ฉะเชิงเทรา : ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว ท่องเที่ยวสุดสัปดาห์ที่ท่า ตะเกียบ


768 ผู้ชม


ฉะเชิงเทรา : ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวสุดสัปดาห์ที่ท่า ตะเกียบ


อำเภอท่าตะเกียบ เป็นอำเภอที่อยู่ด้านตะวันออกสุดแดนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีอ่างเก็บน้ำ และธรรมชาติสวยงาม  เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯจนเกินไป สามารถท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบ 2 วัน 1 คืน  การเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์ใช้เส้นทาง 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา)  ระยะทาง 75 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางที่ผ่านอำเภอแปลงยาว ไปอำเภอสนามชัยเขต ต่อด้วยทางหลวง 3259 ไปอำเภอท่าตะเกียบ ระยะทางประมาณอีกประมาณ 80 กิโลเมตร

เส้นทางปั่นจักรยานเ
อำเภอท่าตะเกียบ - อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 8 กิโลเมตร 
อ่างเก็บน้ำคลองสียัด - สำนักงานป่าไม้หลุมจังหวัด 30 กิโลเมตร
สำนักงานป่าไม้หลุมจังหวัด - น้ำตกบ่อทอง 12 กิโลเมตร

เริ่มต้นกันที่ตัวอำเภอท่าตะเกียบ ปั่นจักรยานมาตามทางลาดยางเรียบตลอด เข้าเขื่อนคลองสียัด ซึ่งเป็นเขื่อนดินเก็บน้ำเพื่อการเกษตร บนสันเขื่อนเป็นทางรถวิ่ง มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้สวยงาม เหมาะกับเป็นสถานที่พักผ่อน มีร้านอาหารริมอ่างเก็บน้ำ  จากบริเวณเขื่อนสามารถขึ้นไปยังจุดชมวิวเพื่อชมทิวทัศน์และ สักการะศาลเจ้าพ่อเขากาซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวท่าตะเกียบ มีตำนานเล่าว่า ท่านเคยเป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสินในสมัยที่ไปตีเมืองจันทบุรี แล้วมาเสียชีวิตที่นี่ จึงตั้งศาลไว้เป็นอนุสรณ์ (จะมีงานสักการะเจ้าพ่อเขากาประจำปี ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)


จากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปั่นจักรยานมาตามทางลาดยางเรียบอีก 30 กิโลเมตร ถึงสำนักงานป่าไม้หลุมจังหวัด  (ช่วงนี้อาจไม่ปั่นจักรยานแต่เดินทางด้วยรถยนต์แทนก็ได้)  จากนั้นปั่นจักรยานต่อจาก สำนักงานป่าไม้หลุมจังหวัด โดยมีจุดหมายที่น้ำตกบ่อทอง การปั่นจักรยานช่วงนี้จะไปตามทางลูกรังจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางปกคลุมไปด้วยป่าไม้ธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีผีเสื้อมากมาย โดยเฉพาะผีเสื้อหนอนคูน จากหน่วยพิทักษ์ป่าฯ มีเส้นทางเดินเท้าขึ้นชมน้ำตกอีก 2 กิโลเมตร
น้ำตกบ่อทอง หรือที่เรียกกันว่า น้ำตกอ่างฤาไน  เป็นน้ำตกค่อนข้างสูงชัน มีน้ำตลอดปี  แต่หากไปฤดูปลายฝนต้นหนาว น้ำจะค่อนข้างมากเป็นพิเศษ การเข้าถึงน้ำตกบ่อทองเป็นทางลูกรัง นอกจากการขี่จักรยานแล้ว ยังสามารถเข้าถึงโดยใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ รถยนต์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากต้องขับลุยผ่านแอ่งน้ำ 3-4 แห่ง 

จบการท่องเที่ยวในวันแรก ด้วยการพักค้างคืนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน ซึ่งอยู่ห่างออกไปตามเส้นทางไปอำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้วตามเส้นทาง 3259 อีกประมาณ 20 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การพักค้างแรมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องขอทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 15 วันกับกรมป่าไม้และได้รับการตอบอนุญาตก่อน


กิจกรรมก่อสร้างฝายและโป่งเทียมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤา ไน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤา ไนเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่กว่าหกแสนไร่ บนรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดจังหวัดจันทบุรีและแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง  มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เปิดโอกาสให้หมู่คณะหรือกลุ่มเยาวชนที่สนใจร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ด้วย การทำโป่งเทียมและสร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่า
          โป่ง คือ เกลือแร่อย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับสัตว์ที่กินพืช เช่น ช้าง  ซึ่งปกติต้องหากินโป่งหลาย ๆ ที่เพื่อให้ได้เกลือแร่ครบ  แต่การทำโป่งเทียมในเส้นทางที่สัตว์หากิน  เราจะนำเกลือไปผสมให้เข้ากันกับดินให้เหมาะสม โดยการขุดดินเป็นหลุมกว้างและลึกพอเหมาะ  แล้วนำเกลือแร่ผสม กลบดิน แล้วใช้น้ำรดหรืออาจมีฝนตก ก็จะช่วยให้กลิ่นลอยไปโดยธรรมชาติสัตว์จะได้กลิ่น โป่งเทียมจะมีเกลือแร่ครบทุกตัว
          สำหรับการสร้างฝาย เราจะเลือกสร้างฝายเพื่อกั้นหรือขวางการไหลของน้ำให้ชะลอลง เพื่อเป็นการช่วยรักษาหน้าดินและการกัดเซาะทำลายดิน
โดยใช้ไม้ตีกั้นในเส้นทางน้ำไหล  และนำเศษไม้ หิน วัสดุต่างๆ มารวมกัน และตีกั้น ทำให้ลดแรงปะทะของสายน้ำได้


กิจกรรมส่องสัตว์กลางคืน
กิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่มาพักแรมในพื้นที่เขตฯ คือการส่องสัตว์กลางคืน  ทางเขตฯ มีบริการรถส่องสัตว์จุได้ 60 คน  ใช้เวลา 30-40 นาที 
โดยบริเวณเส้นทางเข้าออกอุทยาน  ทางหลวง 3259 จะปิดถนนเพื่อให้สัตว์ป่า เดินหาอาหาร ระหว่างเวลา 21.00-05.00น.  มีสัตว์ที่พบ อาทิเช่น ช้าง  กระต่าย  เก้ง  เม่น ฯลฯ
การติดต่อทำกิจกรรม    ผู้สนใจกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สร้างฝายทำโป่ง และกิจกรรมส่องสัตว์กลางคืน สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โทร. 0 3850 2001  หรือ ผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์ฯ  คุณ เบ็งจะ  ตรีสาร  08 1899 9826

ค่าเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขา อ่างฤาไน
          ชาวไทย  ผู้ใหญ่ 20 บาท  เด็ก 10 บาท (นักเรียนนักศึกษาลดครึ่งราคา) (แต่งเครื่องแบบหรือแสดงบัตร)
          ชาวต่างชาติ  ผู้ใหญ่  200 บาท  เด็ก 100 บาท  
          ค่านำยานพาหนะเข้าเขตรักษาพันธุ์ฯ  จักรยาน 10 บาท จักรยานยนต์ 20 บาท  รถยนต์ 60 บาท  รถ 6 ล้อ 100 บาท รถ 10 ล้อ 200 บาท

ที่พัก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤา ไน มีบริการที่พัก  ทั้งหมด 3 หลัง พักได้หลังละ 4 - 6 คน นอกจากนี้ยังมีจุดกางเต๊นท์บริเวณรอบๆ ซึ่งต้องนำเต๊นท์มาเอง ค่าธรรมเนียงกางเต็นท์กรณีนำเต๊นไปเอง เต๊นท์ขนาด 4 คน เต๊นท์ละ 50 บาทต่อคืน ขนาดเกิน 4 คนเต๊นท์ละ 100 บาทต่อคืน
บริเวณกางเต๊นท์สวยงามมาก ใกล้อ่างเก็บน้ำ บรรยากาศโอบล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ ยามเช้าบรรยากาศสวยงามเหมือนปางอุ๋ง สงบเงียบ ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนและมีนกมายมายนานาชนิด

นอกจากนั้นยังมีบ้านพักต้นน้ำ ที่หน่วยจัดการต้นน้ำภูไท จำนวน 2 หลัง พักได้หลังละ 15 -20 คน และ มีอาคารเอนกประสงค์  สำหรับทำกิจกรรม อยู่ห่างจากสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร
ติดต่อใช้บริการที่พักและเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนได้ที่  สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรุงเทพฯ คุณชัยรัตน์  โทร. 0 2561-4837

 

ตัวอย่างกำหนดการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

แบบ 2 วัน 1 คืน
วันแรก
07.00 น.  นัดหมายสมาชิกร่วมเดินทาง
09.00 น.  เดินทางถึงอำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
10.00 น. ปั่นจักรยานจากอำเภอท่าตะเกียบไปอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ระยะทาง 8 กิโลเมตร
                แวะสักการะศาลเจ้าพ่อเขากา
12.00 น.   รับประทานอาหารกลางวันริมอ่างเก็บน้ำ
13.00 น.  เดินทางถึงสำนักงานป่าไม้หลุมจังหวัด ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร 
                ปั่นจักรยานชมน้ำตกบ่อทอง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
15.00 น. เตรียมเก็บสัมภาระเดินทางไปพักแรม ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
16.30 น. เดินทางถึงสถานที่พักแรม
21.00 น. นั่งรถส่องสัตว์กลางคืน นำโดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
22.00 น. กลับเข้าที่พัก

วันที่สอง
06.00 - 07.00 น. กิจกรรมดูนกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
08.00 น. รับประทานอาหารเช้า
              ปั่นจักรยานภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามอัธยาศัย
10.00 น. เดินทางไปร่วมกิจกรรมก่อสร้างฝาย / โป่งเทียม ณ จุดกำหนด
12.00 น. เสร็จกิจกรรม และรับประทานอาหารกลางวัน
16.00 น. เดินทางถึงกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพ

อัพเดทล่าสุด