ย่านเยาวราชเป็นชุมชนคนจีนโพ้นทะเลที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมี ประวัติศาสตร์เคียงคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานชีวิตและธุรกิจของชาวจีนหลายชั่วคนบนแผ่นดิน ไทย
การเดินท่องเที่ยวเยาวราชนอกจากจะได้ย้อนประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปีแล้ว ยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารสารพัดชนิด สนุกสานกับการจับจ่ายสินค้าของกินของใช้เครื่องประดับมากมาย และยังได้ไหว้พระไหว้เจ้าเป็นสิริมงคลกลับไปด้วย สถาปัตยกรรม ร่องรอยสถาปัตยกรรมในอดีตที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวจีนยังคงมีให้เห็นจากลวดลาย ปูนปั้นและการฉลุช่องแสงที่หน้าต่างของตึกเก่าหลายแห่งบนถนนทรงวาด ส่วนสถาปัตยกรรมตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5 ดูได้จากมัสยิดยมีตุลอิสลาม หรือสุเหร่าวัดเกาะ อาคารธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย นอกจากนี้ยังมีวัดเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะหลายแห่ง อาทิ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) วัดปทุมคงคา (วัดสามเพ็ง) และวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ) และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งมีพระพุทธรูปทองคำ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประดิษฐานอยู่ด้วย อาหาร เยาวราชคือสวรรค์ของนักกิน มีของอร่อยทั้งของคาว ของหวาน ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงผลไม้ให้ลิ้มรสทั้งกลางวันกลางคืน เริ่มตั้งแต่หน้าถนนทรงสวัสดิ์ ไล่เรื่อยไปจนถึงซอยอิสรานุภาพ ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือตลาดเก่าเยาวราชที่เป็นตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลมาแต่ โบราณ นอกจากนี้ ถนนผดุงด้าวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตรอกเท็กซัสและในซอยเยาวพานิช ก็อัดแน่นไปด้วยเหลาและร้านอาหารมากมาย
ร้านทอง เยาราชได้ชื่อว่าเป็นถนนสายทองคำ มีร้านทองมากกว่า 100 ร้านตั้งอยู่เรียงรายสองฟากฝั่งถนน เสน่ห์ของทองคำเยาวราชอยู่ที่ฝีมือการผลิตทองรูปพรรณด้วยมือ ถือเป็นศาสตร์ที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ทองรูปพรรณเยาวราชเป็นที่รู้จักกันดีด้วยค่าความบริสุทธิ์ที่สูงถึง 96.5% หรือเทียบเท่ากับทอง 23 K โดยประมาณ
การจับจ่ายซื้อของ การจับจ่ายซื้อของนับเป็นสีสันของไชน่าทาวน์เยาวราช มีทั้งของกินของใช้มากมายที่ตอบสนองได้ทุกความต้องการและดึงดูดผู้คนจากทั่ว สารทิศเป็นประจำทุกวัน หากต้องการหาซื้อสินค้าอาหารคุณภาพให้มาที่ ตลาดเก่า เป็นที่รวมอาหารคุณภาพทั้งสดและแห้ง ภัตตาคารและโรงแรมมีชื่อเสียงหลายแห่งในกรุงเทพฯคือลูกค้าขาประจำของที่นี่ ฝั่งตรงข้ามตลาดเก่าคือตลาดใหม่ หรือตลาดกรมภูธเรศ ซึ่งขายสินค้าแบบเดียวกัน สำหรับผู้ที่ต้องการหาซื้อผ้า ให้ตรงไปที่ สำเพ็ง ที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งรวมร้านขายส่งและปลีกของผ้าชนิดต่าง ๆ อุปกรณ์ตัดเย็บ ของชำร่วย ฯลฯ ซึ่งหนาแน่นด้วยผู้คนตลอดวัน ศาลเจ้า ศาลเจ้าเป็นเสมือนสิ่งสะท้อนรากเหง้าของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวจีนในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ในย่านเยาวราชมีศาลเจ้ามากมาย กล่าวได้ว่าทุก 1.5 ตารางกิโลเมตร จะมีศาลเจ้าถึง 4 แห่ง ซึ่งในช่วงเทศกาลไหว้เจ้า แต่ละแห่งจะมีผู้คนแวะเวียนมาสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันอย่างคึกคัก แนะนำเส้นทางการเดินทาง ไหว้เจ้า 9 ศาลเจ้ากับ 1 วัด 1. ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ สถานที่รับพลังฟ้าดิน เนื่องจากเป็นจุดบรรจบของถนนสายต่าง ๆ ในย่านนี้ 2. เจ้าแม่กวนอิม ที่มูลนิธิเทียนฟ้า 3. ศาลเจ้าอาเนี้ยเก็ง ศาลเจ้าเก่าแก่ของเยาวราช 4. ศาลเจ้าแม่ประดู่ ศาลเจ้าอายุกว่า 170 ปี 5. ศาลเจ้าเบ๊เอี๊ยะ ไหว้เจ้าพ่อกวนอูและเจ้าพ่อม้า 6. ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจีนแต้จิ๋ว 7. โรงเจบุญทานสมาคม ซึ่งได้นามพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 นพเคราะห์ 9 ดวงและพระราหู 8. ศาลเจ้าเล่งบ๋วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าอายุกว่า 200 ปี ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในไชน่าทาวน์ ภายในมีของพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นระฆังสมัยราชวงศ์เช็งปีที่ 23 9. วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นวัดมหายานลัทธิจีนนิกายแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างขึ้นจาการเรี่ยไรของชาวสำเพ็ง 10. ศาลเจ้าสมาคมกวางตุ้ง ที่ประดิษฐานเทพศักดิ์สิทธิ์ 6 องค์ นี่คือ ศาลเจ้าของชาวกวางตุ้งเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ
|