หมวด การบริหารจัดการสมัยใหม่


918 ผู้ชม


พุทธวิถีแห่งการหลอมรวมองค์กร สู่การบริหารจัดการสมัยใหม่ของซีอีโอ

โดย วันทนีย์ คงทัด

หมวด   การบริหารจัดการสมัยใหม่
การบริหารงานองค์กรในสภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้ ต้องยอมรับว่าทำให้ผู้นำองค์กรหลายคนเกิดความเครียดมากขึ้นมากกว่าเดิม เพราะนอกจากจะเร่งเพิ่มผลผลิต ยังต้องเร่งพัฒนาคนตามไปด้วย
ซึ่งหลายคนอาจมองว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขยาก แต่จริง ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ทั้งสิ้น เนื่องจากไม่นานที่ผ่านมา ทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรม Productivity Talk ประจำเดือนมกราคม 2553 ภายใต้หัวข้อ "Productivity วิถีพุทธ" เพื่อให้ผู้นำองค์กรและพนักงานในทุกระดับขององค์กร นำความรู้ในเชิงพุทธะไปปรับใช้กับการพัฒนาองค์กร
ที่ไม่เพียงจะมี "ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ" นักวิจัยขององค์กรอวกาศ NASA ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ผ่านการศึกษาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูงของโลกตะวันตก และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิศวกรรมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ในที่สุดท่านค้นพบว่า พุทธศาสนา คือแนวทางเดียวที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด และพุทธศาสนา คือเส้นทางสู่ความเป็นเลิศในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ยิ่งเฉพาะกับคำพูดที่ว่า...ทุกอย่างล้วนอยู่ที่ใจ
ฉะนั้น ถ้าจะถามว่า วิถีพุทธนำมาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างไร ?
"ดร.วรภัทร์" บอกว่า องค์กรส่วนใหญ่เป็นการทำงานที่เน้นการให้บริการเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อนำพุทธศาสนามาเชื่อมโยงกับงานภายในองค์กร ย่อมต้องเกิดคุณประโยชน์สูงสุด และเรามักจะเรียกแนวทางเหล่านี้ว่า วิถีพุทธ หรือ พุทธวิถี ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรามักจะเรียกว่า Ways แปลเป็นไทยว่า วิถีทาง ซึ่งในวิถีทาง ประกอบไปด้วย มรรค 8 สรุปให้เข้าใจ คือ Ways = วิถีทาง = มรรค 8 ส่วนคำว่า พุทธ ประกอบด้วย ผู้รู้, ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน"
"ผู้รู้ คือ Sensing ซึ่งเจ้าตัวนี้เอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงในเรื่อง Knowledge Management และ Learning Organization หรือในบางองค์กรที่มีทั้ง ผู้รู้, ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน มักจะจบลงด้วยการมี happy workplace ได้กลายเป็นองค์กรที่มีความสุข เพราะองค์กรเกิดการเรียนรู้จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ (innovation)"
"ผู้รู้, ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็น 3P คือ Profit-People และ Planet แน่นอนว่ากำไรเป็นสิ่งที่เราต้อง แต่ต้องได้คนด้วย ที่สำคัญคือ ดวงดาวหรือโลกที่เราอาศัยอยู่ต้องไม่ถูกทำลายด้วยเช่นกัน เราเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนตร์เรื่อง อวตาร (Avatar) ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนี้"
หมวด   การบริหารจัดการสมัยใหม่


แล้วภาพยนตร์เรื่อง "อวตาร (Avatar)" เกี่ยวอะไรกับ 3P ?
"ดร.วรภัทร์" เล่าต่อว่า ภาพยนตร์เรื่องอวตาร (Avatar) เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นเรื่องของวิถีพุทธอย่างแท้จริง เราจะเห็นว่าในภาพยนตร์ มนุษย์ทำลายโลกตัวเองอย่างย่อยยับ ต้องย้ายตัวเองไปอยู่ในแพนดอร่า แล้วไปทำลายโลกในที่นั้นอีก ซึ่งจะเห็นว่ามนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ ซึ่งเป็น คำด่าของชาวนาวี เมื่อเรามองชีวิตจริงในการทำงาน เรามักพบเจอว่าเถ้าแก่บางคนที่งก ๆ เค็ม ๆ ไม่เคยเห็นอกเห็นใจ พนักงานเลย หวังใช้แรงงานจากลูกจ้างอย่างเดียว ประเภทจ้างลูกจ้างเพื่อใช้ให้คุ้ม เถ้าแก่เหล่านี้กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะโลกขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงมากแล้ว"
ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอันใดก็แล้วแต่ แน่นอนเราอาจได้กำไร ได้คน แต่เราก็ไม่ควรทำลายธรรมชาติด้วย
จากนั้น "ดร.วรภัทร์" ก็เล่าถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ให้ฟังว่า เมื่อเรามองย้อนกลับไปยังเผ่าพันธุ์มนุษย์ ยุคของมนุษย์เริ่มตั้งแต่ยุคล่าสัตว์ มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ เร่ร่อนล่าสัตว์ อาศัยธรรมชาติเป็นบ้าน ต่อมาพัฒนาเป็นยุคเกษตรกรรม เกิดเป็นหมู่บ้านและชุมชน มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เอื้อเฟื้อประโยชน์ร่วมกัน อยู่อย่างพึ่งพิงกันมา โดยตลอด จนกระทั่งมาถึงยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมมนุษย์อย่างชัดเจน
"เพราะยุคนี้เองที่เกิดแนวคิด Mass Production คือ แนวคิดที่เน้นการเพิ่มผลผลิตให้มีจำนวนมาก ๆ เน้นซัพพลายเออร์เป็นหลัก และเป็นยุคที่ธรรมชาติเริ่มถูกทำลาย"
"ดร.วรภัทร์" จึงตั้งคำถามให้ขบคิดว่า เราไม่ได้รับความรักจากใครหรือ เราจึงรังแกผู้อื่น เราในที่นี้ คือ มนุษย์ ผู้อื่น คือ ธรรมชาติ และโลกของเรา
"ยุคถัดมาเป็นยุค cognitive คือ เน้นด้านสติปัญญา ถือเป็นยุคใหม่ เพราะยุคนี้เริ่มให้ความสำคัญกับอำนาจของเพศแม่ หรือเพศหญิงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นยุคที่ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เข้าใจกันมากขึ้น เห็นได้ชัดอย่าง งานในบริษัทที่เริ่มให้ความสำคัญกับผู้หญิง ดูได้จากการจ้างงานแรงงานผู้หญิงเพิ่มขึ้น มีการปรับด้าน HR โดยเน้นผู้หญิงเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ที่เป็นแบบนี้เพราะ งานต่าง ๆ ล้วนต้องการความละเอียดอ่อนทางจิตใจของเพศแม่เข้ามาใช้ในการทำงาน"
คำถามจึงเกิดขึ้นต่อมาว่า ทำไมซีอีโอไทยถึงไม่ได้รับการพัฒนา ?
"ดร.วรภัทร์" บอกว่าเพราะตัวซีอีโอเอง ไม่ยอมปรับนิสัยส่วนตัว ไม่พยายามปรับพฤติกรรมของตนเอง พูดง่าย ๆ คือ ไม่เห็นตัวเอง เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ยอมค้นพบจุดเด่น จุดแข็งของประเทศตนเอง รับเอาแต่วัฒนธรรมต่างชาติมาใช้เพียงอย่างเดียว แทนที่จะเลือกเน้นการพัฒนาจุดเด่น จุดแข็งประเทศตน แนวความคิดที่ว่า เน้นเพิ่มผลผลิตของตนเอง แต่ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงหรือถูกทำลาย เป็นความคิดที่ผิด
ดังนั้น HR ในองค์กรปัจจุบัน จึงเริ่มให้ความสนใจเรื่อง "จิตอาสา" มากขึ้น คือ เน้นความหลากหลายทางความคิด และแน่นอนว่าการรับคนเข้ามาร่วมทำงานกับองค์กรนั้น คนที่มีจิตอาสาย่อมสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีภายในองค์กรเดียวกันมากกว่า และแน่นอนว่าคนในองค์กรก็สามารถมีจิตอาสาได้ไม่ยาก เพียงแค่ "Learn how to learn" และ "เปลี่ยนวิธีคิด" เท่านั้น
แต่กระนั้น "ดร.วรภัทร์" ก็ได้แนะนำการนำวิถีพุทธไปปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารองค์กร โดยเขามองว่า เราควรมองให้เกิดความสมดุล แบบหยิน หยาง อะไรสมดุลกับอะไร เช่น งานได้ผล แต่คนเสียหาย หรืองานเสียหาย แต่คนได้ผล หรือได้ทั้งคน ได้ทั้งงาน เราควรเริ่มต้นจากด้านการศึกษา ประเทศที่ล้มเหลวทางการศึกษา ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่เป็นแบบนี้เพราะรูปแบบการศึกษาสร้างผู้คนให้เดินตามแนวทาง ต่างชาติ"
"ดังนั้น วิธีการบริหารองค์กรสมัยใหม่ คือ การยกชุมชนเข้มแข็งมาไว้ในองค์กร (Community Base Management) เปลี่ยนคนในองค์กรให้มีความรักกันเหมือนอยู่ในชุมชนเข้มแข็ง และเราจะเห็นตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งที่ทำตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น จังหวัดระยอง บริเวณแหลมเมือง หมู่บ้านบำรุง หมู่บ้านสองสลึง และซีอีโอยุคใหม่กำลังให้ความสำคัญกับการศึกษาดูงานผ่านชุมชนเหล่านี้ เพื่อนำมาปรับใช้ในองค์กร"
"เพราะเดิมภายในองค์กรมีการแบ่งแยกแผนกงานกันมากเกินไป ซีอีโอทำเหมือนมนุษย์เป็นแค่สัตว์เครื่องกล เห็นว่าการ แบ่งแยกแผนกก็เหมือนการแบ่งแยกสัตว์ออกเป็นคอก ๆ ซึ่งซีอีโอเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติ ไม่มีมนุษยธรรม เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะตัวซีอีโอรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามากเกินไป จนหลงลืมวัฒนธรรมความเป็นมนุษย์ หลงลืมศาสนาและวัฒนธรรมตนเอง จนนำไปสู่การทำลายธรรมชาติมากขึ้น"
"เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้นำสมัยใหม่ จึงต้องเป็นผู้นำที่เน้นการใช้ปัญญาร่วม (Cognitive Intelligence) และบริษัท สมัยใหม่ที่พัฒนาการบริหารองค์กรใหม่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นระบบ Organization Development โดยบริษัทที่เห็นได้ชัดเจน เช่น บริษัท ฮิตาชิ และบริษัท เอสซีจี"
ที่สำคัญ จงจดจำไว้เสมอว่าที่ใดมีการบริหารมากเท่าใด ความไว้วางใจย่อม ลดน้อยลง และนวัตกรรมหดหาย เพราะผู้นำไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้แก่พนักงานและคนในองค์กรตนเองได้ พนักงานหมดความไว้วางใจที่จะช่วยองค์กรทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่องค์กร ส่งผลให้นวัตกรรมองค์กรเหล่านั้นหดหายไปด้วย
ดังนั้น ผู้นำสมัยใหม่ จึงต้องเป็นลักษณะ Servant Leadership เพราะ ผู้นำเหล่านี้จะคอยทำหน้าที่เสนอตัวเองเพื่อช่วยเหลือพนักงาน และลูกน้อง และ เปรียบตัวเองเสมือนพนักงานคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเพื่อนด้วยกัน ผู้นำเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หายาก เพราะน้อยคนนักที่จะเป็นทั้งเพื่อนและ ผู้นำให้แก่พนักงานและลูกน้องในเวลาเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง "ดร.วรภัทร์" ได้แนะนำหลักพุทธในการพัฒนาตนเองง่าย ๆ แต่สำคัญ คือห่างคนพาล คบหาบัณฑิต บัณฑิต คือ ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต ผู้เห็นความจริงโดยไม่ปรุงแต่ง แล้วเราจะประสบความสำเร็จและชีวิตจะเป็นสุขยิ่งขึ้น
จนสามารถนำวิถีพุทธไปปรับใช้กับองค์กร และพัฒนาคนได้อย่างยั่งยืน ?
หน้า 31


วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4182  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด