จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)


846 ผู้ชม


สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)

โดย...Tigger


                หลังรอนแรมในดินแดนฝั่งขวาของดานูบตะวันออกมาพอหอมปากหอมคอ  ก็ถึงเวลาข้ามไปสัมผัสดินแดนฝั่งซ้ายของพวกฝ่ายซ้ายกันบ้างเด้อ  ลาวหรืออาณาจักรล้านช้างแต่ปางก่อนเป็นประเทศที่มีสัมพันธไมตรีอันแนบแน่นกับอาณาจักรสยามมานานโข  ภายหลังตกเป็นเมืองขึ้นของสยามในสมัยกรุงธนบุรี  ต่อมาช่วงต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เจ้าอนุวงศ์กษัตริย์ล้านช้างทรงกำเริบเสิบสานโดยยกมาตีโคราชขณะที่เจ้าเมืองไปราชการต่างถิ่น  แต่ในที่สุดก็ตกหลุมพรางคุณหญิงโมภรรยาเจ้าเมือง  และถูกจับกุมในเวลาต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในคุกที่บางกอก   
                หลังจากนั้นสยามได้ตัดไฟแต่ต้นลมโดยยกทัพไปกำราบล้านช้าง  รวมทั้งทำลายพระราชวังและวัดวาอารามในนครเวียงจันทน์ราบเป็นหน้ากลองจนมีสถานที่สำคัญหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง...มิน่าเล่าชาวลาวจึงบ่ชอบให้ชาวไทยเรียกว่าบ้านพี่เมืองน้องด้วยเหตุนี้กระมัง
                ครั้นถึงรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงเป็นยุคไล่ล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก  ฝรั่งเศสเจ้าเล่ห์เพทุบายบังคับให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงเพื่อรวบหัวรวบหางเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส  ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนอินโดจีนถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกราน  เมื่ออ้าย (=พี่) ปลาดิบม้วนเสื่อกลับไปหลังปราชัยในสงคราม  อ้ายน้ำหอมจึงกลับเข้ามาเป็นใหญ่ในลาวอีกครั้ง  พร้อม ๆ กับที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ค่อยคืบคลานเข้ามาในภูมิภาคนี้โดยเริ่มที่เวียดนาม  
                หลังจากน้องญวนปลดแอกจากอ้ายน้ำหอมได้  จึงทำให้อำนาจของฝรั่งเศสสั่นคลอนจนต้องยอมจำนนให้ลาวได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2496  แต่ยังคงปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ต่อมาขบวนการคอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลเข้ามาในลาวจนเกิดการปฏิวัติและเป็นฝ่ายมีชัยชนะในปี 2518  ลาวจึงพลิกแผ่นดินเป็นระบอบสาธารณรัฐโดยใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือเรียกย่อ ๆ ว่า สปป.ลาว 
               การเยือนลาวคราวนี้ข่อยเลือกใช้บริการบริษัททัวร์ที่หนองคาย เพราะการขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปในลาวนั้นยุ่งยากเอาการอยู่  นอกจากคนขับต้องมีใบขับขี่นานาชาติแล้วรถยนต์ก็ต้องมีพาสพอร์ตด้วยเช่นกัน  แถมยังต้องปวดกระบาลกับการขับรถคนละฝั่งถนนกับบ้านเราอีกต่างหาก...คนขับรถของบริษัททัวร์มารับถึงที่พำนักแล้วพาข้ามขัว (=สะพาน) มิดตะพาบไทย-ลาว  การผ่านแดนของแต่ละฝั่งนั้นจะใช้พาสพอร์ตหรือทำใบผ่านแดนแบบไปเช้าเย็นกลับก็ได้  สภาพการจราจรแถบนี้ขวักไขว่พอควร  และมีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศวิ่งไป-กลับระหว่างอุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ด้วย  
               เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาวก็มีไกด์สาวชาวลาวชื่อ “ปี้” คอยต้อนรับพร้อมเปลี่ยนเป็นรถใหญ่ (=รถยนต์) ทะเบียนลาว น้องปี้เน้นย้ำว่าชื่อของตนเป็นคำในภาษาลาวแปลว่าตั๋ว  บ่ใช่ภาษาไทยเด้อ...นับเป็นโชคอย่างมหันต์ที่ถนน 4 เลนไป 

           นครเวียงจันทน์
  เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา  ตามรายทางมีโฮงงานขนาดเล็กหลายแห่ง ทั้งโฮงงานน้ำหวาน (=น้ำอัดลม) โฮงงานเบียร์  และฮ้านไม้ 2 ชั้นขายรถจักร (=รถมอเตอร์ไซค์) โดยนำรถจักรจอดโชว์บนทางเท้า  ดูเหมือนฮ้านขายกาแฟซะมากกว่า  ประมาณ 20 กม.ก็ถึงเมืองหลวงที่มีความหมายว่า “เมืองแห่งพระจันทร์” 

จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)
จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)

             สถานที่สำคัญแห่งแรก คือ พระธาตุหลวง บริเวณทางเข้าด้านหน้ามีซุ้มประตูปูนลวดลายงามแฉล้มแช่มช้อย  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสร้างถวายพระธาตุหลวง  ถัดมาเป็นลานกว้างที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระไชยเชษฐาธิราชทรงถือพระแสงดาบไว้บนพระเพลา  จนโจษจันกันว่าทรงมีภารกิจในการปกปักรักษาพระธาตุหลวง  กษัตริย์ล้านช้างพระองค์นี้มีความสนิทชิดเชื้อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา...
             ด้านหลัง คือ พระธาตุหลวง ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลาว  สร้างมาแต่ครั้งโบราณกาล  พอถึงรัชสมัยพระไชยเชษฐาธิราชทรงโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังนครเวียงจันทน์  จึงทรงสร้างพระธาตุหลวงองค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมเมื่อ พ.ศ. 2109  องค์พระธาตุเป็นศิลปะล้านช้างสีทองอร่ามงามหลายในทุกมุม  รายล้อมด้วยเจดีย์และระเบียงสูงที่เปรียบประดุจป้อมปราการ  ซ้ายมือขององค์พระธาตุเป็นอุโบสถงดงามหลาย  
             ถัดมาด้านหน้าเป็นศาลาใหญ่โตมโหฬารซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง  สอบถามได้ความว่าหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธร่วมสมทบสร้างถวาย  บริเวณด้านขวาและด้านนอกซุ้มประตูมีสินค้าพื้นเมืองนานาชนิดให้ชาวเมืองพี่ได้ผ่องถ่ายความมั่งคั่งกันอย่างสนุกสนาน 
             จากนั้นไปแหกตา (=ถ่ายรูป) ที่ ประตูชัย ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.2512 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงชาวลาวผู้สละชีพในสงครามก่อนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์  และยังเป็นหลักฐานสำคัญของสายสัมพันธ์สองแผ่นดินลาวและฝรั่งเศสก็ว่าได้  เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่ประยุกต์ประตูชัยในปารีสผสมผสานด้วยภาพนูนปูนปั้นศิลปะแบบลาว  บนยอดประตูชัยเป็นจุดชมทิวทัศน์ของนครเวียงจันทน์ ซึ่งต้องปีนป่ายขึ้นไปถึง 7 ชั้น  แต่ได้คลายเหนื่อยเป็นระยะที่ฮ้านขายของที่ระลึกลอยฟ้า  ทัศนียภาพโดยรอบดูน่าอภิรมย์ซึ่งประตูชัยเปรียบเสมือนจุดนัดพบของผู้คนและถนนทุกสาย  กว่าจะไต่กลับลงมาได้ก็แสนละเหี่ยเพลียกาย  ขอบใจหลายที่น้องปี้จัดน้ำและผ้าอนามัย (=ผ้าเย็น) ไว้บริการ  อีกฉายาของประตูชัยแห่งนี้ คือ “รันเวย์แนวตั้ง”  เพราะแรกเริ่มเดิมทีอ้ายมะกันตั้งใจสั่งปูนซีเมนต์เพื่อสร้างเป็นเดินยนต์ (=สนามบิน) ในนครเวียงจันทน์  แต่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คอมมิวนิสต์ไปเสียก่อน  
             จากประตูชัยมีถนนสายหลักที่เชิดหน้าชูตานามว่า “ล้านช้าง”  โดยมีสถานที่ราชการอยู่เรียงรายทั้งสองฝั่ง  ถนนสายนี้ไปบรรจบกับถนนไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นที่ตั้งของ หอคำ ตึก 2 ชั้นสไตล์ตะวันตก ซึ่งฝรั่งเศสก่อสร้างไว้เพื่อเป็นเรือนรับรองของผู้ตรวจราชการในยุคอาณานิคม  ต่อมาเคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต (=กษัตริย์)  ปัจจุบันเป็นที่พำนักของประธานประเทศและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชม  น้ำพุบริเวณด้านหน้าช่วยบรรเทาเบาบางความน่าเกรงขามลง


จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)

           ใกล้ ๆ กันเป็น หอพระแก้ว สร้างขึ้นในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชในช่วงไล่เลี่ยกับพระธาตุหลวง เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากล้านนา  พอถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีล้านช้าง  และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางกลับมาด้วย  จนกระทั่งเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  จึงทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม...หากน้องลาวเว่า (=พูด) ว่าอ้ายไทยยึดพระแก้วมรกตมาครอบครองไว้  อ้ายก็เถียงได้เต็มปากเต็มคำว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่ล้านนามาก่อนซึ่งภายหลังอยู่ในอาณาเขตประเทศสยาม..แม่นบ่  
               เมื่อผลัดแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงประทานพระบางคืนให้แก่ล้านช้างเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่หลวงพระบาง วันนั้นชาวคณะเราต้องหลีกทางให้เยาวชนชาติไทยกลุ่มใหญ่ที่มาทัศนศึกษาถึงเวียงจันทน์  แถมยังแขวนป้ายยี่ห้อทัวร์ไทยเดียวกับชาวคณะเราอีกต่างหาก  ว่ากันว่าหมู่เฮาชาวเสื้อเหลืองคละเคล้าชมพูเป็นนักท่องเที่ยวรายสำคัญที่นำรายได้มาพัฒนาชาติลาวเลยทีเดียว..อะไรจะปานนั้น  สุดท้ายไปสักการะ “เจ้าแม่สีเมือง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวนับถือทั่วบ้านทั่วเมือง ณ วัดสีเมือง
              ข้าวสวาย (=อาหารกลางวัน) เป็นแบบไทย ๆ ที่ภัตตาคารแม่ของ (=แม่โขง) ซึ่งใหญ่โตโอ่โถงตั้งอยู่ริมโขงตรงข้าม อ.ศรีเชียงใหม่  แม้รสชาติอาหารจะพอประทังชีวิต  แต่ชาวเราก็ได้เอ้อระเหยลอยใจไปตามลำน้ำโขงอีกครั้ง  ยามบ่ายเป็นการตระเวนเบิ่ง (=ดู) นครหลวงของประเทศที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคน  มองไปหนใดก็เห็นแม่หญิงลาวไว้ผมยาวนุ่งซิ่นกันทั่วบ้านทั่วเมืองบ่เว้นแม้แต่นักเรียนตัวน้อย  สบายตาสบายใจหลายๆ...
              สำหรับตึกรามบ้านช่องก็สูงสุดเพียง 4-5 ชั้นเท่านั้น  ที่ทำการศาลนั้นดูทันสมัย แต่บรรยากาศเงียบสงัด  น้องปี้เว่าว่ามีคดีความน้อยเพราะคนเมืองน้องบ่ค่อยทะเลาะกัน  แหม..ช่างผิดแผกแตกต่างจากคนบ้านพี่จริง ๆ เด้อ  แถมคนลาวยังรักเกียรติโดยจะซื้อสินค้าด้วยเงินสดเท่านั้น  บ่นิยมเป็นเศรษฐีเงินผ่อนให้ต้องฟ้องร้องกันวุ่นวาย  นี่แหล่ะเศรษฐกิจพอเพียงขนานแท้ 
              เมื่อผ่านโฮงหมอ (=โรงพยาบาล) แล้วต้องสังเวชใจในความเก่าคร่ำครึจนบ่แน่ใจว่าจะมีโอกาสรอดกลับมาหากต้องเข้าไปรักษา  ฝรั่งเศสแทบบ่ได้ทิ้งความศิวิไลซ์ไว้ให้ลาวเลย  และการกลายสภาพเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ก็บ่ได้หมายความว่าประชาชนจะมีความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน  หากสยามบ่ต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่โขงไป  อาณาจักรล้านช้างที่อยู่ภายใต้การปกครองของสยามคงเจริญบ่แพ้อาณาจักรล้านนา  
              มรดกที่ลาวรับจากฝรั่งเศส คือ วัฒนธรรมการกินขนมปังฝรั่งเศสหรือที่ชาวลาวเรียกว่า “ข้าวจี่” เป็นข้าวเซ่า (=อาหารเช้า) เท่านั้น  ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เว่าภาษาฝรั่งเศสบ่ได้แล้ว  แต่สนทนาภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วด้วยเบิ่งหนังฟังเพลงจากเมืองไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  จนรัฐบาลลาวเริ่มหวั่นเกรงว่าภาษาลาวจะถูกกลืนไป  ความจริงภาษาลาวนั้นเป็นภาษาที่ซื่อ ๆ ง่าย ๆ บ่ได้ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำดังเช่นภาษาไทย  และตัวอักษรลาวนั้นละม้ายคล้ายตัวอักษรในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมากกว่าตัวอักษรไทยในปัจจุบันเสียอีก

จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)

             จากนั้นเป็นรายการกระจายรายได้สู่เมืองน้อง ตลาดเซ่า หรือตลาดเช้าซึ่งเป็นศูนย์การค้า 3 ชั้นที่ใหญ่ที่สุดในลาว  มีสินค้าประเภทเครื่องเงิน ของที่ระลึก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน รัสเซีย และเวียดนาม  ฮ้านทุกแห่งหนยินดีรับเงินบาทเด้อ  ก่อนลาจากลาวมีฮ้านค้าปลอดภาษีบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองให้ได้กระเป๋าแฟบอีกครั้ง  ป้ายราคาสินค้าติดเป็นเงินบาทเอาใจนักช้อปชาวไทย  แต่ราคาสินค้าบางรายการแพงกว่าข้างนอกเสียอีก  แถมบ่แน่ใจว่าจะได้ของแท้
หนองบัวลำภู 
                หลังซอกซอนในเมืองน้องกันแล้วก็กลับคืนรัง  โดยยังคงวนเวียนอยู่แถบเทือกเขาภูพาน  หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดซึ่งเคยอยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี  เดิมเป็นเมืองโบราณที่มีอยู่ยาวนานกว่า 900 ปีมาก่อน  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์ดำทรงเคยยกทัพมาตั้งค่ายพักแรมที่นี่เพื่อช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดีตีเวียงจันทน์  แต่ต้องทรงยกทัพกลับเพราะทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ  ด้วยเหตุนี้จึงมีศาลของพระองค์ท่านอยู่ในตัวเมือง  และมีการจัดงานวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันกองทัพไทยทุกวันที่ 25 มกราคม
                เส้นทางจากอุดรไปยังหนองบัวลำภูนั้นผ่านหมู่บ้านโค้งสวรรค์ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมปั้นหม้อ  ก่อนถึงตัวเมือง 13 กม. เป็นที่ตั้งวัดพระถ้ำกลองเพล ของ “หลวงปู่ขาว อนาลโย” พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  บริเวณริมถนนหน้าวัดมีรูปปั้นของหลวงปู่ขาวเป็นจุดสังเกต เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง  ภายในถ้ำเป็นอุโบสถที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานบนก้อนหินรวมทั้งกลองโบราณขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด  
               นอกจากนี้ ยังมีอนุสรณ์สถานให้รำลึกถึงหลวงปู่ขาวด้วย  เลยไปอีกประมาณ 2 กม.เป็นมีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ สุสานหอยหิน 150 ล้านปี ซึ่งแสดงซากสัตว์โลกยุคจูราสสิค ทั้งฟอสซิลหอยน้ำจืด และชิ้นส่วนไดโนเสาร์ เช่น ฟัน รอยเท้า ไข่ที่มีขนาดเท่าลูกบอลล์ใบย่อม  แหม..เจอะเจอฟอสซิสอย่างนี้อาจมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงใต้พิภพก็เป็นได้  บริเวณนี้ยังมี ศาสสมเด็จพระนเรศวรฯ และห้องแสดงประวัติของพระองค์ท่านด้วย  กลางวันนั้นพวกเรากลับไปกินอาหารญวนในตัวเมืองอุดร

จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)
จ.หนองบัวลำภู : บทความที่น่าสนใจ สิงห์เฒ่าตะลอนทัวร์ดานูบตะวันออก (ภาคสุดท้าย)


ขอนแก่น

               ดินแดนดอกคูนเสียงแคนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานทั้งทางอารยธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่การค้นพบซากไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ซึ่งครองโลกเมื่อนับร้อยล้านปีมาแล้ว  ตามด้วยการตั้งหลักปักฐานของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์  จวบจนยุคปัจจุบันขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานทั้งในด้านทำเลที่ตั้งและศูนย์กลางการศึกษา  สำหรับที่มาของชื่อของจังหวัดนั้นมีหลายความเห็น  แต่แนวคิดหนึ่งว่ามาจากพระธาตุขามแก่น ปูชนียสถานคู่บ้านเมืองในวัดเจติยภูมิ  มีตำนานเล่าขานกันว่าในขณะที่ขบวนอัญเชิญพระธาตุผ่านมาบริเวณนั้น  ซากตอมะขามที่ตายแล้วกลับงอกงามเขียวชอุ่มชุ่มชื่นเหมือนถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง  จึงได้สร้างพระธาตุขึ้น บรรดาสิงห์เฒ่าตั้งใจไปนมัสการพระธาตุองค์นี้  แต่เผอิญหลงทางไปเสียก่อนเลยพลาดโอกาสชุบชีวิตดังเช่นตอมะขาม  จึงต้องทนแห้งเหี่ยวต่อไป...

                จากนั้นแวะเก็บสัมภาระที่ “แคคตัส” โรงแรมขนาดเล็กที่ตกแต่งทันสมัยเหมาะกับนักธุรกิจยุคอินเตอร์เนต  แล้วชม วัดพระธาตุหนองแวง เพื่อนมัสการพระธาตุหนองแวงที่เป็นฉัตร 7 ชั้นสีทองอร่ามงามตายิ่ง  ภายในอุโบสถมีมัคคุเทศก์น้อยคอยนำเที่ยว  วัดนี้ยังเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างอีกด้วย  แล้วบึ่งไปยังบริเวณบึงแก่นนคร  ซึ่งเป็นที่ตั้ง โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ที่แสดงรากเหง้าความเป็นมาของเมืองขอนแก่นด้วยสื่อผสมผสานที่น่าตื่นตาตื่นใจทั้งบอร์ดกราฟฟิก วิดีโอ หุ่นจำลองใกล้ ๆ กันในบริเวณริมบึงแก่นนครเป็นที่ประดิษฐาน เจ้าแม่กวนอิม ที่ชาวเมืองเคารพนับถือยิ่ง  
                ค่ำนั้นไปเปิปอาหารอีสานเป็นการอำลาที่ “สวนอาหารบัวหลวง” ในบึงแก่นนคร  แซ่บอีหลีทั้งลาบเป็ด ตำถั่วหมูกรอบ และแกงอ่อมไก่ ภายใต้บรรยากาศสุดแสนธรรมชาติจากเสียงแหวกว่ายของปลาสวายตัวบักเอ้ก (=ใหญ่) ที่กระโดดแย่งขนมปังดังเป็นระยะ ๆ  เอ๊ะ..ชักสงสัยว่าร้านนี้ลุกล้ำที่สาธารณะหรือเปล่านี่
                รุ่งขึ้นขอตบท้ายการตะลอนทัวร์ด้วยไข่กระทะที่ร้าน “เอมโอช” นัวอีหลีสมชื่อร้านเด้อ  เฮ้อ..คงเบื่อไปอีกนานแสนนาน…แล้วยังได้มีโอกาสชิม “ข้าวจี่” แบบไทยบ่ใช่แบบลาว  ซึ่งเป็นข้าวเหนียวชุบไข่โรยด้วยเกลือแล้วนำไปปิ้ง  โดยมีขายกันเกลื่อนกลาดดาษดื่นในตอนเช้า...เส้นทางจากขอนแก่นไปโคราชผ่านหมู่บ้านชนบท ใน อ.ชนบท ซึ่งมีผ้าไหมมัดหมื่เป็นสินค้า OTOP ให้ชาวคณะได้เมามันส์คันกระเป๋ากันอีกครั้ง
นครราชสีมา
                จังหวัดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน  แต่เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ 2 แห่ง คือ โคราช และเสมา  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองในปัจจุบัน  ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นเมือง “เจ้าพระยามหานคร” เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราชในภาคใต้  จึงมีอำนาจปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่อีกหลายแห่ง  จนถึงปัจจุบันนครราชสีมาที่ยังคงความสำคัญไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
 
                หลังท้องยุ้งพุงกระสอบกันมาหลายทิวาราตรี  เที่ยงนั้นสิงห์เฒ่าพักกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาก่อนส่งใจไปกราบอำลาย่าโม ตามรายทางจากโคราชถึงกรุงเทพยังมีจุดให้หมุนเงินสู่ชุมชนอีกหลายแห่ง ทั้งเครื่องปั้นดินเผา ข้าวโพดหวานปากช่อง  รวมทั้งน้อยหน่าหางดง
                การตะลอนทัวร์ครั้งนี้ม่วนซื่นหลาย (=สนุกสนานมาก) ทั้งได้ประเทืองปัญญากับประวัติศาสตร์แห่งเสี้ยวขวานทอง  รื่นรมย์ชมลำน้ำสำคัญที่เปรียบเสมือนสายโลหิตแห่งภูมิภาคนี้  เพลิดเพลินเจริญปากด้วยอาหารหลากสัญชาติ  จรุงจิตจรรโลงใจในธรรมะ ณ อุทยานธรรมหลายแห่ง  รวมทั้งซาบซึ้งในน้ำใจของผู้ดีศรีอีสานที่ช่วยบอกทางอย่างละเอียดลออจนบางครั้งคิดว่าช่างรังวัดมาเอง  นอกจากนี้ การได้ไปสัมผัสประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าและมีระบอบการปกครองที่ผิดแผกจากประเทศเรา  ช่วยเพิ่มความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยเฉพาะได้สำนึกในพระบารมีปกเกล้าที่ทรงคุ้มครองให้พวกเราได้อยู่อย่างร่มเย็นและเป็นอิสระสมชื่อ “ไทย” ตราบจนทุกวันนี้...

อัพเดทล่าสุด