกเมืองชั่วพริบตาจะแลเห็นสวนสาธารณะที่มีถนนโอบล้อมโดยรอบ ภายในมี อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ตั้งตะหง่านอยู่ ท่านเป็นอดีตเจ้าเมืองผู้วางรากฐานความเจริญให้กับตรังมากมายหลายด้านจนเป็นที่รักยิ่งของชาวเมืองตรัง ๆ จึงได้ร่วมลงขันกับทางการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น โดยจะมีพิธีวางพวงมาลาใน วันพระยารัษฎานุประดิษฐ์ หรือทุกวันที่ 10 เมษายนซึ่งเป็นวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน
ท่านเจ้าเมืองเป็นชาวระนองโดยกำเนิดแม้เทือกเถาเหล่ากอเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองตรัง ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มนำต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูกในแดนดินถิ่นสยาม เช่น ไม้พื้นเมืองจากออสเตรเลียที่ถูกขนานนามว่า ศรีตรัง เพื่อเป็นศักดิ์ศรีแห่งเมืองตรัง รวมทั้ง ยางพารา จากมลายู ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยต้นแรกที่ปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ.2442 ยังคงโดดเด่นเป็นสง่าบริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรใน อ.กันตัง
อุดหนุนสินค้า OTOP ผ้านาหมื่นศรี
แล้วมุ่งหน้าสู่ บ้านนาหมื่นศรี หมู่บ้านเล็ก ๆ ใน อ.นาโยง เพื่อร่วมสืบสานการอนุรักษ์ศิลปะการทอผ้าพื้นบ้าน นาหมื่นศรี ซึ่งจำหน่ายทั้งผ้าฝ้ายผืน และของที่ระลึกต่าง ๆ ที่ผลิตจากผ้าพื้นบ้านซึ่งล้วนน่าชมน่าใช้ทั้งเนคไท ผ้าพันคอ กระเป๋าใบใหญ่น้อย
สักการะพระนอนมโนราห์
หลังจากนั้นตรงไปยัง ต.น้ำผุด ในเขต อ.เมือง เพื่อสักการะ พระนอนมโนราห์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เพิงถ้ำในวัดภูเขาทอง พระพุทธรูปสีทองอร่ามงามตาองค์นี้เป็นปางปรินิพพานองค์เดียวในประเทศที่พระเศียรทรงเทริดมโนราห์ (ชฎาไม่มียอด) ตามศิลปะของภาคใต้ คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยราว พ.ศ. 1493 ความยาวขององค์พระประมาณ 9 เมตร ช่วงที่เราไปเยือนมีอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวกลุ่มใหญ่มาปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้
ย้อนตำนานเค้กเลื่องชื่อ
ต่อด้วยการเยือน บ้านลำภูรา ใน อ.ห้วยยอดเพื่อย้อนตำนาน เค้กลำภูรา เค้กนุ่มฟูก้อนกลมโตมีรูตรงกลางคล้ายโดนัทยักษ์ ต้นตำรับอยู่ที่ร้าน ขุกมิ่ง ซึ่งเป็นชื่อของหนุ่มจีนโพ้นทะเลที่โล้สำเภาหนีภัยสงครามมาขึ้นฝั่งที่นราธิวาสเมื่อปี พ.ศ. 2472 จากนั้นได้ขยับขยายไปทำมาหากินเลี้ยงปากท้องในหลายพื้นที่ละแวกนั้น จนในที่สุดโยกย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านลำภูราและเปิดร้านขายโกปี้ ด้วยหัวใจอันเปี่ยมล้นที่จะบริการโกปี้ร้อน ๆ ควบคู่กับขนมรสเลิศ ทุกวันขุกมิ่งมุ่งมั่นปั่นล้อถีบกันน่องปูดเพื่อไปซื้อขนมจากในตัวเมืองซึ่งอยู่ห่างไกลกว่า 20 กม. ในขณะที่เจรจาการค้าไปพลางก็แอบครูพักลักจำวิธีทำขนมไปด้วย ไม่นานนักจึงเริ่มทดลองอบเค้กโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดัดแปลงของใช้ในท้องถิ่นเป็นอุปกรณ์ทำขนม เค้กขุกมิ่งจึงอุบัติขึ้น ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ปัจจุบันมีเค้กหลากรสในหลายร้าน ซึ่งหาซื้อได้ทุกแห่งหนในเมืองตรัง แต่ต้นตำรับต้องมีตรานกนางแอ่นคู่ถลาลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทนที่สามารถบินไกลไปรอบโลก นอกจากนี้ ยังมีขนมอีกจิปาถะที่ชื่อแปลกหูรสชาติแปลกลิ้น เช่น ขนมจีบไส้สังขยา (หน้าตาคล้ายกะหรี่ปั๊บ) แยมโรลไส้ถั่วดำ
สัมผัสบรรยากาศริมเล
หลังเอ้อระเหยกันพอควรก็บึ่งพาหนะแก่หงำเหงอะไปทางทิศตะวันตกสู่ หาดปากเมง หาดรูปเสี้ยววงพระจันทร์ใน อ.สิเกา ด้านเหนือของหาดนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน เพราะเป็นที่ตั้งของท่าเรือสำหรับเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งมีปะการังงดงามไม่แพ้ที่ใด ๆ จึงเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าผู้พิศวาสการดำน้ำเป็นที่ยิ่ง เช่น เกาะมุก ถ้ำมรกต เกาะเชือก เกาะม้า และเกาะแหวน รวมทั้งเกาะกระดานที่เป็นสถานที่จัดพิธีวิวาห์ใต้สมุทรในวันวาเลนไทน์ที่โด่งดังไปทั่วโลก บริเวณนี้ยังเป็นจุดชมตะวันตกทะเลที่สวยที่สุดในตรัง
ส่วนทิศใต้มีน้ำทะเลใสหาดทรายสวยเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนกายคลายจิต หากแลเหลียวไปกลางทะเลใกล้แค่เอื้อมมีโขดเขาใหญ่คลับคล้ายคนนอนเหยียดยาวอยู่ นั่นคือ เกาะเมง บริเวณริมหาดเรียงรายด้วยต้นสนทะเลสลับกับร่มชายหาดพร้อมโต๊ะเก้าอี้ของร้านอาหารในละแวกนั้น เราเลือกรับลมชมคลื่นพร้อมเพลิดเพลินเจริญปากด้วยประชาชีซีฟู้ดสด ๆ ที่ร้านปากเมงซีฟู้ด จานเด็ดที่ไม่ควรพลาด คือ หอยชักตีนลวก เข้าใจว่าชื่อของหอยมาจากเวลากินต้องดึงส่วนที่ยื่นออกมาคล้ายตีนหอยก่อนเพื่อนำตัวหอยออกมาจากเปลือก
หลังเขมือบกันเต็มคราบแล้วก็ไปชมทิวทัศน์กันต่อ ชายหาดแถบนี้ถูกพิษสึนามิถาโถมเช่นกัน แต่เสียหายไม่มากนักแม้จะยังหลงเหลือร่องรอยบ้างเล็กน้อย หากลัดเลาะตามถนนเลียบหาดไปสักระยะจะพบรูปปั้นฝูงพะยูน ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ใกล้สูญพันธุ์ของท้องทะเลตรัง เพราะบริเวณนี้อุดมด้วยหญ้าทะเลนานาชนิดที่พะยูนโปรดปราน นอกจากนี้ ยังมีป้ายเตือนให้ระวังภัยจากคลื่นยักษ์ตลอดแนว ความจริงยังมีหาดอีกหลายแห่งที่มีธรรมชาติงดงามแปลกตาไล่เรียงไป
เรื่อย ๆ ตั้งแต่ หาดฉางหลาง หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดยาว หาดเจ้าไหม แต่เผอิญมีการซ่อมถนนจึงไม่สะดวกต่อการเดินทาง จากนั้นกลับเข้าตัวเมือง ไม่ไกลจากหอนาฬิกาจะสังเกตเห็นแมกไม้สีเขียวที่ทำเป็นแนวรั้วบ้าน ที่นี่คือนิวาศสถานของอดีตนายกรัฐมนตรีขวัญใจชาวใต้...ยามตะวันรอนอ่อนล้าก็ได้เวลาอาหารค่ำ ณ ร้าน แกงส้ม ใกล้ ๆ ที่พัก อาหารไทยและอาหารปักษ์ใต้ที่ร้านนี้รสชาติจี๊ดจ๊าดสะใจ
ยามรุ่งสางพวกเราตะเกียกตะกายไปแบกหมูย่างเมืองตรังของแท้และขนมพื้นเมืองมากมายเพื่อเป็นของกำนัลแก่ผองเพื่อน ก่อนกลับมารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ซึ่งน่าหม่ำทั้งสไตล์ฝรั่ง กับข้าวแบบไทย หมี่ฮกเกี้ยน ขนมจีนน้ำยา ข้าวยำปักษ์ใต้
แม้ว่าทริปสั้น ๆ แบบครึ่งฝันจะปิดฉากลงด้วยความอิ่มเอมเปรมปรีด์ แต่ดินแดนปักษ์ใต้ยังแฝงด้วยมนต์เสน่ห์อีกนานัปการที่รอคอยผู้คนต่างถิ่นมาเชยชม...โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา แม่น้ำ ภูเขา ทะเลกว้างไกล อย่าไปไหน กลับใต้บ้านเรา อย่าไปไหน กลับใต้บ้านเรา...