หมวด หลากหลายบทความ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ที่ทันสมัย


859 ผู้ชม


Do or Die




คอลัมน์ hr corner
โดย ปิยะมิทน์ รังษีเทียนไชย [email protected] กรรมการบริหาร ควอลิตี้โพรไฟลส์

หมวด   หลากหลายบทความ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ที่ทันสมัย

ในสภาวการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางการเงิน และการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี ไปสู่วิถีทางเลือกรูปแบบใหม่ขององค์กร ในยุคดิจิทัล เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธกระบวนการสังคายนาองค์กร โดยการเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่พร้อม ๆ กับการทำลายล้างเลือดเก่านักอนุรักษนิยม ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ขององค์กร
ไม่ทำก็เหมือนตาย เพราะธุรกิจ ในยุคดิจิทัลนี้แทบจะไม่มีช่วงจังหวะให้หยุดรอหายใจ เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่โกดักเคยอยู่ในฐานะผู้นำฟิลม์ถ่ายภาพในยุค แอนะล็อก แต่เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัล ผู้นำทางด้านฟิลม์ถ่ายภาพกลับสิ้นชื่อ และเริ่มไม่เหลือภาพความเป็นผู้นำปรากฏให้เห็น เช่นเดียวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนท้องตลาดหลาย ๆ ยี่ห้อที่ต้องเดินถอยหลังไปอย่างน่าเสียดาย และยากที่จะหวนคืนสู่ความเป็นผู้นำ
ว่าไปแล้ว เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และการสื่อสารที่ไร้พรมแดนได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ เราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนพร้อม ๆ กับการทำงานไปด้วย ขณะที่ธุรกิจในอดีต พนักงานต้องคอยประจำการอยู่ในออฟฟิศ โดยยากที่จะขยับเขยื้อนไปไหนได้อย่างทุกวันนี้
แนวโน้มต่อไปในอนาคต น่าจะถึงขั้นที่สถานประกอบการ หรือขนาดบริษัทจะ หดตัว และเล็กลงอย่างมาก องค์กรเริ่ม เล็งเห็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายในการสร้างออฟฟิศขนาดใหญ่เพื่อรองรับพนักงานทั้งบริษัท และมีการริเริ่ม Mobility Office หรือออฟฟิศในลักษณะที่อยู่นอกสถานประกอบการ บางองค์กรได้ตระหนักถึงคุณค่าของครอบครัวพนักงาน เอื้อโอกาสให้พนักงานสามารถนั่งทำงาน ในบ้าน ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้ เกิดประโยชน์ และมีแนวโน้มที่จะให้เงินสนับสนุนการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกกับพนักงานภายในบ้าน เพื่อตอบรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่เห็นคุณค่าในเรื่อง work-life balance
ทั้งหมดนี้ นอกจากบริษัทสามารถซื้อใจของพนักงาน ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ภายในครอบครัวแล้ว บริษัทสามารถประหยัดต้นทุน สถานประกอบการ และลดค่าใช้จ่ายตัดทอนโสหุ้ยที่ไม่จำเป็นขององค์กร ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในเรื่องของการคิดใหม่ ทำใหม่ อัพเดตสถานการณ์ใหม่ ๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ หรือองค์กรไม่สามารถจะละเลย และต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เทรนด์หรือกระแสเป็นเรื่องที่มาเร็ว และก็ไปเร็วมากในสถานการณ์ปัจจุบัน เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายจึงไม่สามารถจะเพิกเฉยกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องตามกันให้ทันทุกขณะจิต เช่นเดียวกับสายงานบริหารทรัพยากรบุคคลที่ต้องก้าวให้ทันการพัฒนา ตลอดจนรูปแบบที่องค์กรต้องปรับตัว เพื่อให้ทันกระแส และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าองค์กร ชั้นนำ ล้วนมีหน่วยงานที่รับผิดชอบขอบเขตงานต่าง ๆ แบ่งเป็นสายการผลิต สายการตลาด การขายและบริการ สายการเงิน และการบัญชี
นอกจากนี้ ยังแยกย่อยไปถึงหน่วยงานด้านวางแผน ทรัพยากรบุคคล ประชาสัมพันธ์ คอมพิวเตอร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมคุณภาพ ตลอดจนงานบริหารรัฐกิจ และสายงานโลจิสติกส์ แต่แนวโน้มธุรกิจปัจจุบัน องค์กรเริ่ม จะหดตัว และมุ่งประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ Core Business หรือธุรกิจหลัก จึงทำให้ระบบการใช้องค์กร ที่สาม Third Party หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง ผู้ให้บริการภายนอกองค์กร Outsourcers เข้ามารับผิดชอบงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจหลัก
องค์กรชั้นนำระหว่างประเทศหลายแห่ง เริ่มพัฒนากลไกการทำงานกับธุรกิจ นอกระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียม แผนงาน ความพร้อมในการใช้บริการจากองค์กรที่สามในด้านต่าง ๆ โดยริเริ่มจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวางแผนวิเคราะห์ระบบ บุคลากรในระดับแรงงานต่อเนื่องไปจนถึงพนักงานในระดับ ปฏิบัติการ ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาทางด้านประชาสัมพันธ์ งานวิจัยการตลาด เพื่อให้กลไกการทำงานมี ความกระชับ ลดต้นทุนที่เป็นภาระของการบริหารงาน ตลอดจนเพิ่มพูนประสิทธิภาพของเม็ดเงินต่อการลงทุน หรือการซื้อหาทรัพยากรจากองค์กรที่สาม
นี่ยังไม่นับรวมถึงการผนวกธุรกิจในระดับประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค Regional Based Management ที่ลดจำนวนการว่าจ้างบุคลากรลงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และคัดเอาเฉพาะครีม หรือสุดยอดบุคลากรที่พรั่งพร้อมและมีความสามารถ ไว้ปฏิบัติงาน
แน่นอน กระแสการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวได้ส่งผลให้บุคลากรในระดับมืออาชีพ Professional Careers ลดจำนวนลง และคัดเหลือบุคลากรที่มีคุณภาพจริง ๆ ทำงานกับองค์กร ซึ่งนั่นหมายถึงทางเลือกของบุคลากรในการเข้าร่วมงานกับบริษัท องค์กรชั้นนำก็ลดลงอย่างน่าใจหาย
ในทางกลับกัน ธุรกิจใหม่ หรือ องค์กรใหม่ ๆ ที่เล็งเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจร่วมกับองค์กรชั้นนำเหล่านั้น ก็ได้ผุดขึ้นอย่างมากมายในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เมื่อตลาดเกิดอุปมาน (Demand) ก็ย่อมจะมีผู้ประกอบการที่พร้อมจะเป็นอุปทาน (Supply) มารองรับความ ต้องการ
ในวินาทีนี้ การอยู่รอด หรือการจากไป ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรมืออาชีพ หรือองค์กร ที่สามในรูปแบบ Outsourcers ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา และคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้คนจ้างกับคนถูกจ้างได้รับประโยชน์ ร่วมกันสูงสุด อีกทั้งสามารถดำรงไว้ซึ่งศักยภาพและขีดการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ เป้าหมายที่ดีกว่า
มองหาทางรอดของธุรกิจ และก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง คือสิ่งที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจตลอดเวลา
หน้า 27


วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4180  ประชาชาติธุรกิจ