เจาะลึก TMA-MDP หลักสูตรคนทำงานที่เน้นนำไปใช้ได้จริง
โดย วันทนีย์ คงทัด
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้น ความรู้เพียงทฤษฎีอาจไม่เพียงพอในการจัดการองค์กร จำเป็นต้องมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการความรู้ (knowledge management) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน วันนี้ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องมีนักบริหารมืออาชีพที่มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
ด้วยเหตุผลนี้ TMA-MDP โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้รู้ซึ่งมีประสบการณ์จริง และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนโดยใช้กระบวนการสอนที่ให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสสัมผัสและลงมือปฏิบัติได้จริง จึงได้รับความนิยมจากองค์กรธุรกิจเข้าอบรมคึกคักทุกรุ่น
ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association-TMA) ได้เปิดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง "MDP กับชีวิตการทำงาน" เพื่อให้ศิษย์เก่าที่เคยเรียนในหลักสูตร MDP ได้มาเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานภายในองค์กรธุรกิจของแต่ละคนร่วมกัน และนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับปรุงหลักสูตรที่จะเปิดในรุ่นต่อ ๆ ไป
"อุดมศักดิ์ อภิศักดิ์ศิริกุล" รองกรรมการผู้จัดการ บจก.วาย เอช เอ็ม กรุ๊ป ในฐานะ MDP รุ่นที่ 10 เปิดเวทีด้วยการแชร์ประสบการณ์ในธุรกิจให้ฟังว่า
"เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจนำเข้าเครื่องมือก่อสร้าง มีการจัดส่งทั่วประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับจากการได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรของ MDP คือ ประสบการณ์และความรู้จากอาจารย์ จากเพื่อนร่วมคอร์สเรียนที่นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะในด้านของการบริหารคนซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้กับธุรกิจครอบครัวของตนเอง แม้ว่าในบางครั้งจะไม่สามารถนำความรู้จากในคอร์สเรียนนำไปใช้ได้ทั้งหมด"
ด้าน "พิพัฒน์ วีระถาวร" ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด MDP รุ่นที่ 10 บอกว่า ในการทำธุรกิจทุกธุรกิจนั้นต้องมีการนำความรู้ไปปรับใช้แทบทั้งสิ้น
ที่สำคัญคือ คนที่เป็นผู้บริหารต้องมีการนำความรู้มาปรับใช้ ทั้งทางด้านทักษะ ด้านคน หรือแม้กระทั่งกับ SMEs มากพอสมควร ฉะนั้นโดยส่วนตัวเป็นนักวิจัยทำงานวิจัยมามากพอสมควร ในด้านความรู้ที่ได้จาก MDP ถือว่าเป็นความรู้ในขั้นพื้นฐานที่มีความหลากหลาย ที่มากกว่านั้นได้ทักษะในการทำงาน
ในการประยุกต์ใช้ MDP กับหลักการวิจัยต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่และนักบริหารควรมีการประยุกต์ใช้แบบลูกผสม เพื่อนำไปปรับใช้กับ networking กับการทำงานในรูปแบบการแบ่งงานภายในกลุ่มกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งการเรียนในครั้งนี้ถือว่าได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ มากขึ้น
ในขณะที่ "อำไพ สินสถาพรพงศ์" หัวหน้าฝ่ายพัฒนานักบริหาร สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนภาครัฐที่เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ แสดงความคิดเห็นว่า
ในภาครัฐมีเป้าหมายในการบริหารจัดการด้านฝึกอบรม การจัดการด้านภาคธุรกิจเป็นเสมือนการเก็บเกี่ยวซึมซับเพื่อนำไปใช้จริง ดังนั้นแนวคิดและการทำงานก็ควรมีการดำเนินการไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งคือเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เตรียมความพร้อมให้กับองค์กรและหน่วยงานรวมถึงความพร้อมของคนด้วย ซึ่งจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อผสมผสานความรู้ระหว่างภาครัฐกับเอกชนร่วมกันโดยให้ทั้ง 2 ส่วนนี้ได้มีโอกาสที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกันมากขึ้น
ในการทำงานของภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ ร่วมกันเพื่อให้เกิดความสอดคล้องไปด้วยกันกับภาคเอกชน อาจจะต้องมีการนำความรู้มาปรับใช้กับคนภายในองค์กรรัฐ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน กลุ่มเป้าหมายก็ต้องประสบปัญหาเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ตรงจุดนี้ภาครัฐจะเน้นในกลุ่มผู้นำองค์กร คือเป็นผู้นำในองค์กรที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้นำในองค์กรต่างชาติ CEO เข้ามามีส่วนร่วมในจุดนี้ด้วย นั่นคือเน้นด้านการสร้างคน
เมื่อพูดถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าอบรมในหลักสูตรนี้และการนำไปใช้แล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญนั่นคือ แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ในเรื่องนี้ "พิพัฒน์ วีระถาวร" บอกว่า หากพูดถึงการพัฒนาหลักสูตรของ MDP ที่มีอยู่แล้วก็นับว่าดีอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการที่จะพัฒนาหลักสูตรก็น่าจะเป็นในเรื่องของกลุ่มผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากหลักสูตรที่เขาเหล่านั้นจะเข้ามารับการฝึกอบรม
ซึ่งตรงจุดนี้ควรที่จะมีการบอกถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายควรจะได้รับ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของ management ควรจะเน้นอะไร และเน้นตรงไหน เพราะเนื่องจากว่ามีวิชาที่ต้องเรียนค่อนข้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบุคคล การเงินและอื่น ๆ ซึ่งมีให้เห็นชัดมาก
ดังนั้น จึงสมควรที่จะมี management by size แต่หากมีการนำมารวมกันก็ได้ผลอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างออกไป แต่ถ้าหากว่าจะให้เกิดผลจริง ๆ ควรน่าจะมีการกระจายหลักสูตรออกไปให้ไกลจากกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นอีก เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยพัฒนาตลาดพวก SMEs นักธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคได้มากพอสมควร เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการทำธุรกิจแบบ SMEs เป็นประเทศแบบ local จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้
ที่สำคัญที่สุดควรเน้นการวิเคราะห์ในเชิงของธุรกิจ เช่น กลุ่มของอสังหาริมทรัพย์ ควรที่จะมีการใช้ networking ภายในกลุ่มเหล่านี้
ขณะที่ในส่วนของ "อุดมศักดิ์ อภิศักดิ์ศิริกุล" ได้มีความคิดเห็นที่ต่างออกไป โดยเสนอว่า
"ควรจะให้ผู้เข้าร่วมคอร์สมีกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันมากขึ้น ควรมีการจัดกิจกรรม เช่น การทัวร์โรงงานมากขึ้นและนำข้อมูลกลับมาแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกัน อย่างน้อยน่าจะอาทิตย์ละครั้ง
โดยเลือกบริษัทที่มีความซับซ้อนในการบริหารจัดการในการทำงาน มีผู้บริหารที่เก่ง หรืออาจมีการพาไปดูโรงงานต้นแบบต่าง ๆ แล้วนำความรู้มาพูดคุยกัน ตรงนี้หมายความว่า จะทำอย่างไรให้การเรียนสนุกมากกว่าที่จะมานั่งฟังนั่งเรียนเพียงอย่างเดียว มีการเรียนรู้ถึงจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเราและองค์กรของเราเพื่อที่เราสามารถเลือกที่จะเข้าไปเรียนรู้ได้ตรงจุดมากขึ้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้โปรแกรม MDP มีความน่าสนใจมากขึ้นในการจะเข้ามาร่วม ดีกว่าแค่ถูกส่งเข้ามาเพียงอย่างเดียว"
เช่นเดียวกันกับ "คุณอำไพ สินสถาพรพงศ์" ที่กล่าวเสริมว่า "ควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมในด้านของการทำงานร่วมกันกับของ กทม.
"อยากเห็นการให้ความสำคัญของการ ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น โดยอาจจะมีการจัดกิจกรรมภายนอกเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างทั้ง 2 องค์กร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กันอย่างสอดคล้อง"
นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจจาก "พิพัฒน์ วีระถาวร" ที่บอกอย่างมีนัยว่า
"ควรจะจัดทำให้มี success story ขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมานำเสนอให้ผู้เข้าคอร์สเรียน ตรงจุดนี้หากว่าการออกไปดูงานภายนอกหรือในองค์กรเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยาก ก็ควรที่จะมีการจัดทำตรงนี้ขึ้นมานำเสนอให้ทราบร่วมกัน"
ทั้งหมดคือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจาก TMA ที่เหล่าบรรดาศิษย์เก่าตัวแทน MDP รุ่นต่าง ๆ ร่วมกันเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายเลยทีเดียว
หน้า 30
วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4181 ประชาชาติธุรกิจ