ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์


714 ผู้ชม


ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์

ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์


ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์     แสงอาทิตย์ยามบ่ายสาดส่องผ่านร่มไม้ใหญ่น้อย ก่อเกิดแสงสว่างรำไรไปทั่ว แม้ว่าอากาศในช่วงเวลาบ่ายจัดจะค่อนข้างร้อน แต่สายลมที่หอบไอเย็นจากสระน้ำภายในพระราชวังสนามจันทร์ก็ทำให้พอชื่นใจอยู่ บ้าง ตั้งแต่เริ่มย่างก้าวเข้าสู่เขตพระราชฐานแห่งนี้ ผู้เขียนก็สำรวมกริยาวาจาทันที ด้วยจิตสำนึกที่ว่า พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ จากหลักฐานที่ปรากฏได้เรียกชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “เนินปราสาท” ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อครั้งอดีต จวบจนกระทั่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ ซึ่งต่อมาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างที่ประทับบนพื้นที่เนินปราสาทสำหรับแปรพระ ราชฐาน และได้พระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์”
     เสียงดนตรีจากวงมโหรีที่เหล่าข้าราชบริพารบรรเลงขึ้น ส่งเสียงขับกล่อมชวนฟัง ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปเมื่อครั้งอดีต เมื่อครั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ยังมีพระชนม์ชีพ เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมและการแสดงในสาขา ต่างๆ ด้วยความสนพระทัยดังกล่าวคงจะทำให้ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในมีแต่เสียงดนตรีดัง เสนาะโสตอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามบรรยากาศอันเป็นสุขเช่นนี้ก็ต้องเลือนหายไป เนื่องจากองค์พระประมุขของวังได้เสด็จสู่สวรรคาลัย หลังจากนั้นพระราชวังสนามจันทร์ก็ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบูรณพระราชวังสนามจันทร์ โดยมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริวัฒนาพัณณวดี ผู้เป็นเอกอัครราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์ เดียว เป็นองค์ประธานดูแลและพระราชทานคำแนะนำต่างๆแก่กองอำนวยการบูรณะพระราชวัง สนามจันทร์
ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์     ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ประกอบกับพระราชวังสนามจันทร์มีอายุได้ 100 ปี จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเนื่องในวาระ พิเศษ งานในครั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ หลายพระองค์ อาทิเช่น สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดงาน และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริวัฒนาพัณณวดี ได้เสด็จทอดพระเนตร หมู่พระที่นั่งและบรรยากาศภายในงาน แม้ว่าจะมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง แต่ก็ทรงอุตสาหะเสด็จมาร่วมงาน นับเป็นพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ ที่ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้เป็น อย่างมาก พระราชวังสนามจันทร์มิได้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์เพียงอย่าง เดียว
ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์     เนื่องจากผืนดินและพระตำหนักทั้งหมด ล้วนมีเรื่องราวและความผูกพันฝังแน่นมาช้านาน โดยเฉพาะพระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระราชอิศริยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระที่นั่งองค์นี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้ใช้เป็นที่ประทับ ใช้รับรองและเสด็จฯออกให้เฝ้าฯ บนระเบียงชั้นสองของพระที่นั่งพิมานปฐม สามารถมองเห็นองค์ประปฐมเจดีย์ได้ชัดเจน มีเรื่องเล่ากันว่า บนระเบียงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทอดพระเนตรเห็น พระบรมสารีริกธาตุ แสดงปาฏิหารย์เวียนทักษิณาวัตรรอบพระเจดีย์ ในขณะนี้พระที่นั่งพิมานปฐมได้เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของมีค่าที่มีผู้ทูล เกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ส่วนชั้นที่สองของพระที่นั่งยังคงรูปแบบไว้เป็นห้องต่างๆตามเดิม อาทิเช่น ห้องเสวย ห้องพระบรรทม ห้องสรง เป็นต้น ห้องที่สำคัญที่สุดในชั้นนี้คือ ห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นห้องพระทรงบูชา กึ่งกลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ เมื่อผ่านมาถึงห้องนี้ควรถวายบังคมพระมหาเศวตฉัตร ที่ถือเสมือนเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์
ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์     ด้านทิศใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งเชื่อมต่อออกไปมีนามว่า พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ซึ่งในอดีตได้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในและสตรีบรรดาศักดิ์ ด้านทิศเหนือของพระที่นั่งพิมานปฐม สามารถเดินตามระเบียงไปสู่พระที่นั่งวัชรีรมยา ซึ่งมีลักษณะเป็นพระที่นั่งแฝดเชื่อมต่อมาจากพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งวัชรีรมยา มีศิลปะการก่อสร้างแบบไทยเป็นอาคารมีมุขหน้า มีเครื่องประกอบประเภท ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง เป็นต้น จากพระที่นั่งวัชรีรมยาขึ้นไปด้านทิศเหนือ จะเป็นพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ที่มีหน้าบันด้านเหนือเป็นรูปพระอินทร์ประทานพรในมหาปราสาท ในอดีตพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประชุมเสือป่า และซ้อมการโขนการละคร เมื่อออกจากหมู่พระที่นั่งมายังลานด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานปฐม ก็จะได้สักการะพระพิฆคเนศวร เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ องค์พระคเนศวรได้ประดิษฐานในซุ้ม และถือว่าเทวาลัยแห่งนี้เป็นเทวสถานศักสิทธิ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์
ชมเพลินเวียงวัง รำลึกความหลัง พระราชวังสนามจันทร์     หากได้เดินจากเทวาลัยพระคเนศวรไปด้านทิศเหนือ ก็จะพบกับเรือนพระธเนศวร ซึ่งเป็นเรือนไม้สีเขียวอ่อน มีระเบียงทอดยาวไปยังศาลาแปดเหลี่ยมที่ตั้งอยู่ ณ ริมสระน้ำ ด้านหลังสามารถมองเห็นหมู่พระที่นั่งได้ชัดเจน ถ้าเป็นช่วงยามเย็นแล้วบริเวณนี้จะงดงามด้วยแสงอาทิตย์ที่ฉายอาบศาลาและหมู่ พระที่นั่ง ในอดีตเรือนแห่งนี้เป็นที่พำนักของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีพื้นที่ติดกับที่พักของราชองครักษ์และตำรวจหลวง ผู้เขียนได้ลัดเลาะมาสู่สนามฟุตบอลด้านถนนราชดำเนินใน(ถนนนต้นสน) ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการต่างๆอาทิเช่น โครงการหลวงส่วนพระองค์สวนจิตรดา โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วิทยาลัยช่างทองหลวง วิทยาลัยในวังหญิง และบริษัทห้างร้านทั้งรัฐบาลและเอกชนจากหลายหน่วยงาน ได้พร้อมใจกันมาออกร้านนำเสนอกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆมากมาย
     เมื่อชมบรรดาร้านในบริเวณนี้จนครบแล้ว จากสนามฟุตบอลเดินเลี้ยวซ้ายไปด้านตะวันตก จะพบปราสาทที่มีลักษณะคล้ายสิ่งก่อสร้างในเทพนิยาย สถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นศิลปะผสมระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการกับแบบอังกฤษ บริเวณด้านหน้ามีอนุสาวรีย์สุนัขมีนามว่า ย่าเหลซึ่งเป็นที่โปรดปรานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มาก ปราสาทแห่งนี้มีนามว่า พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เมื่อขึ้นสู่ด้านบนจะพบทางเชื่อมไปสู่พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ในปัจจุบันพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ได้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องใช้ส่วน พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากจุดนี้เมื่อมองจากด้านล่างโดยเฉพาะในยามใกล้ค่ำ จะเห็นภาพสวยงามของพระตำหนักทั้งสององค์ที่เชื่อมต่อกัน และเกิดเป็นเงาสะท้อนที่งดงามในสระน้ำเบื้องล่าง เมื่อเดินไปด้านทิศตะวันตกใกล้ๆกับพระที่นั่งมารีรัตนราชบัลลังก์ จะได้ชมเรือนไทยหมู่ที่อ่อนช้อยและงามแบบสถาปัตยกรรมไทย เรือนแห่งนี้มีนามว่า พระตำหนักทับขวัญ นับเป็นเรือนไทยหมู่ที่สมบูรณ์แบบเหมาะแก่การศึกษาโครงสร้างเกี่ยวกับเรือน ไทยเป็นอย่างมาก
     ณ ช่วงเวลานั้นพระอาทิตย์ได้อัสดงลงแล้ว แสงไฟจำนวนมากได้ส่องสว่างขึ้นทั่วบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ประหนึ่งบรรยากาศภาพในอดีตได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าพระผู้ทรงเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ ได้เสด็จผ่านพิภพไปแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ ร่องรอยแห่งกาลเวลาที่จะยังคงปรากฏเล่าเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นให้แก่ อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึง ความเป็นไปและพระอัฉริยภาพของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ให้เป็นที่กล่าวขานสืบต่อไป
บุญรอง ชาวบ้านกร่าง

อัพเดทล่าสุด